LASTEST NEWS

26 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 26 เม.ย. 2567สพป.แพร่ เขต 1 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 2) - ผลย้ายครู 2567 สพป.แพร่ เขต 1 26 เม.ย. 2567ก.ค.ศ. อนุมัติให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญ  26 เม.ย. 2567สพป.ชัยนาท ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 2) - ผลย้ายครู 2567 สพป.ชัยนาท 26 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 26 เม.ย. 2567สพม.นครศรีธรรมราช ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพม.นครศรีธรรมราช 26 เม.ย. 2567สพม.ลพบุรี ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพม.ลพบุรี 26 เม.ย. 2567สพม.สุรินทร์ ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 2) - ผลย้ายครู 2567 สพม.สุรินทร์ 26 เม.ย. 2567สพป.ตาก เขต 1 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.ตาก เขต 1 26 เม.ย. 2567สพป.ลำพูน เขต 2 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.ลำพูน เขต 2

ตอนที่ 1 สถาบันผลิตครูต้องไม่ดิ่งเหว: ถึงเวลาที่รัฐต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง :: โดย รศ.ดร.สมบัติ นพรัก

  • 18 เม.ย. 2565 เวลา 16:13 น.
  • 1,568
ตอนที่ 1 สถาบันผลิตครูต้องไม่ดิ่งเหว: ถึงเวลาที่รัฐต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง :: โดย รศ.ดร.สมบัติ นพรัก

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

ตอนที่ 1 สถาบันผลิตครูต้องไม่ดิ่งเหว: ถึงเวลาที่รัฐต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก
ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย
ประธานที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย
คณบดีวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา

บทความนี้ยาวมาก 
###หากมีเวลามาก >กรุณาอ่านทั้งตอนที่ 1 และ 2 ครับ
###หากมีเวลาน้อย >กรุณาอ่านตอนที่ 2 ก็พอครับ
###หากไม่มีเวลา >ไม่ต้องสนใจอ่านครับ
###หากไม่อยากอ่าน >ผ่านไปเลยครับ

 
สถาบันผลิตครูที่มีบทบาทสำคัญตั้งแต่อดีตนั้น พัฒนามาแบบขาดการวางแผนในด้านการผลิตครูทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพมาโดยลำดับ การผลิตครูที่ขาดการวางแผนและขาดการกำกับนโยบายการผลิต จึงกลายเป็นปัญหาของทุกรัฐบาล ที่ไม่ได้สนใจแก้ปัญหาอย่างจริงจัง จนกลายเป็นปัญหาที่สะสมและหมักหมมมาจนทุกวันนี้
เพื่อฉายภาพความคิดในเรื่องที่ว่า”สถาบันผลิตครูต้องไม่พากันตาย: ถึงเวลาที่รัฐต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง” นั้นเป็นอย่างไร? ขอขยายความดังนี้ครับ

เริ่มต้นตั้งแต่ภาพอดีตที่การผลิตครูเป็นไปตามปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นตามปกติ (Normal)ของการผลิตครู ซึ่งผมสรุปจากมุมมองว่า
1.พัฒนาการของการผลิตครูเป็นไปตามธรรมชาติโดยขาดการวางแผน Normal จึงกลายเป็นปัญหาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
2.การเปลี่ยนแปลงสภาพการผลิตครูในบางช่วงเวลา ขึ้นอยู่บนความเชื่อที่ว่าใครก็เรียนครูได้ จึงขาดการคัดกรองคุณภาพผู้เรียน และขาดการสร้างขวัญกำลังใจผู้เรียนด้วยการให้ทุนเรียน และรับเข้าเรียนโดยจำกัดจำนวน เช่นเดียวกับบางวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล ทหาร ตำรวจ
3.การแก้ปัญหาคุณภาพการผลิตครูด้วยการปรับปรุงหลักสูตร และการออกกฎหมาย ประกาศ ข้อบังคับ เพื่อกำกับคุณภาพและมาตรฐาน ไม่ได้ส่งผลนัยยะของการแก้ปัญหาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพแต่อย่างใด

