LASTEST NEWS

26 เม.ย. 2567สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 2 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 2 26 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 26 เม.ย. 2567สพป.สุพรรณบุรี เขต 1 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.สุพรรณบุรี เขต 1 26 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 26 เม.ย. 2567สพป.ขอนแก่น เขต 1 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.ขอนแก่น เขต 1 26 เม.ย. 2567เช็ก 48 สาขาวิชาเอก ใช้รับสมัครสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 26 เม.ย. 2567(25 เมษายน 2567) สพฐ.มีหนังสือแจ้งรายละเอียดการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 26 เม.ย. 2567สพป.กรุงเกรุงเทพมหานคร ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.กรุงเกรุงเทพมหานคร 25 เม.ย. 2567สพป.บุรีรัมย์ เขต 1 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.บุรีรัมย์ เขต 1 25 เม.ย. 2567สพป.เพชรบูรณ์ เขต 2 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.เพชรบูรณ์ เขต 2

ผลการจัดการเรียนรู้การอ่านแบบบูรณาการของเมอร์ดอกซ์ (MIA)

usericon

ผลการจัดการเรียนรู้การอ่านแบบบูรณาการของเมอร์ดอกซ์ (MIA) โดยใช้เรื่องราวในท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาความเข้าใจในการอ่าน
และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
The Result of Murdoch Integrated Approach (MIA) Teaching with StrategyThrough Stories of Chiang Mai province to develop
Reading Comprehension and Learning Achievement of
English Language Primary Grade 5 Students.

พิรพัฒน์ โพชสาลี (Pirapat Pochsalee)*


บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยการจัดการเรียนรู้การอ่านบูรณาการของเมอร์ดอกซ์(MIA) โดยใช้เรื่องราวท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนการจัดการเรียนรู้และหลังการจัดการเรียนรู้ 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยการจัดการเรียนรู้การอ่านบูรณาการของเมอร์ดอกซ์(MIA) โดยใช้เรื่องราวท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนการจัดการเรียนรู้และหลังการจัดการเรียนรู้ 3) ศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปี่ที่ 5 โดยการจัดการเรียนรู้การอ่านแบบบูรณาการของเมอ์ดอกซ์ (MIA) โดยใช้เรื่องราวท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนประถมศึกษาปีที่ 5/1 จำนวน 30 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนบ้านกองลม จังหวัดเชียงใหม่ โดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling)


*ครูโรงเรียนบ้านกองลม อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่


เครื่องมือในการวิจัย คือ 1) แผนการจัดการเรียนการสอนอ่านแบบ MIA (Murdoch Integrated Approach) 2) แบบทดสอบวัดความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษ 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และ4) แบบสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และและทดสอบสมมติฐาน ด้วยการทดสอบที (t-test)
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
    1. ความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยการบูรณาการอ่านแบบ MIA โดยใช้เรื่องราวท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่หลังการจัดการเรียนรู้สูงกว่าก่อนการจัดการเรียนรู้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
    2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยการบูรณาการอ่านแบบ MIA โดยใช้เรื่องราวท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่หลังการจัดการเรียนรู้สูงกว่าก่อนการจัดการเรียนรู้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
    3. ความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนรู้โดยการบูรณาการอ่านแบบ MIA โดยใช้เรื่องราวท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในระดับดี

Abstract
    The objectives of this research were : 1) to compare the abilities in English reading for comprehension of Primary Grade 6 Students before and after being taught by Murdoch Integrated Approach (MIA) through stories of Chiang Mai. 2) to compare the abilities in leaning achievement of primary grade 6 students before and after being taught by Murdoch Integrated approach (MIA) through stories of Chiang Mai and 3) to study the comments of primary grade 6 students through stories of Chiang Mai. The research sample, was derived from of cluster random sampling. They were 30 students in primary grade 6 students of Ban Konglom School, Chiang Mai Province studying in the first term of the 2018 academic year by using the cluster random sampling. The instruments consisted of 1) six leaning plans taught by Murdoch integrated Approach (MIA) through stories of Chiang Mai two pre – learning tests of the said substance group to measure the ability in English reading for comprehension. 2) Leaning achievement test. 3) English reading comprehension test and 4) Opinions form on the study the student’s about the stories of Chiang Mai. The statistics used for data analysis were mean values, standard deviation values, and t – t-test.
        The research findings were as follows:
        1. Primary grade 6 student’s abilities in leaning achievement after the learning was higher than that before at the .01 level of statistical significance.
        2. Primary grade 6 student’s abilities in English reading for comprehension after the leaning was higher than that before at the .01 level of statistical significance.
        3. Student opinions through the stories of Chiang Mai was good.

