LASTEST NEWS

26 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 26 เม.ย. 2567สพป.แพร่ เขต 1 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 2) - ผลย้ายครู 2567 สพป.แพร่ เขต 1 26 เม.ย. 2567ก.ค.ศ. อนุมัติให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญ  26 เม.ย. 2567สพป.ชัยนาท ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 2) - ผลย้ายครู 2567 สพป.ชัยนาท 26 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 26 เม.ย. 2567สพม.นครศรีธรรมราช ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพม.นครศรีธรรมราช 26 เม.ย. 2567สพม.ลพบุรี ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพม.ลพบุรี 26 เม.ย. 2567สพม.สุรินทร์ ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 2) - ผลย้ายครู 2567 สพม.สุรินทร์ 26 เม.ย. 2567สพป.ตาก เขต 1 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.ตาก เขต 1 26 เม.ย. 2567สพป.ลำพูน เขต 2 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.ลำพูน เขต 2

รูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการฯ

usericon

บทสรุปสำหรับผู้บริหารในรายงานการวิจัย
(Executive summary in research report)

คำชี้แจง
        บทสรุปสำหรับผู้บริหารในรายงานการวิจัยนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้ผลงานวิจัยที่เป็นผู้บริหารซึ่งไม่มีเวลามากพอในการอ่านรายงานผลการวิจัยทั้งฉบับหรือไม่เคยชินกับคำศัพท์ทางการวิจัย แต่สะดวกในการเลือกอ่านเฉพาะบทสรุปและสามารถเข้าใจถึงความสำคัญของข้อค้นพบจากการวิจัยพร้อมที่จะตัดสินใจตามข้อเสนอแนะของผู้วิจัย หรือใช้เป็นคู่มือในการนำผลการวิจัยไปสู่การนำไปใช้ได้จริง เป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจ
        กลุ่มเป้าหมาย
         สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้บทสรุปสำหรับผู้บริหารในรายงานการวิจัย ได้แก่
        1. ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
        2. ศึกษานิเทศก์
        3. ผู้บริหารสถานศึกษา
        4. หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
        5. ครูผู้สอนวิทยาการคำนวณ
        ขอบข่ายเนื้อหา
        1. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
        2. วัตถุประสงค์ของการวิจัย
        3. ระเบียบวิธีวิจัย (โดยย่อ)
        4. ผลการวิจัย
        5. ข้อเสนอแนะ

แนวทางการใช้บทสรุปสำหรับผู้บริหารในรายงานการวิจัย
        1. ให้ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ครูผู้สอนวิทยาการคำนวณและผู้ที่เกี่ยวข้อง ศึกษาบทสรุปสำหรับผู้บริหารในรายงานการวิจัยนี้อย่างละเอียดให้เข้าใจ เพื่อให้สามารถนำขั้นตอนรูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช ไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา
         2. ในระหว่างการดำเนินการการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช ผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายควรอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรม สังเกต แก้ไขปัญหา กระตุ้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดการเรียนรู้ เกิดความตระหนัก
        3. หลังจากนำการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราชไปประยุกต์ใช้แล้ว ให้ผู้เกี่ยวข้องประเมินผลด้วยการสังเกต การมีส่วนร่วม การแสดงออกซึ่งพฤติกรรมการสอนของครู และการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อเป็นการนำผลการประเมินไปปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม เกิดประสิทธิภาพต่อไป

บทสรุปสำหรับผู้บริหารในรายงานการวิจัย
(Executive Summary in Research Report)

ชื่อเรื่อง :     รูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครู
                สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช
ผู้วิจัย     : นางภัคนันท์ สุวรรณรัตน์
ปีที่วิจัย     : 2564

1. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
            จากเป้าหมาย การพัฒนาประเทศ นับตั้งแต่ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แผนการศึกษาแห่งชาติและมาตรฐานการศึกษาของชาติ ล้วนมีเป้าหมาย ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีความหมายรวมถึงทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม ทักษะด้านการสื่อสารและการรู้เท่าทันสื่อ ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งทักษะต่างๆเหล่านี้ ล้วนเป็นทักษะที่กำหนดไว้ในเป้าหมายของวิชาวิทยาการคำนวณ ซึ่งเป็นวิชาใหม่ ที่กระทรวง ศึกษาธิการ ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เมื่อปี พ.ศ.2560 อันรวมถึงการปรับปรุงหลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 เนื่องจากวิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญ ต่อสังคมโลกปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มสาระทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งมีสาระย่อยประกอบด้วย การออกแบบและเทคโนโลยี และวิทยาการคำนวณ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะการคิดเชิงคำนวณ การคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการแก้ปัญหาที่พบในชีวิตจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการฝึกฝนกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ อันเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล เพื่อการเตรียมเข้าสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
            วิทยาการคำนวณเป็นวิชาใหม่ ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ได้ปรับปรุงแนวทางกระบวนการสอนใหม่ ให้เป็นการสอนวิธีคิดและบูรณาการความรู้วิชาการต่าง ๆ โดยใช้ Coding เป็นส่วนหนึ่งของวิทยาการคำนวณ สภาพการจัดการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณ พบว่าทั้งในหน่วยงานสถานศึกษาและหน่วยงานสนับสนุนอันได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ยังมีปัญหาและอุปสรรคอยู่หลายด้าน เช่น คุณภาพการจัดการเรียนการสอน การขาดทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจหลักการของวิชาวิทยาการคำนวณ ความรู้และทักษะเชิงเทคนิคของการเขียนโปรแกรมและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ความเหมาะสมของงบประมาณและอุปกรณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการจัดการเรียนการสอน การคิดตาม ประเมินผลและการนิเทศ เป็นต้น (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, 2564, หน้า 110)
            ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการสนับสนุนส่งเสริมให้การจัดการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณให้เป็นไปตามเป้าหมายของหลักสูตร ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่จะต้องให้มีการนิเทศ ติดตาม และสนับสนุนกิจกรรมการดำเนินงาน ทั้งนี้เพราะการนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาการเรียนการสอนให้ดีขึ้น ด้วยการร่วมมือกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องโดยใช้หลักประชาธิปไตย ที่ผู้บริหารจะต้องดำเนินการเพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปตามมาตรฐานของสถานศึกษา จนส่งผลให้เกิดการพัฒนาระดับคุณภาพ การจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาเป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย การนิเทศการศึกษา นับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาพฤติกรรมการสอนของครูให้สามารถจัดกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ให้บรรลุผลตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรได้
        การนิเทศการศึกษาจึงเป็นกระบวนการที่เกิดจากความร่วมมือของคณะครู บุคลากรทางการศึกษา โดยการแนะนำให้คำปรึกษาหารือช่วยเหลือและเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้ที่ได้รับการนิเทศได้พัฒนาความรู้ความสามารถและพฤติกรรมการสอนด้วยตนเองให้สามารถปฏิบัติ ภารกิจทางด้านการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนส่งเสริมให้บุคลากรที่ได้รับการนิเทศ มีความรู้ที่ทันสมัยสามารถนำไปบูรณาการใช้เพื่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ นอกจากนี้การนิเทศการศึกษายังเป็นกระบวนการสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ช่วยปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการจัดประสบการณ์การเรียนรู้และประสิทธิภาพการบริหาร การจัดการ เพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของผู้เรียน ทั้งนี้เพราะการนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การนิเทศการศึกษาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ช่วยเหลือ และสนับสนุนกระบวนการบริหารและกระบวนการสอนให้มีคุณภาพและบรรลุเป้าหมาย (พงษ์ศักดิ์ ทองไชย, 2558, หน้า 2) แต่ทั้งนี้การนิเทศการศึกษาจากศึกษานิเทศก์นั้น ไม่สามารถที่จะทำได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากจำนวนศึกษานิเทศก์มีน้อยไม่เพียงพอเมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการของครูผู้สอนในสถานศึกษา ตลอดจนความรู้ของศึกษานิเทศก์ก็ไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกสาขาวิชาซึ่งหน่วย การนิเทศไม่เป็นไปตามแผนปฏิบัติการนิเทศและการนิเทศ ขาดความต่อเนื่องเพราะมีงานอื่นแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานเร่งด่วนเฉพาะกิจ ขาดแคลนเครื่องมือ การนิเทศติดตามงานที่ครอบคลุมทุกกิจกรรม ศึกษานิเทศก์ซึ่งอยู่ภายนอกสถานศึกษาไม่สามารถรับรู้สภาพปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของสถานศึกษา (ภัทรภรณ์ น้อยกอ, 2561, หน้า 2) โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณในสถานศึกษา ซึ่งเป็นวิชาใหม่ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ที่ศึกษานิเทศก์ต้องร่วมมือกับสถานศึกษา ครูผู้รับผิดชอบการเรียนการสอน ร่วมมือกันส่งเสริม ช่วยเหลือ สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณ ในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น หลักสูตร บุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น
            ดังนั้น ผู้วิจัยในฐานะที่เป็นศึกษานิเทศก์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช เป็นผู้รับผิดชอบในงานส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณ จึงศึกษา รูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช ให้มีความถูกต้อง ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์ ที่จะทำให้การดำเนินงานการนิเทศการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแนวทางการจัดการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณ พัฒนาครูให้มีทักษะทางวิทยาการคำนวณ มีทักษะการคิด สามารถออกแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและวิถีการดำรงชีวิตแบบใหม่ (New Normal)             