เพื่อฉายภาพให้เห็นชัดเจนขึ้น ผู้เขียนขอแบ่งแนวคิดออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่
1.สภาพและปัญหาของสถาบันผลิตครูนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน (Normal)
2.ปัจจัยเร่งที่นำสถาบันผลิตครูไปสู่การพากันดิ่งสู่เหวลึก (New Normal)
3.แนวทางการแก้ไขพลิกสถานการณ์สถาบันผลิตครู (Next Normal)
1.สภาพและปัญหาของสถาบันผลิตครูนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน (Normal)
ผู้เขียนแบ่งพัฒนาการของการผลิตครูออกเป็น 5  ยุค ดังนี้

ยุคที่ 1 อรุณรุ่งเบิกฟ้า (พ.ศ. 2435 – 2496) 
​1.เริ่มมีโรงเรียนฝึกหัดครูแห่งแรกของประเทศไทย เรียกว่า”โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์” จัดตั้งเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2435 เป็นปฐมฤกษ์แห่งระบบการฝึกหัดครูไทย โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อธิบดีกรมศึกษาธิการ เมื่อ พ.ศ.2431
(กรมการฝึกหัดครู, "100 ปี การฝึกหัดครูไทย", กรมการฝึกหัดครู: 2535.)
2.หลักสูตรการผลิตครู ในระยะเริ่มต้นจะมีสถาบันผลิตครูแยกประเภทหลักสูตร เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1)หลักสูตรจำแนกตามระดับวุฒิ ได้แก่ โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ (หลักสูตรครูมัธยม)  โรงเรียนฝึกหัดครูประถม (ป.ป.)  โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยม (ป.ม.)  โรงเรียนฝึกหัดครูมูล (ป.)  โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัด (ว.)  
2)หลักสูตรจำแนกตามกลุ่มอาชีพ  อาทิ  โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม (ป.ป.ก.)  โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา (ป.ป.พลศึกษา)  โรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษา (ป.ป.ช., ป.ม.ช.)  โรงเรียนฝึกหัดครูการเรือน (ป.ป.การเรือน)  โรงเรียนช่างศิลป์ (ครูศิลปศึกษา)  โรงเรียนนาฏศิลป์ (ครูนาฏศิลป์) โรงเรียนพาณิชยการ (ครูพาณิชยการ – ประถม – มัธยม) ฯลฯ 
###โรงเรียนดังกล่างข้างต้นผลิตครูระดับต่ำกว่าปริญญาตรี  ยกเว้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์  รับผู้เรียนประโยคมัธยม (ป.ม.) เข้าศึกษาต่อและให้ได้รับปริญญาครุศาสตร์บัณฑิต (ค.บ.)
3.นักเรียนฝึกหัดครูทุกคนได้รับทุนครูจังหวัด เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับการบรรจุในจังหวัดที่ได้รับทุนเรียนครู
4.ในยุคนี้มีจำนวนประชากรและอัตราการเกิด พ.ศ.2453 - 2490 (เริ่มสำรวจสำมะโนครัว ครั้งที่ 1 พ.ศ.2453) ตามข้อมูลดังนี้
ครั้งที่ 1 วันที่ 1 เมษายน 2453 จำนวนประชากร 8,266,408 คน
ครั้งที่ 2 วันที่ 1 เมษายน 2462 จำนวนประชากร 9,207,355  คน      อัตราเพิ่มเฉลี่ยต่อปี(ร้อยละ) 1.20
ครั้งที่ 3 วันที่15 กรกฎาคม 2472 จำนวนประชากร 11,506,207 คน อัตราเพิ่มเฉลี่ยต่อปี(ร้อยละ) 2.69
ครั้งที่ 4 วันที่ 23 พฤษภาคม 2480 จำนวนประชากร 14,464,105 คน อัตราเพิ่มเฉลี่ยต่อปี(ร้อยละ) 2.96
ครั้งที่ 5 วันที่ 25 เมษายน 2490 จำนวนประชากร 17,442,689  คน อัตราเพิ่มเฉลี่ยต่อปี(ร้อยละ) 1.89
(ประชากรไทย อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต / บุญเลิศ เลียวประไพ. - - พิมพ์ครั้งที่ 1. - - นครปฐม : สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 2557.)
###โดยสรุป การฝึกหัดครูไทยเริ่มต้นการผลิตครู ยุคที่ 1 ระหว่าง พ.ศ. 2435 – 2496) ตามระดับวุฒิและประเภทอาชีพโดยมีสถาบันผลิตครูเป็นการเฉพาะ และมีจำนวนโรงเรียนฝึกหัดครูจำนวนไม่มาก นักเรียนฝึกหัดครูทุกคนได้รับทุนเรียนครูเพื่อกลับไปเป็นครูในจังหวัดของตนเองเป็น”ทุนจังหวัด” ทั้งนี้เนื่องจากจำนวนประชากรไทยในอดีตเริ่มสำรวจสำมะโนครัว พ.ศ.2453 จึงไม่มีจำนวนตัวเลขประชากรที่แน่นอน ตั้งแต่เริ่มมี”โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์” ที่จัดตั้งเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2435 ย้อนหลังไปจำนวน 18 ปี พอจะอนุมานได้ว่า ถ้าอัตราการเกิดคงที่เฉลี่นต่อปี ร้อยละ 1.20 ในปีที่มีการจัดตั้ง”โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์” พ.ศ.2435 จะมีประชากรไทยจำนวนประมาณ 6,000,000 คน ในยุคนี้มีประชากรเริ่มเกิดมากขึ้น จากที่มีลูกครอบครัวละ 1 คน(2453-2462) เป็นครอบครัวละ 2 ถึง 3 คน (2472 -2490)