คำสำคัญ
    การอ่านแบบบูรณาการของเมอร์ดอกซ์ (MIA), เรื่องราวในท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่, ความเข้าใจในการอ่าน, ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

คำนำ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 ในหมวดที่ 4 มาตราที่ 23 (4) เกี่ยวกับการกำหนดแนวทางการจัดการศึกษาให้เน้นความรู้ และทักษะด้านคณิตศาสตร์ และด้านภาษา เน้นการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง นอกจากนี้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ระบุไว้ว่า กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เป็นกลุ่มสาระ ที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายของวัฒนธรรมโลก นำมาซึ่งมิตรไมตรีต่อประเทศต่างๆ ส่งผลให้ผู้เรียนมีการเข้าใจตนเองและผู้อื่นมากขึ้น รวมทั้งมีเจตคติที่ดีต่อการใช้ภาษาต่างประเทศ เพื่อการสื่อสารได้ มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินชีวิต และได้ระบุมาตรฐานการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้ได้แก่ ภาษาเพื่อการสื่อสาร ภาษาและวัฒนธรรม ภาษากับความสัมพันธ์กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ภาษากับความสัมพันธ์กับชุมชนและโลก จากการกล่าวมาแสดงให้เห็นว่า การศึกษาไทยให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก โดยการบรรจุเป็นรายวิชาพื้นฐานให้ผู้เรียนทุกคน ได้เรียนรู้
จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย เส้นรุ้งที่ 16 องศาเหนือและเส้นแวงที่ 99 องศาตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,027 ฟุต ห่างจากกรุงเทพมหานคร 696 กิโลเมตร กิโลเมตร มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของภาคเหนือ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านคือ พม่า และมีลักษณะภูมิอากาศค่อนข้างเย็นเกือบตลอดทั้งปี แบ่งภูมิอากาศออกเป็น 3 ฤดูได้แก่ ฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกมากมายเมื่อครั้งที่สร้างเมืองเชียงใหม่นั้น พ่อขุนเม็งรายได้เชิญพ่อขุนงำเมืองและพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งเป็นพระสหายร่วมน้ำสาบานกันมาช่วยเลือกบริเวณที่จะสร้างเมืองใหม่ เมื่อกษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ ได้ทรงเห็นชัยภูมิที่ราบอันอุดมสมบูรณ์บริเวณริมฝั่งแม่น้ำปิงตรงดอยสุเทพ แล้วทรงพอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง พ่อขุนเม็งรายจึงทรงให้สร้างกำแพงเมืองและขุดคูรอบเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทั้ง 3 พระองค์ทรงขนานนามเมืองนี้ว่า นพบุรีศรีนครพิงค์ เมื่อเมืองเชียงใหม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าสลับกับกรุงศรีอยุธยาอยู่หลายครั้งหลายคราว แต่ในที่สุดภายหลังก็รวมอยู่ในราชอาณาจักรไทยอย่างเด็ดขาดได้ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีตราบมาจนวันนี้และมีคำขวัญที่น่าสนใจ " ดอยสุเทพเป็นศรี ประเพณีเป็นสง่า บุปผาชาติล้วนงามตา นามล้ำค่านครพิงค์ “Outstanding Of Doi Suthep Queenly Tradition Flowers are so Beautiful Invaluable Nakornpring” เมืองนี้เป็นที่น่าชื่นชมของนักเรียน
ปัจจุบันนักเรียนส่วนใหญ่ไม่เห็นความสำคัญเกี่ยวกับทักษะภาษาอังกฤษ และไม่สนใจในการจัดการเรียนรู้แบบเดิม จึงทำให้ผลการทดสอบการศึกษาแห่งชาติ(O-net) รายวิชาภาษาอังกฤษตั้งปี พ.ศ.2558 - 2559 ของโรงเรียนบ้านกองลม อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าใน ปีพ.ศ.2558 - 2559 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ผลปรากฏว่า คะแนนเฉลี่ยระดับโรงเรียนเฉลี่ยแล้วร้อยละ 28.64 ร้อยละ 30.48 และร้อยละ 27.11 ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเรียนการสอนในรายวิชาภาษาภาษาอังกฤษยังไม่บรรลุเป้าหมาย ผู้เรียนไม่มีทักษะการอ่านที่จะเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากการอ่านเพื่อให้เกิดประกายความคิด ทักษะการอ่านเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้ เนื่องจากทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเป็นทักษะที่ต้องอาศัยการฝึกฝนที่ถูกวิธีเป็นอย่างดี จึงจะช่วยให้ผู้อ่านรับเอาความรู้และความเข้าใจความรู้ที่อ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
การจัดการเรียนการสอนในการแก้ปัญหาความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษของผู้เรียน พบว่า การสอนอ่านแบบบูรณาการของเมอร์ดอกซ์ (MIA) หรือ Murdoch Integrated Approachโดย ยอร์ช เมอร์ดอกซ์ (George Murdoch) เป็นผู้คิดค้นขึ้นได้แบ่งการอ่านแบบบูรณาการของ (MIA)ออกเป็น 7 ขั้นตอน คือ ขั้นถามคำถามนำก่อนการอ่าน (Asking priming questions) ขั้นหาความหมายของคำศัพท์ (Finding the meaning of vocabularies) ขั้นอ่านเนื้อเรื่อง (Reading the text) ขั้นทำความเข้าใจเนื้อเรื่อง (Understanding the Text) ขั้นถ่ายโอนข้อมูล (Transferring information) การเรียงโครงสร้างอนุเฉท (Doing jigsaw exercise and paragraph structure) ขั้นประเมินผลและแก้ไข (Evaluating and correcting) ซึ่งเป็นวิธีสอนอ่านที่น่าสนใจแต่ละขั้นตอนดำเนินกิจกรรมไม่น่าเบื่อ และมีจุดเด่นเกี่ยวกับการสอนอ่านภาษาอังกฤษ คือ เรื่องการสอนคำศัพท์ก่อนที่จะเริ่มอ่านเนื้อเรื่อง ซึ่งในการเรียนภาษาอังกฤษการเข้าใจความหมายของคำศัพท์เป็นสิ่งสำคัญมาก และการอ่านบูรณาการของเมอร์ดอกซ์ (MIA) ยังเป็นการฝึกใช้ทักษะภาษาครบทั้ง 4 ด้าน คือ การฟัง การพูด การอ่านและการเขียนควบคู่กันไปตลอด โดยมีขั้นตอนการสอนที่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนแต่ที่เน้นที่สุด คือ การอ่านเป็นหลัก ซึ่งการอ่านภาษาอังกฤษสามารถนำเรื่องของจังหวัดเชียงใหม่มาประกอบได้ เพราะเรื่องราวในจังหวัดเชียงใหม่มีจุดเด่นและเอกลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นท้องถิ่นของผู้เรียน กล่าวคือเป็นบทอ่านง่าย ไม่สลับซับซ้อน และเป็นบทอ่านที่ใกล้ตัวผู้เรียนที่สุด เข้าใจง่ายและผู้เรียนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันในการอ่าน ซึ่งส่งผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของนักเรียนดีขึ้นด้วยดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาว่า มีปัจจัยใดบ้างที่เป็นสาเหตุและส่งผลต่อแนวการจัดการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ ของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย เพื่อหาแนวทางที่จะนำไปสู่แนวปฏิบัติที่จะส่งผลทำให้การจัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ให้มีคุณภาพที่ใกล้เคียงหรือเท่าเทียมกันในด้านการจัดการศึกษาต่อไป
จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาผลการจัดการเรียนรู้การอ่านแบบบูรณาการของเมอร์ดอกซ์ (MIA) โดยใช้เรื่องราวในท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาความเข้าใจในการอ่านและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และเป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ต่อไป

