LASTEST NEWS

05 พ.ค. 2567‘เพิ่มพูน’ ยันโรงเรียนห้ามกั๊กการออกใบเกรดหากเด็กค้างค่าเทอม 05 พ.ค. 2567ก.ค.ศ.เดินหน้ารื้อระบบ ศน.ใหม่ ยกเครื่อง ปรับบทบาทหน้าที่ เพิ่มคุณสมบัติ ดึงบุคลากรคุณภาพพัฒนาคุณภาพการศึกษา 04 พ.ค. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันฯ ครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ (ต่อ) 04 พ.ค. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันฯ ครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 04 พ.ค. 2567สพม.ชัยภูมิ ประกาศรับสมัครสอบครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 จำนวน 4 อัตรา ตั้งแต่ 8-14 พ.ค.2567 04 พ.ค. 2567สพป.ชัยภูมิ เขต 3 ประกาศรับสมัครสอบครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 จำนวน 5 อัตรา ตั้งแต่ 8-14 พ.ค.2567 04 พ.ค. 2567สพป.ชัยภูมิ เขต 2 ประกาศรับสมัครสอบครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 จำนวน 2 อัตรา ตั้งแต่ 8-14 พ.ค.2567 04 พ.ค. 2567สพป.ชลบุรี เขต 1 ประกาศรับสมัครสอบครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 จำนวน 14 อัตรา ตั้งแต่ 8-14 พ.ค.2567 03 พ.ค. 2567โรงเรียนหนองไผ่ รับสมัครครูอัตราจ้าง วิชาเอกคอมพิวเตอร์ เงินเดือน 10,000.-บาท ตั้งแต่บัดนี้ - 10 พฤษภาคม พ.ศ.2567 03 พ.ค. 2567โรงเรียนอนุบาลสกลนคร รับสมัครครูอัตราจ้าง วิชาเอกคณิตศาสตร์ เงินเดือน 9,000.- บาท ตั้งแต่บัดนี้ - 8 พฤษภาคม พ.ศ.2567

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 489/2559 การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ

  • 05 ธ.ค. 2559 เวลา 10:08 น.
  • 3,013
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 489/2559 การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 489/2559
การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ


ศึกษาธิการ - พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2559 ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยมี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานกรรมการ และคณะกรรมการ เข้าร่วมประชุม



พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ แถลงผลการประชุมในครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ขับเคลื่อนและดำเนินงานแก้ไขปัญหาการทุจริตตามนโยบายรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีกระบวนการ ขั้นตอน และมอบหมายผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน โดยได้มอบให้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับผิดชอบดำเนินการในเรื่องนี้

จากการรับฟังรายงานผลการดำเนินงาน พบว่ามีความก้าวหน้าไปกว่า 70% และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นโดยลำดับ แต่ก็ยังต้องการเร่งรัดเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ที่เหลืออีกกว่า 20% ให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ ที่จะต้องปรับปรุงดำเนินการให้เป็นในทิศทางเดียวกันทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่ออุดช่องว่างในการทำงานหลายประเด็น ดังนี้


>> เตรียมปรับปรุงกระบวนการสอบสวนให้เร็วยิ่งขึ้น ผู้ดึงเกมสอบสวนให้ล่าช้าต้องรับผิดชอบ

จากการรายงานผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการทุจริต พบว่าในบางคดีมีการดำเนินงานล่าช้ามาก เช่น คดีทุจริตการทำธุรกิจสลากกินแบ่งรัฐบาลในสหกรณ์ออมทรัพย์ครู หรือคดีทุจริตการจัดสร้างสนามฟุตซอล ซึ่งใช้เวลาถึง 5 ปีก็ยังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากกระบวนการส่งเอกสารหลักฐานล่าช้า รวมทั้งบางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ให้ความร่วมมือ ประกอบกับการสอบสวนในปัจจุบัน แยกกันสอบสวนในแต่ละองค์กรหลัก ก็ยิ่งทำให้ล่าช้ามากขึ้น

ดังนั้น นาทีนี้จึงต้องการที่จะแก้ไข "การดึงเกมการสอบสวนจนเกษียณ" ซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้กระบวนการสอบสวนล่าช้า ซึ่งพบปัญหาว่า สาเหตุหลักเกิดจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวน มักจะทำสำนวนช่วยเหลือกัน โดยทำสำนวนผลการสอบสวนทางวินัยให้อ่อน หรือถ่วงเวลา หรือซื้อเวลาจนผู้ถูกกล่าวหาเกษียณอายุราชการ และที่ผ่านมาการดึงคดีให้เกิดความล่าช้าจนผลเสียต่อราชการ ก็ไม่ได้ส่งผลให้เจ้าหน้าที่สอบสวนรายนั้น ๆ ได้รับการลงโทษแต่อย่างใด ยังคงได้ขึ้นเงินเดือนตามวงรอบอยู่เช่นเดิม ซึ่งปัญหานี้พบมากในระบบราชการ ดังนั้น จากนี้ไปกระบวนการสอบสวนคดีทุจริตต่าง ๆ "คนที่อยู่ตรงกลาง" หรือเจ้าหน้าที่ที่สอบสวนต้องมีส่วนรับผิดชอบผลการสอบสวน และความเสียหายหรือความล่าช้าที่เกิดขึ้นต่อราชการด้วย

