“สิริพงศ์” แจงวิชาลูกเสือมีความทันสมัย แต่ขาดการสร้างความรับรู้
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
“สิริพงศ์” แจงวิชาลูกเสือมีความทันสมัย แต่ขาดการสร้างความรับรู้“สิริพงศ์” เปิดการประชุมวิชาการลูกเสือ ย้ำ วิชาลูกเสือมีความจำเป็น ไม่ใช่การเรียนล้าสมัย
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่หอประชุมคุรุสภา นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการด้านลูกเสือ ประจำปี 2567 หัวข้อ “งานลูกเสือเพื่อลูกเสือและสังคม” (Scout for Scout and Community) โดยนายสิริพงศ์ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญ ที่จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและเยาวชนให้เกิดขึ้น โดยอาศัยกระบวนการลูกเสือเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ผ่านนโยบายการขับเคลื่อนกิจกรรมลูกเสือของ รมว.ศธ. “ลูกเสือช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ” และ “ทำดี ทำได้ ทำทันที” เพื่อปลูกฝังและสร้างเจตคติที่ดี ให้แก่เด็กและเยาวชนของชาติ มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ มีระเบียบวินัย มีความรัก ความสามัคคี รู้จักเสียสละและบำเพ็ญตนให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม
นายสิริพงศ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเด็นที่เด็กและสังคมมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการเรียนวิชาลูกเสือ ว่าการเรียนวิชาลูกเสือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น มีความทันสมัยหรือไม่ และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งหลักสูตรและกิจกรรมลูกเสือตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ มุ่งหมายให้ลูกเสือได้แสดงออกซึ่งทักษะและความสนใจของตนเอง และเพื่อให้ได้มีส่วนในการปฏิบัติกิจกรรมร่วมกัน มีจำนวน 76 วิชา ซึ่งเป็นวิชาที่มีประโยชน์ แต่สังคมยังไม่มีโอกาสได้รับรู้ หลายวิชามีความทันสมัยและอยู่ร่วมกับคนไทย เช่น ลูกเสือนักดนตรี ลูกเสือการพูดในที่สาธารณะ (Public Speaking) วิชานักแสดงการบันเทิง หรือการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ในปัจจุบัน
วิชาเหล่านี้เป็นวิชาที่มีมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้จนถึงปัจจุบัน แต่ขาดการปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยและขาดการสื่อสารที่ให้สังคมได้รับรู้ ว่าในทุกๆ วิชานั้นล้วนมีประโยชน์ และสิ่งที่เราได้มารวมกันในการประชุมวิชาการด้านลูกเสือในครั้งนี้ จะช่วยให้เราได้รู้ว่ากระบวนการลูกเสือ สิ่งใดที่ควรมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และการพัฒนารูปแบบการนำเสนอให้เข้ากับยุคสมัย เราจึงจะสามารถตอบคำถามได้ว่า การเรียนลูกเสือมีความทันสมัยและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เพียงแต่ต้องสร้างการรับรู้ให้กับนักเรียนและผู้ปกครองให้เห็นถึงความสำคัญของการเรียนในวิชาลูกเสือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
ศธ. มีความตระหนักถึงกระบวนการลูกเสือ มีการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการเรียน โดยมีจุดมุ่งหมายคือจะดำเนินการอย่างไรให้ทุกคนเกิดความสุข มีกระบวนการเรียนรู้ลูกเสือโดยมีอิสระ และยังยืนยันว่า “วิชาลูกเสือนั้นมีความจำเป็น” และการเรียนลูกเสือไม่ใช่เรื่องที่ล้าสมัย เพราะการเรียนลูกเสือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีการเรียนและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก แต่กระบวนการเรียนรู้ที่ดีนั้นจะต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัย ที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้กระบวนการลูกเสือที่มีประสิทธิภาพต่อไป
นายวรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัด ศธ. กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน ได้ดำเนินการจัดโครงการการประชุมวิชาการด้านลูกเสือฯ ในครั้งนี้ขึ้น ระหว่างวันที่ 15–16 พ.ค. 2567 เพื่อเป็นเวทีสำหรับการเผยแพร่ผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการ และวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือ Best practice ทางด้านลูกเสือ กระตุ้นให้เกิดการสร้างผลงานวิจัยที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมทางด้านลูกเสือ ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือและสร้างเครือข่ายการวิจัยงานวิชาการด้านกิจกรรมลูกเสือ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักวิชาการ นักวิจัย และบุคลากรทางการลูกเสือ ส่งผลงานเข้าร่วมการประชุมทางวิชาการฯ ประกอบด้วย ผลงานวิจัย 16 ผลงาน ผลงานทางวิชาการอื่น 22 ผลงาน และวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ 55 ผลงาน รวมจำนวนทั้งสิ้น 93 ผลงาน
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 เวลา 12:57 น.