วิธีการดำเนินการวิจัย
1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
     ประชากร เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านกองลม อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 2 ห้องเรียน จำนวน 61 คน
     กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/1 โรงเรียนบ้านกองลม อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวน 31 คน ที่ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling)
2. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
     2.1 แผนการจัดการเรียนรู้การสอนอ่านแบบ MIA (Murdoch Integrated Approach) โดยใช้เรื่องราวท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หน่วยการเรียนรู้ที่ 5 Daily routine และหน่วยการเรียนรู้ที่ 6 Culture & Festivals จำนวน 4 แผน แผนละ 4 ชั่วโมง รวม 16 ชั่วโมง
     2.2 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านภาษาอังกฤษ แบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก เป็นข้อสอบแบบคู่ขนานก่อนเรียนและหลังเรียน ฉบับละ 30 ข้อ
     2.3 แบบทดสอบวัดความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษ แบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก เป็นข้อสอบแบบคู่ขนานก่อนเรียนและหลังเรียน ฉบับละ 30 ข้อ
2.4 แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อเรื่องราวท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่าของลิเคิร์ท 5 ระดับ จำนวน 10 ข้อ
    
3. วิธีการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล
ในการดำเนินการเก็บรวบรวมดำเนินการดังนี้
    3.1 ปฐมนิเทศนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับการอ่านเพื่อความเข้าใจการเรียนรู้แบบบูรณาการอ่านแบบ MIA โดยใช้เรื่องราวของท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่
    3.2 ให้นักเรียนกลุ่มตัวอย่างทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษ ฉบับก่อนเรียนจำนวน 30 ข้อ โดยใช้เวลา 60 นาที
    3.3 ให้นักเรียนกลุ่มตัวอย่างทำแบบทดสอบวัดความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษ ฉบับก่อนเรียนจำนวน 30 ข้อ โดยใช้เวลา 60 นาที
    3.4 ผู้วิจัยดำเนินการจัดการเรียนรู้ โดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการการอ่านแบบ MIA โดยใช้เรื่องราวท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 4 แผน แผนละ 4 ชั่วโมง รวมทั้งหมด 16 ชั่วโมง
    3.5 เมื่อดำเนินการจัดการเรียนรู้ครบทั้ง 4 แผนแล้วให้นักเรียนกลุ่มตัวอย่างทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษฉบับหลังเรียน จำนวน 30 ข้อ โดยใช้เวลา 60 นาที และให้นักเรียนกลุ่มตัวอย่างทำแบบทดสอบวัดความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษฉบับหลังเรียน จำนวน 30 ข้อ โดยใช้เวลา 60 นาที
    3.6 สอบถามความคิดเห็นของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับการอ่านเพื่อความเข้าใจการเรียนรู้แบบบูรณาการอ่านแบบ MIA โดยใช้เรื่องราวท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่

4. การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
     4.1 หาค่าสถิติพื้นฐาน
         4.1.1 ค่าเฉลี่ย (Mean)
         4.1.2 ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
     4.2 สถิติที่ใช้หาคุณภาพเครื่องมือ
         4.2.1 หาคุณภาพของแผนจัดการเรียนรู้
4.2.1.1 ตรวจสอบหาความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาโดยใช้วิธีการหาค่าดัชนีความสอดคล้อง(IOC)
        
4.2.2 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านภาษาอังกฤษ ดังนี้
                 4.2.2.1 หาดัชนีความสอดคล้องระหว่างข้อคำถามกับจุประสงค์ การเรียนรู้ (IOC)
                 4.2.2.2 หาค่าความยากง่าย(p) และค่าอำนาจจำแนก(r) ของแบบทดสอบ
                 4.2.2.3 หาค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบทั้งฉบับ โดยใช้สูตร KR - 20 ของคูเดอร์ ริชาร์ดสัน (Kurder – Richardson)
         4.2.3 แบบทดสอบวัดความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษ ดังนี้
                 4.2.3.1 หาดัชนีความสอดคล้องระหว่างข้อคำถามกับจุประสงค์การเรียนรู้(IOC)    
             4.2.3.2 หาค่าความยากง่าย (p) และค่าอำนาจจำแนก (r) แบบทดสอบ
             4.2.3.3 หาค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบทั้งฉบับ โดยใช้สูตร KR – 20ของคูเดอร์ ริชาร์ดสัน (Kurder – Richardson)
         4.2.4 หาคุณภาพของแบบสอบถามความคิดเห็น ดังนี้
     4.2.4.1 หาดัชนีความสอดคล้องระหว่างข้อคำถามกับจุประสงค์การเรียนรู้ (IOC)
          4.2.4.2 หาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟา
     4.3 สถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐาน
         4.3.1 เปรียบเทียบคะแนนก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้จากแบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษโดยใช้ t-test แบบ Dependent
          4.3.2 เปรียบเทียบคะแนนก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้จากแบบทดสอบวัดความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษ โดยใช้ t-test แบบ Dependent
          4.3.3 หาค่าเฉลี่ยคะแนนความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการอ่านแบบ MIA โดยใช้เรื่องราวในท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ โดยเปรียบเทียบเกณฑ์ดังนี้
                        1.00 – 1.49    หมายถึง        เหมาะสมน้อยที่สุด
                        1.50 – 2.49    หมายถึง        เหมาะสมน้อย
                        2.50 – 3.49    หมายถึง        เหมาะสมปานกลาง
                        3.50 – 4.49    หมายถึง        เหมาะสมมาก
                        4.50 – 5.00    หมายถึง        เหมาะสมมากที่สุด