2. วัตถุประสงค์การวิจัย
            1. เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช
             2. เพื่อพัฒนารูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช
            3. เพื่อประเมินรูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช
            4. เพื่อนำรูปแบบไปใช้และศึกษาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราชหลังการใช้รูปแบบ

3. ระเบียบวิธีวิจัย (โดยย่อ)
            การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and development) แบ่งการศึกษาเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้
            ตอนที่ 1 ศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช โดย 1) ศึกษาตัวชี้วัดและวิเคราะห์จำแนกองค์ประกอบตัวชี้วัดความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ ของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช การดำเนินการในขั้นตอนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาตัวชี้วัดและวิเคราะห์จำแนกองค์ประกอบตัวชี้วัดความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครู โดยการศึกษาแนวคิด ทฤษฎี จากเอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดและองค์ประกอบความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครู และประเมินความเหมาะสมขององค์ประกอบและตัวชี้วัดความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครู โดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 15 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการนิเทศการศึกษา ครูปฏิบัติงานวิชาการหรือครูผู้สอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสังเคราะห์เอกสาร และแบบประเมินความเหมาะสมขององค์ประกอบและตัวชี้วัดความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครู 2) การศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช เป็นการศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช จากการสอบถามครูผู้สอนวิทยาการคำนวณ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช จำนวน 96 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสอบถามสภาพปัจจุบันความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช
            ตอนที่ 2 การพัฒนารูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช โดยนำผู้วิจัยนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาข้อมูลในตอนที่ 1 โดยการสร้างข้อสรุปจากการศึกษาเอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และการศึกษาสภาพปัจจุบัน และสภาพที่พึงประสงค์ของความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช การวิเคราะห์ความต้องการจำเป็นของความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครู สังเคราะห์เป็นกรอบแนวคิดในการวิจัยและพัฒนารูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช กำหนดเป็นโครงร่างขั้นตอนและองค์ประกอบของกระบวนการการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครู การดำเนินการในตอนที่ 2 นี้ แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 การศึกษาองค์ประกอบกระบวนการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครู โดย 1) การสังเคราะห์แนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบกระบวนการนิเทศการศึกษา 2) การวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับตัวแปรของการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครู จำแนกตามองค์ประกอบของกระบวนการนิเทศ โดยสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน เกี่ยวกับตัวแปรของการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครู ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านการนิเทศระดับนโยบายหรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา นักวิชาการทางการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสังเคราะห์เอกสาร และแบบสัมภาษณ์เกี่ยวกับองค์ประกอบของกระบวนการนิเทศ และตัวแปรของการนิเทศ และขั้นที่ 2 การสร้างรูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช โดย 1) การยกร่างรูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช ตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบ ด้วยวิธีการสัมมนาอิงผู้เชี่ยวชาญ (Connoisseurship) โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการศึกษาการวิจัย และการนิเทศการศึกษา จำนวน 8 คน พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะ วิพากษ์ เพื่อปรับปรุงรูปแบบให้เหมาะสม ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารระดับนโยบายหรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการวิจัย ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการนิเทศการศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่แบบตรวจสอบความเหมาะสมของร่างรูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช เพื่อตรวจสอบความเหมาะของร่างรูปแบบ 2) การปรับปรุงรูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช ตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ
            ตอนที่ 3 การประเมินรูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินด้านความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์ของรูปแบบกลุ่มเป้าหมายในการประเมินรูปแบบ โดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง จำนวน 20 คน ผู้บริหารโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช ศึกษานิเทศก์ที่สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช และผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการนิเทศการศึกษา เครื่องที่ใช้ในการวิจัยเป็นประเมินด้านความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์ ของรูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช
            ตอนที่ 4 การนำรูปแบบไปใช้และศึกษาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราชหลังการใช้ โดย 1) การนำรูปแบบไปใช้ ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ ปัญหาและความต้องการการนิเทศ การวางแผนการนิเทศ การปฏิบัติการนิเทศ การสร้างหรือใช้เครื่องมือ สื่อนวัตกรรม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การติดตามและประเมินผล 2) การศึกษาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช หลังการนำรูปแบบไปใช้ โดยดำเนินการ ศึกษาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช หลังการนำรูปแบบไปใช้ และ เปรียบเทียบความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูระหว่างก่อน และหลังการใช้รูปแบบ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช ที่สอนวิชาวิทยาการคำนวณ จำนวน 96 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสอบถามความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช

4. ผลการวิจัย
            ตอนที่ 1 การศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช สามารถสรุปได้ดังนี้
                1.1 ผลการศึกษาตัวชี้วัดและวิเคราะห์จำแนกองค์ประกอบตัวชี้วัดความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช ตัวชี้วัดความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครู ได้จำนวน 3 ด้าน จำนวน 29 ตัวชี้วัด ได้แก่ ด้านการวิเคราะห์หลักสูตร มีจำนวน 5 ตัวชี้วัด ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มีจำนวน 17 ตัวชี้วัด ด้านการวัดและประเมินผล มีจำนวน 7 ตัวชี้วัด
                1.2 ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช พบว่า สภาพปัจจุบันความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครู อยู่ในระดับมาก ทั้งโดยภาพรวมและรายด้าน สภาพที่พึงประสงค์ความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครู อยู่ในระดับมากที่สุด ทั้งโดยภาพรวมและรายด้าน
            ตอนที่ 2 การพัฒนารูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช สามารถสรุปได้ดังนี้
                 2.1 ผลการศึกษาองค์ประกอบกระบวนการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครู พบว่า กระบวนการนิเทศ ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ ได้แก่ องค์ประกอบที่ 1 ปัญหาและความต้องการการนิเทศ (Problem and Need) องค์ประกอบที่ 2 การวางแผนการนิเทศ (Planning) องค์ประกอบที่ 3 การปฏิบัติการนิเทศ (Implement) องค์ประกอบที่ 4 การสร้างหรือใช้เครื่องมือ สื่อนวัตกรรม (Tools) องค์ประกอบที่ 5 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Educational Exchange) องค์ประกอบที่ 6 การติดตามและประเมินผล (Evaluating)
                2.2 ผลการสร้างรูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช พบว่า มีส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน ได้แก่    
                    ส่วนที่ 1 ส่วนนำ ประกอบด้วย หลักการพื้นฐานของรูปแบบ และวัตถุประสงค์ของรูปแบบ
                    ส่วนที่ 2 กระบวนการนิเทศ ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ ได้แก่ องค์ประกอบที่ 1 ปัญหาและความต้องการการนิเทศ (Problem and Need) องค์ประกอบที่ 2 การวางแผนการนิเทศ (Planning) องค์ประกอบที่ 3 การปฏิบัติการนิเทศ (Implement) องค์ประกอบที่ 4 การสร้างหรือใช้เครื่องมือ สื่อนวัตกรรม (Tools) องค์ประกอบที่ 5 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Educational Exchange) องค์ประกอบที่ 6 การติดตามและประเมินผล (Evaluating)
                    ส่วนที่ 3 เงื่อนไขความสำเร็จของการนิเทศ
            ตอนที่ 3 ผลการประเมินรูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช ด้านความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์ พบว่า รูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช มีความเหมาะสม อยู่ในระดับมากที่สุด ความเป็นไปได้ อยู่ในระดับมากที่สุด และความเป็นประโยชน์ อยู่ในระดับมากที่สุด
            ตอนที่ 4 การนำรูปแบบไปใช้และศึกษาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราชหลังการใช้ สามารถสรุปได้ดังนี้
                 4.1 การใช้รูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช โดยการจัดกิจกรรมการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ ได้แก่ องค์ประกอบที่ 1 ปัญหาและความต้องการการนิเทศ (Problem and Need) องค์ประกอบที่ 2 การวางแผนการนิเทศ (Planning) องค์ประกอบที่ 3 การปฏิบัติการนิเทศ (Implement) องค์ประกอบที่ 4 การสร้างหรือใช้เครื่องมือ สื่อนวัตกรรม (Tools) องค์ประกอบที่ 5 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Educational Exchange) และองค์ประกอบที่ 6 การติดตามและประเมินผล (Evaluating)
                4.2 ผลการศึกษาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช หลังการนำรูปแบบไปใช้ พบว่า
                    1) ความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครู อยู่ในระดับมากที่สุด ทั้งโดยภาพรวมและรายด้าน
                     2) ผลเปรียบเทียบความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูระหว่างก่อนและหลังการใช้รูปแบบ พบว่า ครูมีความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณหลังการใช้รูปแบบ สูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทั้งโดยภาพรวมและรายด้าน