ยุคที่ 2 แหล่งหล้าฉานฉาย (พ.ศ. 2497 – 2537) 
ในยุคนี้มีการขยายจำนวนโรงเรียนฝึกหัดครูเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทันกับความต้องการการใช้ครูที่ประเทศไทยมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะระหว่าง พ.ศ.2493 - 2507 ประชากรมีอัตราเพิ่มเฉลี่ยต่อปี(ร้อยละ) 3.20 จาก พ.ศ. 2490 จำนวนประชากร 17,442,689  ถึง พ.ศ.2507 จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเป็น  26,260,916 คน ในระยะ 10 ปี เพิ่มขึ้นถึง 8,818,227 คน เป็นรุ่น Baby Boom) จึงมีการดำเนินการดังนี้
1.ขยายจำนวนโรงเรียนฝึกหัดครู เนื่องจากการผลิตครูในระยะเริ่มต้นไม่เพียงพอกับความต้องการ  จึงจำเป็นต้องเพิ่มโรงเรียนฝึกหัดครูเดิม  และจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูขึ้นใหม่จำนวนมาก  ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  ในกรมการฝึกหัดครู จำนวน 36 โรงเรียน รวมทั้งยกฐานะโรงเรียนพลศึกษาเป็นวิทยาลัยพลศึกษา 17 แห่ง  ยกฐานะโรงเรียนอาชีวศึกษาทุกแห่งเป็นวิทยาลัยทั่วประเทศ  และยกฐานะโรงเรียนนาฏศิลป์เป็นวิทยาลัยนาฏศิลป์  โดยมีคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐเปิดเพิ่มรวม 15 แห่ง และต่อมาได้ออกกฎหมายยกฐานะโรงเรียนฝึกหัดครู รวม 2 ฉบับได้แก่ (1)พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ.2518 และ (2)พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2527
2.ปรับแนวทางโครงสร้างหลักสูตร มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาหลักสูตรตามระดับคุณวุฒิ โดยในแต่ละระดับคุณวุฒิมีวัตถุประสงค์เฉพาะ อาทิ 
1)หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) หลักสูตร 2 ปี รับนักเรียนสำเร็จการศึกษามัธยมปีที่ 6 เทียบเท่ามัธยมปีที่ 4 ในหลักสูตรปัจจุบัน ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับบรรจุให้เป็นครูสอนระดับประถมศึกษา
2)หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) หลักสูตร 2 ปี รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับบรรจุให้เป็นครูสอนระดับมัธยมศึกษา
3)หลักสูตรระดับปริญญาตรีการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.)และปริญญาตรีครุศาสตร์บัณฑิต (ค.บ.) หลักสูตร 4 ปี สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) และหลักสูตร 2 ปี สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.สูง) หลักสูตรระดับปริญญาตรีจะกำหนดให้เรียนวิชาเอกและวิชาโท ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับบรรจุให้เป็นครูสอนระดับมัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา รวมทั้งสอนระดับ ป.กศ.และ ระดับ ป.กศ.สูงด้วย
3.นักเรียนฝึกหัดครูได้รับทุนครูจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ และต่อมานักเรียนฝึกหัดครูส่วนหนึ่งซึ่งมีจำนวนไม่มากนักได้รับทุนคุรุทายาท ผู้ได้รับทุนเรียนครูจะได้ตำแหน่งบรรจุตามที่รัฐกำหนด
(ตัวอย่าง เรียนหลักสูตรครู ป.กศ.จะได้รับทุนสนับสนุนปีละ 1,200 บาท และผู้เรียนหลักสูตร ป.กศ.สูง จะได้รับทุนสนับสนุน ปีละ 2,500 บาท โดยมีเงื่อนผู้รับทุนจะได้รับการบรรจุเป็นครูตามวุฒิที่ได้รับ คือ  ป.กศ.เงินเดือน 600 บาท และ ป.กศ.สูง เงินเดือน 750 บาท กศ.บ.ได้รับเงินเดือน 900 บาท)
 4.จำนวนประชากรและอัตราการเกิด (สำรวจสำมะโนประชากรและเคหะ ครั้งที่ 1 พ.ศ.2503)
ครั้งที่ 1 วันที่ 25 เมษายน 2503 จำนวนประชากร  26,260,916 คน อัตราเพิ่มเฉลี่ยต่อปี(ร้อยละ) 3.20 (พ.ศ.2493 - 2507 ประชากรรุ่น Baby Boom)
###มีชัย วีระไวทยะ รณณรงค์ อย่างหนัก ให้ประชาชนใช้ถุงยางอนามัย เพื่อควบคุมอัตราการเกิด(Birth Contol) ผลของการรณณรงค์ดังกล่าวทำให้อัตราการเกิดค่อยๆลดลง โดยช่วง พ.ศ.2513-2523 อัตราการเกิด เฉลี่ยครอบครัวละ 2-3 คน ดังนี้
ครั้งที่ 2 วันที่ 1 เมษายน 2513 จำนวนประชากร 34,397,374 คน อัตราเพิ่มเฉลี่ยต่อปี(ร้อยละ) 2.76
ครั้งที่ 3 วันที่ 1 เมษายน 2523 จำนวนประชากร 44,824,140 คน อัตราเพิ่มเฉลี่ยต่อปี(ร้อยละ) 2.68   
(พ.ศ.2509 - 2521 ประชากร รุ่น Gen. X)
ครั้งที่ 4 วันที่ 1 เมษายน 2533 จำนวนประชากร 54,548,530 คน อัตราเพิ่มเฉลี่ยต่อปี(ร้อยละ) 1.98 (พ.ศ.2523 - 2543 ประชากร รุ่น Millennials)
(ประชากรไทย อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต / บุญเลิศ เลียวประไพ. - - พิมพ์ครั้งที่ 1. - - นครปฐม : สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 2557.)
###โดยสรุป#สถาบันผลิตครูมีการขยายตัวเชิงปริมาณอย่างรวดเร็วจำนวนมาก แต่ไม่มีการควบคุมการผลิตครูทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากมีความต้องการครูเป็นจำนวนมาก  อันเป็นผลเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรตั้งแต่ยุคเบบี้บูม (Baby Boom)  ที่มีอัตราเพิ่มเฉลี่ยต่อปีสูงสุด ร้อยละ 3.20 ต่อครอบครัว (หนึ่งครอบครัวมีลูกมากกว่า 3 คน) จึงทำให้สิ้นสุดยุคนี้ มีประชากรไทยเพิ่มขึ้นเป็น 54,548,530 คน  กอร์ปกับประชาชนทั่วไปเห็นคุณค่าของการศึกษา  จึงนิยมส่งลูกหลานเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนจำนวนมาก ซึ่งการเพิ่มจำนวนสถาบันผลิตครูจำนวนมากในยุคนี้ ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาการผลิตครูเกินความต้องการในยุคต่อๆไป