สรุปผลและอภิปรายผลการวิจัย
สรุปผล
การวิจัยผลการจัดการเรียนรู้การอ่านแบบบูรณาการของเมอร์ดอกซ์ MIA โดยใช้เรื่องราว ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่เพื่อพัฒนาความเข้าใจในการอ่านและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษสรุปผลได้ดังนี้
1. ความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการอ่านแบบ MIA โดยใช้เรื่องราว ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่หลังจัดการเรียนรู้สูงกว่าก่อนจัดการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการอ่านแบบ MIA โดยใช้เรื่องราว ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่หลังจัดการเรียนรู้สูงกว่าก่อนจัดการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการอ่านแบบ MIA โดยใช้เรื่องราวท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในระดับมาก
อภิปรายผล
ผลการวิจัยผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษและศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนได้รับการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการอ่านแบบ MIA โดยใช้เรื่องราวในท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ อภิปรายผลดังนี้
     1. ความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ดีรับการจัดการเรียนรู้โดยการบูรณาการอ่านแบบ MIA โดยใช้เรื่องราวท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เนื่องจากครูผู้สอนจัดกิจกรรมและร่วมเตรียมความพร้อมก่อนการอ่านให้กับนักเรียน คือ ขั้นที่ 2 การทำความเข้าใจคำศัพท์ โดยครูกำหนดคำศัพท์ที่เป็นคำหลัก (keywords) แล้วให้นักเรียนช่วยกันค้นหาความหมายของคำศัพท์จากพจนานุกรม ซึ่งวิธีการที่จะสะดวกและรวดเร็วที่สุด คือ การแข่งขันกันหาความหมายคำศัพท์ แล้วร่วมกันอภิปรายสรุป ยกตัวอย่างประโยคหรือข้อความเพื่อให้แน่ใจว่าเข้าใจและใช้คำศัพท์ได้ถูกต้องกับความหมาย และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เสนอคำศัพท์อื่นที่เข้าใจนอกเหนือกับคำศัพท์ที่ครูกำหนดให้ร่วมกับค้นหาความหมาย ช่วยเพิ่มต้นทุนคำศัพท์นำไปสู่พื้นฐานความเข้าใจในการอ่านได้ดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับ สุนันทา มั่นเศรษฐวิทย์ (2545 : 97)การสอนให้นักเรียนเข้าใจคำศัพท์ก่อนการอ่านเรื่องจะทำให้นักเรียนเข้าใจเรื่องราวได้ดียิ่งขึ้น
     ขั้นที่ 4 การทำความเข้าใจเนื้อเรื่อง เป็นขั้นสำคัญที่นักเรียนต้องใช้ความตั้งใจและสมาธิในการอ่านเพื่อตอบคำถามแบบปลายเปิดหรือเติมคำข้อความให้ถูกต้อง ซึ่งครูผู้สอนได้ใช้คำถามตามจุดมุ่งหมายพุทธพิสัย ระดับความเข้าใจของบลูม (Bloom) คือ ระดับการแปลความ ตีความ และขยายความ ให้การเติมข้อความนักเรียนต้องใช้ภาษาของตนเอง
     ขั้นที่ 5 การถ่ายโอนข้อมูลในรูปแบบอื่น ในขั้นตอนนี้ครูผู้สอนให้นักเรียนวิเคราะห์เนื้อหาของบทอ่านแล้วสรุปประเด็นสำคัญหรือใจความหลักของเรื่องที่อ่าน หากนักเรียนทำได้แสดงว่านักเรียนมีความเข้าใจเรื่องที่อ่านเป็นอย่างดี โดยให้นักเรียนนำคำตอบมาเสนอในรูปตาราง แผนภูมิ แผนภาพ กราฟ หรือแผนที่อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างอิสระ สอดคล้องกับ สุวิทย์ มูลคำ (2554 : 9) กล่าวว่า การพัฒนาทักษะความเข้าใจในการอ่านจะสามารถไล่เรียงความชัดเจนในแต่ละเรื่องที่เรากำลังคิดได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดความครบถ้วนสมบูรณ์
