LASTEST NEWS

07 พ.ค. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการสอบคัดเลือกฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 07 พ.ค. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการสอบคัดเลือกฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 05 พ.ค. 2567‘เพิ่มพูน’ ยันโรงเรียนห้ามกั๊กการออกใบเกรดหากเด็กค้างค่าเทอม 05 พ.ค. 2567ก.ค.ศ.เดินหน้ารื้อระบบ ศน.ใหม่ ยกเครื่อง ปรับบทบาทหน้าที่ เพิ่มคุณสมบัติ ดึงบุคลากรคุณภาพพัฒนาคุณภาพการศึกษา 04 พ.ค. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันฯ ครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ (ต่อ) 04 พ.ค. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันฯ ครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 04 พ.ค. 2567สพม.ชัยภูมิ ประกาศรับสมัครสอบครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 จำนวน 4 อัตรา ตั้งแต่ 8-14 พ.ค.2567 04 พ.ค. 2567สพป.ชัยภูมิ เขต 3 ประกาศรับสมัครสอบครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 จำนวน 5 อัตรา ตั้งแต่ 8-14 พ.ค.2567 04 พ.ค. 2567สพป.ชัยภูมิ เขต 2 ประกาศรับสมัครสอบครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 จำนวน 2 อัตรา ตั้งแต่ 8-14 พ.ค.2567 04 พ.ค. 2567สพป.ชลบุรี เขต 1 ประกาศรับสมัครสอบครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 จำนวน 14 อัตรา ตั้งแต่ 8-14 พ.ค.2567

ปฏิรูปการศึกษา ถึงเวลาฉุดเด็กไทยยืนหัวแถว

  • 08 มิ.ย. 2557 เวลา 09:10 น.
  • 2,068
ปฏิรูปการศึกษา ถึงเวลาฉุดเด็กไทยยืนหัวแถว

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

ปฏิรูปการศึกษา ถึงเวลาฉุดเด็กไทยยืนหัวแถว : ผู้สื่อข่าวพิเศษ...รายงาน
 
    ตลอดระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยพยายามเร่งพัฒนา “คน” เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ขณะที่ภาครัฐลงทุนไปในระบบการศึกษาเป็นเงินมากถึง 24 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณแผ่นดิน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 20 เปอร์เซ็นต์ 
 
    การลงทุนดังกล่าวทำให้ ไทยติดอันดับประเทศใช้งบประมาณด้านการศึกษาสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก (อ้างอิงจากข้อมูลองค์การยูเนสโกในปี 2554) และในปีนี้ รัฐบาลไทยยังจัดงบประมาณการศึกษาไว้สูงมากถึง 5.19 แสนล้านบาท สวนทางกับคุณภาพทางการศึกษาที่ต่ำกว่าเกณฑ์ 
 
    จากการทดสอบ PISA ในปี 2555 พบว่า มีนักเรียนไทยเกือบครึ่ง หรือ 49.7 เปอร์เซ็นต์ ที่ได้คะแนนในวิชาคณิตศาสตร์อยู่ในระดับ 1 หรือต่ำกว่า ในขณะที่คะแนนมาตรฐานที่ผ่านเกณฑ์ควรอยู่ในระดับ 2 ขึ้นไป รวมถึงปัญหาทักษะการอ่านที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ในวิชาอื่นทั้งหมด
 
    และเมื่อเทียบคุณภาพการศึกษาของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนด้วยกัน จากข้อมูล เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (ดับเบิลยูอีเอฟ) ปี 2555-2556 ผลการสอบของเด็กไทยระดับมัธยมและอุดมศึกษา อยู่ในอันดับ 8 หรือ “บ๊วยสุด” อีกด้วย   
 
    ปัญหาคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยที่ตกต่ำในวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องการมีงบลงทุนไม่เพียงพอ แต่เป็นผลมาจากความผิดพลาดด้านการบริหารจัดการการศึกษาของไทยมานานนับสิบปี 
 
    จากผลการวิจัยเรื่อง “บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ”(National Education Account : NEA) โดยคณะนักวิจัยของศูนย์บริการวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษารายจ่ายตั้งแต่ปี 2551-2553 และในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นการเปิดข้อมูลเส้นทางรายจ่ายด้านการศึกษาครั้งแรกของพบว่า ไทยมีงบประมาณใช้จ่ายด้านการศึกษาสูงถึง 6.58 แสนล้านบาท ในปี 2553 หรือคิดเป็น 6.51 เปอร์เซ็นต์ ของรายจ่ายด้านการศึกษารวมต่อจีดีพี เมื่อเทียบกับต่างประเทศอยู่ที่ 4 เปอร์เซ็นต์ ถือได้ว่าไทยมีค่าใช้จ่ายการศึกษาที่สูงมาก
 
    รายจ่ายดังกล่าว ภาครัฐเป็นผู้อุดหนุนเงินด้านการศึกษาหลักถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นภาระของภาคครัวเรือนเช่น ค่าเล่าเรียนพิเศษที่โรงเรียนเรียกเก็บแม้ว่าขณะนี้จะมีงบเรียนฟรี 15 ปีก็ตาม
 
    รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ หนึ่งในคณะวิจัย กล่าวว่า  การจัดทำบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาไทย ก็เหมือนกับการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของครอบครัว เพื่อให้เห็นแบบแผนการใช้จ่ายเงินว่ามีความเหมาะสมและคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน หากครัวเรือนใช้จ่ายมากเกินไป ก็จะเป็นภาระในอนาคตได้ 
 
    “รายจ่ายด้านการศึกษาเมื่อไปถึงโรงเรียนสังกัด สพฐ.ในปี 2553เป็นงบของระดับประถม มากที่สุดถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี เงินส่วนนี้เป็นเงินเดือนค่าจ้างครู และต้นทุนการบริหารจัดการถึง 75เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น เป็นค่าก่อสร้างอาคารเรียน คุรุภัณฑ์ เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เครื่องแบบ หนังสือ อุปกรณ์การเรียน เหลือเงินใช้จ่ายเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนเพียง 2.4 เปอร์เซ็นต์ และงบพัฒนาครูอีก 1.09 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ตรงนี้จึงเป็นโจทย์ของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในอนาคต"
 
    รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวว่า ทีมวิจัยพยายามให้ข้อเท็จจริงว่าประเทศไทยลงทุนเพื่อการศึกษามากถึง 6.5 แสนล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบกับ จีดีพี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิกโออีซีดี ติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่คุณภาพการศึกษาเราต่ำกว่า จึงทำให้เป็นภาระของสังคม คือทุกครัวเรือนมีภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามากขึ้น  
 
    โดยเฉพาะผู้เรียนระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย ที่ภาครัฐลงทุนน้อยกว่าการลงทุนในระดับประถมซึ่งสูงเกินไป จึงทำให้ครัวเรือนรับภาระหนักสุด เป็นโจทย์ของภาครัฐว่าจะปรับการจัดการงบประมาณที่เป็นอยู่อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เช่น การใช้เงินสนับสนุนครูให้มีประสิทธิภาพ และเกลี่ยงบไปในการพัฒนาเด็กให้มากขึ้น
 
    ด้าน ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณการศึกษาในอดีตไม่เป็นธรรมมายาวนาน เมื่อมีบัญชีรายจ่ายการศึกษาแห่งชาตินี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของการบริหารจัดการศึกษามากขึ้น ในช่วงหลังนี้จะเห็นการจัดสรรงบประมาณดีขึ้น มีความเป็นธรรมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน 
 
    “บัญชีนี้ถ้าแยกรายภาคลึกๆ จะเห็นความเหลื่อมล้ำมากขึ้น งานวิจัยนี้จะเป็นโมเดลให้กับภาคการศึกษา ทำให้เกิดความเสมอภาคและมีคุณภาพทางการศึกษามากขึ้นในอนาคต แม้ว่าในปัจจุบันเราจะใช้เงินมากกว่านานาชาติ แต่คุณภาพน้อยกว่า เราจึงต้องสนใจผลลัพธ์การศึกษาให้มากขึ้น”
 
    รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำเสนอมุมมองด้านการศึกษาและพัฒนาเยาวชนไว้ใน งานวิจัย “คนไทยมอนิเตอร์” รายงานผลสำรวจความคิดเห็นคนไทย 1 แสนคนทั่วประเทศ (2555) พบว่า ความเข้าใจที่ไม่ตรงกันในเรื่องความหมายของการศึกษาทำให้คนไทยส่วนใหญ่ตอบว่า พอใจในระดับ 5-6 จากคะแนนเต็ม 7 
 
    ตัวอย่างของความเข้าใจข้างต้นคือ คนทั่วไปอาจเห็นว่าการศึกษาหมายถึงการอ่านออก เขียนได้ การเข้าถึงและการเข้าเรียนในโรงเรียน การมีชุดนักเรียนและมีอุปกรณ์การศึกษา ซึ่งต่างไปจากความเข้าใจของนักวิชาการ ความรู้สึกดังกล่าวถือว่าตรงข้ามกับความเป็นจริงของคุณภาพการศึกษาไทยในปัจจุบัน
 
    “ตัวเลขจากการสำรวจเช่นนี้ มีนัยว่าคนไทยมีความเข้าใจไม่ถูกต้องกับสภาพความเป็นจริง ความเชื่อปรากฏเช่นนี้อาจเป็นผลมาจากการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ หรือจากความไม่รู้ไม่ใส่ใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง ตัวนักเรียนเอง ความไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะจะไม่มีแรงกดดันในทุกระดับเพื่อให้คุณภาพของการศึกษาดีขึ้น”
 
    การพัฒนาคุณภาพระบบการศึกษาไทยในอนาคตจึงไม่ได้มีคำตอบอยู่ที่เรื่อง “เม็ดเงิน” แต่เป็นการจัดการระบบบริหารการศึกษา ที่ทุกฝ่ายจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่ระบบโรงเรียน แต่ยังหมายถึงระบบครอบครัว
 
 
  • 08 มิ.ย. 2557 เวลา 09:10 น.
  • 2,068

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

ความคิดเห็นเกี่ยวกับ : ปฏิรูปการศึกษา ถึงเวลาฉุดเด็กไทยยืนหัวแถว

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น!

ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ แนะนำติชม เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้

^