 
ยุคที่ 3 ล่มสลายอัตลักษณ์ (พ.ศ. 2538 - 2546) 
###ผมนิยามว่าการผลิตครูยุคนี้เป็นการล่มสลายอัตลักษณ์ เนื่องจากในยุคนี้ไม่มีสถาบันผลิตครูโดยตรงในประเทศไทยอีกต่อไป นับตั้งแต่การเปลี่ยนสถานะจากวิทยาลัยครู เป็นสถาบันราชภัฎ พ.ศ.2538  ซึ่งอีกนัยหนึ่งนับเป็นความก้าวหน้าและความรุ่งเรืองของสถาบันราชภัฎเช่นกัน (ดังนั้นความรุ่งเรืองหรือความล่มสลายจึงอยู่ที่มุมมองของแต่ละคน)
(1) การเริ่มลดลงของประชากร ในการสำรวจ ครั้งที่ 4 วันที่ 1 เมษายน 2533 จำนวนประชากร 54,548,530 คน อัตราเพิ่มเฉลี่ยต่อปี(ร้อยละ) 1.98 การลดลงของอัตราการเกิดของประชากร (หนึ่งครอบครัวมีลูกไม่เกิน 2 คน) ส่งผลให้ปริมาณความต้องการการใช้ครูลดลงอย่างรวดเร็ว 
(2)เปลี่ยนสถานะจากวิทยาลัยครู เป็นสถาบันราชภัฎ พ.ศ.2538 และเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฎ พ.ศ.2547 โดยลำดับ มีการขยายการตั้งคณะใหม่ๆเพิ่มขึ้นอย่างน้อยอีก 4 คณะ เป็นการปรับเปลี่ยนบทบาทของวิทยาลัยครู จากทำหน้าที่ผลิตครูเพียงอย่างเดียว เป็นการผลิตบัณฑิตหลากหลายสาขาวิชา จึงนับเป็นการล่มสลายอัตลักษณ์ของสถาบันผลิตครูในประเทศไทย ทำให้สถาบันผลิตครูโดยตรงมีสถานะเป็นเพียงหน่วยงานระดับคณะในมหาวิทยาลัยเท่านั้น
2.หลักสูตรการผลิตครูเปลี่ยนแปลงไป มีเฉพาะหลักสูตรระดับปริญญาตรีการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.)และปริญญาตรีครุศาสตร์บัณฑิต (ค.บ.) หลักสูตร 4 ปี เพียงหลักสูตรประเภทเดียว แต่มีการขยายวิชาเอกเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก
 3.จำนวนประชากรและอัตราการเกิด (สำรวจสำมะโนประชากรและเคหะ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2543)
ครั้งที่5 วันที่ 1 เมษายน 2543 จำนวนประชากร 60,952,649 คน อัตราเพิ่มเฉลี่ยต่อปี(ร้อยละ) 1.10 (หนึ่งครอบครัวมีลูกเฉลี่ย 1 คน)(พ.ศ.2523 - 2543 ประชากร รุ่น Millennials)
(ประชากรไทย อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต / บุญเลิศ เลียวประไพ. - - พิมพ์ครั้งที่ 1. - - นครปฐม : สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 2557.)
4.มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 มีบัญญัติ มาตรา 43 ให้วิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา เป็นวิชาชีพควบคุม
ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพควบคุม โดยไม่ได้รับใบอนุญาต (เว้นแต่บางกรณีที่ได้รับการยกเว้น)
ในยุคนี้จำนวนสถาบันผลิตครูที่ก่อตั้งเพิ่มขึ้นตามลำดับตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นมีจำนวนเท่าเดิม(แม้ว่าจะแปรสถาพเป็นสถาบันราชภัฎแล้ว) แต่จำนวนนักเรียนลดลงตามลำดับ และจากที่หนึ่งครอบครัวมีลูกเฉลี่ยมากกว่า 3 คน ก็ลดลงเหลือเพียงหนึ่งครอบครัวมีลูกเฉลี่ย 1 คน