     ขั้นที่ 6 การทำแบบฝึกหัดต่อชิ้นส่วนประโยคและเรียงโครงสร้างอนุเฉท เป็นขั้นที่ครูผู้สอนให้นักเรียนต่อชิ้นส่วนประโยคในรูปแบบของอนุเฉทหรือย่อหน้าให้ได้ใจความสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจบเรื่อง เป็นการทบทวนลำดับเหตุการณ์หรือจัดโครงสร้างทั้งหมดของเรื่องที่อ่าน สอดคล้องกับ มณีรัตน์ สุกโชติรัตน์ (2548 : 89) ที่สรุปว่าการทำความเข้าใจโครงสร้างและส่วนประกอบของอนุเฉทหรือย่อหน้าทำให้ผู้อ่านเข้าใจบทอ่านได้อย่างชัดเจน
     กิจกรรมหลังการอ่านขั้นที่ 7 การประเมินผลและแก้ไขเป็นขั้นตอนการตรวจสอบความเข้าใจในภาพรวมเป็นครั้งสุดท้าย โดยผู้สอนและนักเรียนร่วมกันอภิปรายและสรุปผลการอ่านจาการเฉลยคำตอบของแบบฝึกหัดประกอบการอ่าน(ใบงาน) อีกครั้ง และเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกกลุ่มแก้ไขข้อผิดพลาดของการตอบคำถามหรือแก้ไขภาษาให้ถูกต้องและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สอดคล้องกับความคิดเห็นของ วรรณี โสมประยูร (2553 : 185) กล่าวว่า การนำต้นฉบับมาอ่านพิจารณาตรวจทานเพื่อแก้ไขให้สมบูรณ์ (Rewriting) ทั้งในด้านเนื้อหาสาระ สำนวนภาษา และลีลาการเขียนนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมาก
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการอ่านแบบ MIA โดยใช้เรื่องราวท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่หลังจัดการเรียนรู้สูงกว่าก่อนจัดการเรียนรู้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้สืบเนื่องจากการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการการอ่าน MIA โดยใช้เรื่องราวในท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ใช้กระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย ได้แก่ กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ กระบวนการทางสังคม กระบวนการเผชิญสถานการณ์และแก้ปัญหา กระบวนการปฏิบัติ และกระบวนการจัดการ และเปิดโอกาสให้นักเรียนลงมือปฏิบัติจริง โดยมีครูผู้สอนเป็นผู้อำนวยความสะดวก
     การนำเรื่องราวในชียงใหม่มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ทำให้ผู้เรียนเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อจังหวัดของตนและเกิดการเรียนรู้ได้ดีมากขึ้น คือ การจัดกาเรียนรู้เน้นไปด้านพุทธิพิสัยของบลูม (Bloom) การเรียนรู้ในระดับความเข้าใจ คือ การแปลความ ตีความ และขยายความสอดแทรกในกิจกรรมขั้นที่ 4 การทำความเข้าใจกับเนื้อเรื่อง และการประเมินผลของครูสอดคล้องกับงานวิจัยของเรียม บุญสนอง (2560 : 120) ศึกษาการพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ ด้วยวิธีการสอนอ่านแบบบูรณาการของเมอร์ดอกช์ (MIA) พบว่า วิธีสอนอ่านแบบบูรณาการของ เมอร์ดอกช์ (MIA) สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลในการพัฒนานักเรียนกลุ่มอ่อนที่ไม่สามารถ อ่านและสรุปใจความสำคัญในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาได้ในระกับที่น่าพอใจเป็นเพราะมีขั้นตอนการสอนที่ชัดเจน อีกทั้งเป็นการจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นกระบวนการกลุ่ม
     กระบวนการจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการอ่านแบบ MIA โดยใช้เรื่องราวในท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เป็นไปตามธรรมชาติของภาษา เน้นการพัฒนาทักษะทางภาษาเชิงทักษะสัมพันธ์ โดยการบูรณาการทักษะการฟัง การพูด การอ่าน การเขียนควบคู่การดู การอ่าน ทักษะการส่งสาร คือ การพูด การเขียน สอดคล้องกับ วรรณี โสมประยูร (2553 : 205) ที่กล่าวว่า ครูผู้สอนจะต้องส่งเสริมให้นักเรียนได้รู้จักและคุ้นเคยกับการใช้ภาษาให้เป็นไปตามธรรมชาติได้สมบูรณ์อย่างแท้จริง
     การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยบูรณาการอ่านแบบ MIA โดยใช้เรื่องราวท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 8 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 วัน วันละ 1 ชั่วโมง ทำให้นักเรียนเรียนรู้ได้ดีเมื่อมีการกระทำซ้ำ ๆ เน้นการนำไปใช้อย่างสม่ำเสมอ เพราะการฝึกฝนไว้แล้วเป็นอย่างดี ถ้าหากไม่ใช้บ่อย ๆ ก็จะลืมเลือนหรือขาดประสิทธิภาพลง สอดคล้องกับ วรรณี โสมประยูร (2553 : 80) ครูต้องใช้ทักษะทางภาษาอยู่เป็นประจำจนเป็นนิสัยและครูยึดหลัก “กฎแห่งการฝึก” ของธอร์นไดด์ (Thorndike) ซึ่งมีใจความว่า ถ้าได้รับการฝึกหรือการทำซ้ำ ๆ อยู่เสมอ จะทำให้สิ่งเร้าและการตอบสนองมีความสัมพันธ์กันอย่างมั่นคงขึ้น และการเรียนรู้ก็คงอยู่ตลอดไป
     กิจกรรมนำทางของการจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการอ่านแบบ MIA โดยใช้เรื่องราวท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ที่ช่วยสร้างฐานความรู้ไปสู่ความเข้าใจในการอ่าน ซึ่งส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น คือกิจกรรมขั้นที่ 1 การถามนำก่อนการอ่าน ขั้นที่ 3 การอ่านเรื่องและกิจกรรมการเฉลยใบงาน ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
     ขั้นที่ 1 การถามนำก่อนการอ่าน เป็นขั้นตอนการสำรวจก่อนการอ่านโดยครูตั้งคำถามหรือข้อความเกี่ยวกับเรื่องที่จะอ่าน เพื่อกระตุ้นและก่อให้เกิดการอภิปรายร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียนก่อนที่จะอ่านเรื่องนั้นๆ เพื่อหาคำตอบและถือเป็นการดึงประสบการณ์เดิมเพิ่มประสบการณ์ใหม่เกี่ยวกับเรื่องที่จะอ่านให้กับนักเรียน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานความเข้าใจที่จะดียิ่งขึ้นและทักษะการพูดและทักษะการฟัง จะได้รับการพัฒนาไปพร้อม ๆ กันกับการใช้เหตุผลเพื่อให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันของกระบวนการกลุ่ม สอดคล้องกับ มณีรัตน์ สุกโชติรัตน์ (2548 : 95) กล่าวว่า การสำรวจข้อมูลก่อนการอ่านเป็นการกระตุ้นและปูพื้นฐานความรู้และประสบการณ์ของผู้อ่าน
     ขั้นที่ 3 การอ่านเรื่อง ครูผู้สอนกำหนดเวลาให้นักเรียนอ่านเรื่องราวในท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ ตามเวลาที่กำหนดเพื่อให้นักเรียนวิเคราะห์เนื้อหาที่อ่านแล้วสามารถ ตั้งคำถามจากเรื่องที่อ่านได้ โดยครูผู้สอนควรเน้นให้ผู้เรียนเกิดแรงขับ (การแข่งขัน) สิ่งเร้า (เนื้อเรื่องและคำถาม)    การตอบสนอง (คำตอบ) และการเสริมแรง (การเฉลยคำตอบในตอนหลัง) ซึ่งจำทำให้นักเรียนเข้าใจเรื่องที่อ่านได้ดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับ มณีรัตน์ สุกโชติรัตน์ (2548 : 91) กล่าวว่าครูควรเน้นการฝึกให้นักเรียนอ่านบทอ่านและตั้งคำถาม จะช่วยให้นักเรียนได้พัฒนาความคิดและนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
     3. ความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยการ บูรณาการอ่านแบบ MIA โดยใช้เรื่องราวท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในระดับมาก สืบเนื่องจากการจัดการเรียนรู้การอ่านบูรณาการแบบ MIA โดยใช้เรื่องราวในท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ ทุกกิจกรรมและขั้นการจัดการเรียนรู้สามารถทำให้ผู้เรียนมีความตื่นเต้น เร้าใจอยู่ตลอดเวลาและเกิดความสนุกสนานกับการเรียน ถือเป็นแรงจูงใจให้นักเรียนสนใจและตั้งใจเรียนเป็นพิเศษ และยิ่งเป็นการเสริมแรงทางบวกในการตอบถามของนักเรียน สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้เรียนเกิดความคิดเห็นที่ดีต่อการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ

ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะในการทำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์
     1.1 ครูควรจัดกิจกรรมถามนำเข้าสู่บทอ่านและการตั้งกติกาการแข่งขันในการตอบคำถามตามเนื้อเรื่องพร้อมทั้งเสนอการเสริมแรงให้แก่นักเรียน เพราะจะทำให้นักเรียนมีความสนใจและตั้งใจมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้น
     1.2 กิจกรรมขั้นที่ 4 การทำความเข้าใจเนื้อเรื่อง โดยนักเรียนตอบคำถามปลายเปิดจากเรื่องราวใกล้ตัวที่นักเรียนสัมผัสอยู่ ครูอธิบายและยกตัวอย่างสิ่งที่ใกล้ตัวนักเรียน โดยเน้นให้นักเรียนสรุปเป็นภาษาของตัวเอง ไม่เน้นคัดลอกบทอ่าน
     1.3 กิจกรรมที่ 5 การถ่ายโอนข้อมูลในรูปแบบอื่น ผู้เรียนสามารถนำเรื่องราวที่ได้จากการอ่านบทอ่านมาสรุปเป็นแบบของตนเอง โดยผ่านแผนผังความคิด กราฟ ตาราง แผนภูมิ แผนภาพ หลากหลายตามความเหมาะสมของเนื้อหา
     2. ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป
          2.1 ควรศึกษาเปรียบเทียบการจัดการเรียนรู้การอ่านบูรณาการของ MIA โดยใช้เรื่องราวของจังหวัดอื่น
              2.2 ควรศึกษาการจัดการเรียนรู้การอ่านแบบบูรณาการของ MIA โดยใช้เรื่องราวในท้องถิ่น รวมกับตัวแปรอื่นๆ เช่น ชุดแบบฝึกหัด นิทาน ชุดกิจกรรม
              2.3 ควรศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษ ระหว่างการจัดการเรียนรู้การอ่านบูรณาการของ MIA กับวิธีการสอนอื่น