ทั้งนี้ ได้มอบให้คณะกรรมการดำเนินงานขับเคลื่อนป้องกันและปราบปรามการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมี นายพิษณุ ตุลสุข รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เป็นประธานกรรมการ พิจารณาทบทวนขั้นตอนกระบวนการทำงานส่วนนี้ พร้อมหามาตรการมาบังคับใช้กับผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินงานตรวจสอบและแก้ไขการทุจริตของกระทรวงศึกษาธิการ และชี้แจงให้รับทราบโดยทั่วกันอย่างชัดเจน เพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อความล่าช้าที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ระดับภูมิภาคจนถึงส่วนกลาง


>> เตรียมจัดอบรมฟื้นฟูความรู้ด้านกฎหมายแก่นิติกรทั่วประเทศ

ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีข้าราชการตำแหน่งนิติกร จำนวน 225 คน กระจายอยู่ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ และในสำนักงานส่วนกลางอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องดำเนินการสอบสวนคดีต่าง ๆ ของ สพฐ.ที่มีบุคลากรในสังกัดกว่า 4 แสนคน แต่ทราบว่าจำนวนมากไม่ได้เข้ารับการอบรมความรู้ด้านกฎหมายมาเป็นเวลานานแล้ว

จึงเสนอแนวคิดให้จัดอบรมสัมมนาให้ความรู้แก่นิติกรทุกสังกัด โดยนำคดีหรือกรณีที่เกิดขึ้นจริงมาวิเคราะห์เป็นตัวอย่าง เพื่อให้มีแนวทาง วิธีการสอบสวน ตลอดจนการหาข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่จะสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานที่ชัดเจนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมทั้งมีความสอดคล้องกับหลักฐานหรือข้อมูลที่จะส่งต่อให้กับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) พิจารณาในขั้นตอนต่อไป โดยมอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ. เป็นผู้รับผิดชอบจัดอบรมในครั้งนี้


>>  ปรับ (ร่าง) แผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการทุจริตปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ให้เข้มข้นครอบคลุม

ที่ประชุมได้รับทราบ (ร่าง) แผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่นายกรัฐมนตรีแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ด้านที่ 10 การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาล และการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ รวมทั้งนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ด้านการปราบปรามการทุจริต ตลอดจนแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.)

โดยแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการทุจริตปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ได้กำหนด 6 ยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่ครอบคลุมกระบวนการด้านการป้องกัน ปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต
ยุทธศาสตร์ที่ 3 สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย
ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก
ยุทธศาสตร์ที่ 5 ปฏิรูปกลไกและกระบวนการการปราบปรามการทุจริต
ยุทธศาสตร์ที่ 6 ยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้ทางการทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ของประเทศไทย

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เพื่อปรับรายละเอียดของแผนให้มีความครอบคลุมมากขึ้น พร้อมปรับแนวปฏิบัติให้มีความใกล้เคียงกับแผนปฏิบัติการ เพื่อที่จะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ง่ายขึ้น และเมื่อปรับแก้เสร็จสมบูรณ์แล้วจะได้เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีต่อไป


>> ปรับชื่อโรงเรียนที่ส่งเสริมคุณธรรมให้เหลือเพียง "โรงเรียนคุณธรรม"

ที่ประชุมได้มีการหารือถึงโรงเรียนสุจริต ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. กับโรงเรียนของ สพฐ. จึงได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ต้องเข้าร่วมโครงการของหน่วยงานต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีหลักการคล้ายคลึงกันคือ ต้องการทำให้เด็กเป็นคนดี ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสุจริต โรงเรียนสีขาว โรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนคุณธรรม เป็นต้น จึงได้เสนอแนวคิดที่จะปรับชื่อโรงเรียนตามโครงการต่าง ๆ ให้เหลือเพียง “โรงเรียนคุณธรรม” อย่างเดียว เพื่อลดความสับสนของครูและผู้อำนวยการโรงเรียน

ซึ่งสาเหตุที่เลือกใช้คำว่า “โรงเรียนคุณธรรม” เพราะมีความหมายครอบคลุมกว้างไปถึงผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และบุคลากรทุกคนต้องเป็นคนดีด้วย ประกอบกับการดำเนินงานจะใช้หลักคิด “การระเบิดจากข้างใน” ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กล่าวคือโครงการหรือการดำเนินงานจะเกิดมาจากแนวคิดของเด็กและครู ซึ่งแต่ละโรงเรียนอาจมีวิธีการและระดับความเข้มข้นแตกต่างกันไป แต่อย่างน้อยทุกโรงเรียนได้ร่วมกันคิดแนวทางและมีข้อตกลงในการทำงานร่วมกันได้เอง