 
ยุคที่ 4 กับดักคุณภาพครู (พ.ศ.2547- 2561) 
###การเพิ่มจำนวนสถาบันผลิต กลายเป็นกับดัก
1.สถาบันผลิตครูมีจํานวนทั้งสิ้น 113 สถาบัน จําแนกเป็นสถาบัน อุดมศึกษาของรัฐ 20 แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 7 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่ง มหาวิทยาลัยเอกชน 42 แห่ง มหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง สถาบันการพลศึกษา 1 แห่ง และสถาบัน บัณฑิตพัฒนศิลป์ 1 แห่ง จํานวนสถาบันผลิตครูดังกล่าวมีคณะ/วิทยาเขต/วิทยาลัย ตั้งกระจายอยู่ ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 32 แห่ง ภาคเหนือ 25 แห่ง ภาคกลาง 42 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 45 แห่ง ภาคใต้ 20 แห่ง ภาคตะวันออก 6 แห่ง และภาคตะวันตก 6 แห่ง รวมทั้งสิ้น 176 แห่ง” (สํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, 2558) ทั้งนี้ยังไม่นับจำนวนสถาบันผลิตครูของเอกชนอีกจำนวนหนึ่งด้วย และมีผลผลิตของสถาบันผลิตครู โดยประมาณการผู้สําเร็จการศึกษาจากสถาบันผลิตครูที่คาดว่าจะจบการศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 ถึง ปีการศึกษา 2560 ทั้งประเภทครุศาสตร์ทั่วไปและครุศาสตร์อุตสาหกรรม คาดว่ามีผู้ที่จบการศึกษาประเภทครุศาสตร์ทั่วไปมากที่สุดในปีการศึกษา 2559 จํานวน 60,798 คน รองลงมาปีการศึกษา 2560 จํานวน 52,570 คน สําหรับประเภทครุศาสตร์อุตสาหกรรม คาดว่าจะมี ผู้จบการศึกษามากที่สุดในปีการศึกษา 2560 จํานวน 2,730 คน รองลงมาปีการศึกษา 2559 จํานวน 2,561 คน”(รายงานผลการศึกษาสถานภาพการผลิตและพัฒนาครูในประเทศไทย สํานักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ,2558)
2.พ.ศ.2547 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี เป็นหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาครูศาสตร์และสาขาศึกษาศาสตร์ (หลักสูตร 5 ปี) โดยมีโครงสร้างตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์และสาขาศึกษาศาสตร์ (หลักสูตรห้าปี) เพิ่มหน่วยกิตและเวลาเรียนรายวิชามากขึ้น และเพิ่มเวลาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูเป็น 1 ปี
โครงสร้างของหลักสูตร จำนวนหน่วยกิตรวม ไม่น้อยกว่า 160 หน่วยกิต
3.มีการจัดสรรทุนครูพันธุ์ใหม่ในปี พ.ศ.2547 จำนวน 2,500 ทุนเพียงปีเดียว และกลับมาจัดสรรทุนอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ.2562 และปีต่อๆมาแบบไม่ต่อเนื่องกันและมีจำนวนทุนไม่มาก นโยบายการให้ทุนการศึกษาขาดความต่อเนื่อง การคัดสรรผู้รับทุนที่สมควรต้องเลือกจากผู้ที่เข้าเรียนในปีการศึกษาแรก มีเพียง ปี พ.ศ.2562 ที่คัดผู้เรียนก่อนเข้าเรียน
4. การลดลงของอัตราการเกิดของประชากร ระหว่าง พ.ศ.2543-2553 อัตราเพิ่มเฉลี่ยต่อปี ร้อยละ 0.69 ส่งผลให้ปริมาณความต้องการการใช้ครูลดลงอย่างรวดเร็ว จากจำนวนอัตราการเกิดที่ลดลง โดยมีอัตราเพิ่มเฉลี่ยต่อปี(ร้อยละ) 0.69 และมีแนวโน้มว่าอัตราการเกิดลดลงเรื่อยๆ แต่จำนวนสถาบันผลิตครูมีจำนวนคงที่สำหรับการผลิตครูเฉลี่ยปีละประมาณ 50,000 คน ในขณะที่อัตราบรรจุครูเฉลี่ย 15,000 คนคนต่อปี ทำให้ปริมาณการผลิตครูเกินความต้องการการใช้ครูจำนวนมาก (Supply over Demand)ปีละไม่น้อยกว่า 35,000 คน