เอกสารอ้างอิง
กระทรวงศึกษาธิการ. (2547). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 พร้อมกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และพระราชบัญญัติการศึกษาภาค บังคับ พ.ศ.2545. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
กระทรวงศึกษาธิการ. (2551). หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 สาระการ
เรียนรู้ภาษาต่างประเทศ. กรุงเทพฯ : สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงาน
คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.
เรียม บุญสนอง (2560). ผลการจัดการเรียนรู้โดยการอ่านแบบ MIA ร่วมกับเทคนิคการใช้คำถามที่มี
    ต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความเข้าใจในการอ่านภาษาไทย.สงขลา : มหาวิทยาลัย
ทักษิณ.
โรงเรียนบ้านกองลม. (2559). หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนบ้านกองลม. เชียงใหม่ : โรงเรียน
    บ้านกองลม.
วรรณี โสมประยูร. (2553). การพัฒนาทักษะการเขียนประดับประถมศึกษา (2) ในเอกสารการสอน     ชุดวิชาการสอนกลุ่มทักษะภาษาไทยหน่วยที่9.นนทบุรีสาขาวิชาศึกษาศาสตร์     
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3. (2559). รายงานการประเมินคุณภาพ
การศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อประกันคุณภาพผู้เรียน ปีการศึกษา 2557. เชียงใหม่ : สำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่.
สุนันทา มั่นเศรษฐวิทย์. (2545). หลักและวิธีสอนอ่านภาษาไทย. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.
สุวิทย์ มูลคำ และคณะ. (2554). การจัดการเรียนรู้ที่เน้นการคิด. กรุงเทพฯ : อี เค บุ๊คส์.
มณีรัตน์ สุกโชติรัตน์. (2548). อ่านเป็น: เรียนก่อน สอนเก่ง.กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.

Bloom, Benjamins. (1976). Human Characteristics and School Learning. New York :McGraw-
    Hill Book Company.
Murdoch, George S. (1986). “A More Integrated Approach to the Teaching of Reading,”English
Teaching Forum. 34 (1).
Smith, E. B., Goodman, K. S. & Meredith, R. (1976). Language and Thinking in School 2 nd ed.     NY: Holt, Rinehart and Winston.


ร่วมแสดงความคิดเห็น
เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น!

ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ แนะนำติชม เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้

^