>>  เร่งจัดทำแผนที่แสดงสถานะคดีทุจริต-รวบรวมสัดส่วนผู้กระทำผิด

ที่ประชุมมอบให้คณะกรรมการดำเนินงานฯ จัดทำแผนที่ประเทศไทย เพื่อแสดงสถานะคดีทุจริตในเชิงสถิติ โดยแบ่งออกเป็น 3 สถานะ คือ 1) สีแดง-มีจำนวนคดีมากที่สุด 2) สีเหลือง-มีจำนวนคดีน้อย 3) สีเขียว-ไม่มีคดีทุจริต เพื่อจะได้เห็นภาพรวมการดำเนินงานทั้งประเทศ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ตระหนักรู้และหันมาดูตัวเอง เพื่อจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขต่อไป ซึ่งไม่เป็นเรื่องที่ยุ่งยากอะไร เพราะขณะนี้มีข้อมูลอยู่แล้ว เพียงแต่นำออกมาแสดงในรูปแบบแผนที่ที่จะทำให้เห็นภาพชัดขึ้น

นอกจากนี้ ยังมอบให้มีการรวบรวมข้อมูล และสัดส่วนเปรียบเทียบระหว่างผู้กระทำผิดกับจำนวนบุคลากรในแต่ละสังกัดทั้งหมด เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์หาช่องว่างและดำเนินการแก้ไขต่อไป


>> การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการกำกับและติดตามเรื่องร้องเรียนฯ

ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการกำกับติดตามเรื่องร้องเรียนและการดำเนินการทางวินัย กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อใช้เป็นกลไกในการกำกับติดตามเรื่องร้องเรียนและการดำเนินการทางวินัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และโปร่งใส และเพื่อนำข้อมูลสถิติเรื่องร้องเรียนเสนอต่อผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น

ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ ที่ต้องการอุดช่องว่างของกระบวนการสอบสวนในปัจจุบัน ที่มีการแยกกันสอบสวนในแต่ละองค์กรหลัก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักอีกประการที่ทำให้กระบวนการสอบสวนล่าช้า



>> การแต่งตั้งคณะกรรมการด้านการแก้ไขปัญหาการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ

ที่ประชุมรับทราบ คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการด้านการแก้ไขปัญหาการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 2 ชุด ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการได้ลงนามแต่งตั้งเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 ดังนี้

1) คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ, รมช.ศึกษาธิการ (2 ท่าน) เป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, สำนักงาน ป.ป.ช., สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ, สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน, ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ, เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, เลขาธิการสภาการศึกษา, เลขาธิการ ก.ค.ศ., เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย, เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน, เลขาธิการคุรุสภา, เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.), ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรรมการและเลขานุการ
อำนาจหน้าที่: กำหนดนโยบายในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของหน่วยงานในสังกัดและองค์กรในกำกับ, กำกับ ติดตามการดำเนินงาน ตลอดจนจัดทำรายงานผลการดำเนินงานเสนอต่อ รมว.ศึกษาธิการ และนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการเรื่องที่เกี่ยวข้อง
2) คณะกรรมการดำเนินงานขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี พลเอกสุทัศน์ กาญจนานนท์กุล และพันเอกดำรงค์ สิมะขจรบุญ เป็นที่ปรึกษา, มีนายพิษณุ ตุลสุข เป็นประธานกรรมการ, นายอรรถพล ตรึกตรอง เป็นรองประธานกรรมการ และมีกรรมการประกอบด้วยผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ผู้อำนวยการสำนักนิติการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, ผู้อำนวยการสำนักจรรยาบรรณวิชาชีพและนิติการ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคุ้มครองสิทธิครู สกสค., หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและวินัย องค์การค้าของ สกสค., ผู้อำนวยการสำนักนิติการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, หัวหน้ากลุ่มนิติการ สำนักอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, ผู้อำนวยการภารกิจกฎหมาย อุทธรณ์ และร้องทุกข์ สำนักงาน ก.ค.ศ., หัวหน้ากลุ่มงานวินัยและนิติการ กลุ่มการเจ้าหน้าที่ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย, หัวหน้าฝ่ายนิติการ กลุ่มงานเลขานุการกรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน โดยมีนายกำพล วันทา เป็นกรรมการและเลขานุการ
อำนาจหน้าที่: จัดทำแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาการทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการ, ขับเคลื่อนและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ, กำหนดรูปแบบการติดตาม ประเมินผล และการรายงาน, จัดทำระบบบัญชีเรื่องและคดีความ ประสานงาน/หารือกับส่วนราชการต่าง ๆ ตลอดจนเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาการทุจริต และรายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อประธานคณะกรรมการอำนวยการฯ ทุก 15 วัน

ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ 
  • 05 ธ.ค. 2559 เวลา 10:08 น.
  • 3,013

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

^