5.มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี  สาขาครุศาสตร์และสาขาศึกษาศาสตร์ (หลักสูตรห้าปี) ประกาศ ณ วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2554
#สรุป มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลักสูตรครูปริญญาตรี จากสี่ปี เป็นห้าปีโดยสถาบันผลิตครูยังมีจำนวนเท่าเดิม แต่จำนวนประชากรมีอัตราเพิ่มเฉลี่ยต่อไป(ร้อยละ) 0.69 (สองครอบครัวมีลูกเฉลี่ย 1 คน) ส่งสัญญาณการผลิตครูเกินความต้องการการใช้ครูมากขึ้น และมีหลักสูตรบางสาขาวิชาเอกไม่มีผู้เรียน ทำให้สถาบันผลิตครูต้องปรับหลักสูตรเพื่อรองรับจำนวนผู้เรียนที่ลดลงตามลำดับ
ยุคที่ 5 กลยุทธ์สู่การพลิกโฉม (พ.ศ.2562 - ปัจจุบัน)
###ปัญหาเรื้อรังของการผลิตครูของประเทศไทยในปัจจุบัน คือ จำนวนสถาบันผลิตครูมีมากเกินไป มีสาขาวิชาเอกจำนวนมากที่ไม่มีผู้เรียน หรือเรียนไปก็ตกงานเพราะไม่มีอัตราบรรจุผู้เรียนไม่มีคุณภาพ
1.สถาบันผลิตครูที่มีหลักสูตรผ่านการรับรองของคุรุสภา มีจำนวนสถาบันผลิตครู ทั้งภาครัฐ 99 สถาบัน และเอกชน 32 สถาบัน รวมทั้งสิ้น 131 สถาบัน ประกอบด้วย 1)กลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐ 22 สถาบัน 2)กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฎ 38 สถาบัน 3)กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี 10 สถาบัน 4)กลุ่มสถาบันพัฒนศิลป์ 12 สถาบัน 5)กลุ่มสถาบันการพลศึกษา 17 สถาบัน 6)กลุ่มสถาบันเอกชน 32 สถาบัน
(รายชื่อสถาบันที่เปิดหลักสูตรคุรุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ทั่วประเทศ ที่ได้รับการรับรองหลักสูตรจากคุรุสภา)
2.มีการปรับหลักสูตรครูปริญญาตรีเหลือ 4 ปี  ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาครูศาสตร์และสาขาศึกษาศาสตร์ (สี่ปี) โดยกำหนดให้เรียนวิชาเอกเดี่ยว ไม่น้อยกว่า 130 หน่วยกิต วิชาเอกโท ไม่น้อยกว่า 140 หน่วยกิต และวิชาเอกคู่ ไม่น้อยกว่า 150 หน่วยกิต โดยมีการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาไม่น้อยกว่า 1 ปี
3.มีจำนวนอัตราการรับบรรจุครู สพฐ. สำหรับนิสิตนักศึกษาที่เข้าเรียนในปีการศึกษา 2565 (สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ.2569) จำนวน 35 วิชาเอก เพียงจำนวน 6,346 อัตรา
4.จำนวนประชากร ประมวลจากรายงานการคาดประมาณประชาดรของประเทศไทย พ.ศ.2553-2583 (ฉบับปรับปรุง) (สตช.,2562ก)
1)พ.ศ.2563 ประชากร 66.5 ล้านคน อายุ0-14 ปี 11.2 ล้านคน อายุ 15-59 ปี 43.3 ล้านคน อายุ 60 ปีขึ้นไป 12.0 ล้านคน
2)พ.ศ.2573 ประชากร 67.1 ล้านคน อายุ 0-14 ปี 9.9 ล้านคน อายุ 15-59 ปี 40.1 ล้านคน อายุ  60 ปีขึ้นไป 17.1 ล้านคน
3)พ.ศ.2583 ประชากร 65.4 ล้านคน อายุ 0-14 ปี 8.4 ล้านคน อายุ 15-59 ปี 36.5 ล้านคน อายุ 60 ปีขึ้นไป 20.5 ล้านคน 