5. ข้อเสนอแนะ
            1. ข้อเสนอแนะจากผลงานวิจัย
                 1.1 ผลการวิจัยที่ค้นพบในการพัฒนารูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช มีความเหมาะสม เป็นประโยชน์และเป็นองค์ความรู้ที่ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ ครู ในสถานศึกษา ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะใช้เป็นแนวทางเพื่อประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานการนิเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
                1.2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาควรมีการกำหนดเป็นนโยบายเกี่ยวกับการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ และกำหนดตัวชี้วัดความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูให้สอดคล้องกัน
                  1.3 การนำรูปแบบไปใช้ ควรศึกษาองค์ประกอบของรูปแบบการนิเทศ ตัวชี้วัดความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครูอย่างละเอียด และสร้างความเข้าใจแก่ครูในการพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ


             2. ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยต่อไป
                  2.1 ในการวิจัยครั้งนี้เป็นการพัฒนารูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครู ซึ่งผลการวิจัยทำให้ได้รูปแบบการนิเทศที่เป็นประโยชน์ และสามารถนำรูปแบบไปใช้ได้ จึงควรนำรูปแบบและกรอบแนวคิดการวิจัยนี้ไปเป็นแนวทางในการ พัฒนาความสามารถของครูด้านอื่น ๆ ต่อไป
                  2.2 ควรมีการทำวิจัยหาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ เกี่ยวกับการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครู เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการนิเทศจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณของครู
                  2.3 ควรมีการทำวิจัยเกี่ยวกับรูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาต่างๆ และนำไปทดลองใช้ในสถานการณ์จริงเพื่อให้มีการพัฒนา ปรับปรุงรูปแบบที่เหมาะสม และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อการนิเทศการศึกษาต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น
เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น!

ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ แนะนำติชม เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้

^