การขับเคลื่อนการดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.
ผู้วิจัย นางสาวธฤตา ชนะสิทธิ์ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการ
ปีที่วิจัย 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช โดยใช้การนิเทศแบบมีส่วนร่วม และ 2) ศึกษาระดับความพึงพอใจของผู้รับการนิเทศที่มีต่อการใช้การนิเทศแบบมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ตัวอย่างวิจัย คือ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช จำนวน 22 โรงเรียน ซึ่งได้มาด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย โดยมีผู้ให้ข้อมูลคือ ผู้บริหารโรงเรียนละ 1 คน และผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. โรงเรียนละ 1 คน รวมทั้งสิ้น 44 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แบบนิเทศ ติดตาม การดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. 2) แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้รับการนิเทศที่มีต่อการใช้การนิเทศแบบมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. และ 3) แผนการนิเทศ ติดตาม การดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต (M) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) และการทดสอบค่าที (t-test)
ผลการวิจัย พบว่า
1) การขับเคลื่อนการดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. โดยใช้การนิเทศแบบมีส่วนร่วม ส่งผลให้โรงเรียนดำเนินการตามกระบวนการดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยการดำเนินงานในภาพรวมหลังได้รับการนิเทศ (M = 0.80, SD = .292) สูงกว่าก่อนได้รับการนิเทศ (M = 0.33, SD = .211) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า การดำเนินงานด้านวิธีการกำหนดคุณธรรมอัตลักษณ์มีค่าเฉลี่ยสูงสุด (M = 0.86, SD = .296) โดยมีระดับการดำเนินงานอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านการกำหนดวิธีการบรรลุเป้าหมาย (M = 0.82, SD = .295) มีระดับการดำเนินงานอยู่ในระดับมากที่สุด และด้านที่มีค่าเฉลี่ยการดำเนินงานน้อยที่สุดคือ ด้านเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย (M = 0.76, SD = .317) มีระดับการดำเนินงานอยู่ในระดับมาก
นอกจากนี้การใช้การนิเทศแบบมีส่วนร่วมยังส่งผลให้โรงเรียนดำเนินการสมัครเข้ารับการตรวจสอบคุณภาพเพื่อยกระดับคุณภาพให้เป็นโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ระดับ 2 ดาว และระดับ 3 ดาว เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 36.36 เป็นร้อยละ 63.64
2) ผู้รับการนิเทศมีความพึงพอใจต่อการใช้การนิเทศแบบมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (M =4.69, SD=.348) และเมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ผู้รับการนิเทศมีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดทั้งด้านผู้นิเทศ (M =4.83, SD=.356) และด้านกระบวนการนิเทศแบบมีส่วนร่วม (M =4.65, SD=.378)
คำสำคัญ : โรงเรียนคุณธรรม สพฐ., การนิเทศแบบมีส่วนร่วม