โดยสรุป จะเห็นว่าประชากรวัยเรียนจะลดลงตามลำดับ ในชณะที่ประชากรผู้สูงวัยจะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับเช่นกัน ส่งผลให้ความต้องการในการใช้ครูเชิงปริมาณมีความจำเป็นน้อยลงมาก
จากข้อมูลความต้องการครูของ สพฐ.ในปี พ.ศ.2573 มีความต้องการครูเพียง 5,528 อัตรา เท่านั้น

โดยสรุป แม้ว่าจะมีการปรับปรุงหลักสูตรครูปริญญาตรีเหลือ 4 ปี และใช้แนวทางการผลิตครูของ NIE:National Institute of Education เพื่อพัฒนาคุณภาคครูสู่สากล แต่การที่มีสถาบันผลิตครูจำนวนมาก ส่งผลให้การพัฒนาคุณภาพการผลิตครูไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร รวมทั้งการที่ประชากรไทยวัยเรียนลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการครูเชิงปริมาณลดลงตามลำดับด้วยเช่นกัน
กรุณาอ่านต่อ ตอนที่ 2 สถาบันผลิตครูต้องไม่ดิ่งเหว: ถึงเวลาที่รัฐต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลจาก :: เฟซบุ๊กรองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก
  • 18 เม.ย. 2565 เวลา 16:13 น.
  • 1,568

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

^