LASTEST NEWS

29 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันฯ ครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 29 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันฯ ครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ (ต่อ) 29 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการสอบ ภาค ก ตำแหน่ง ผอ. - รองผอ.สถานศึกษา ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ (ต่อ) 29 เม.ย. 2567สพป.นครศรีธรรมราช เขต 2 ประกาศรับสมัครสอบครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 จำนวน 26 อัตรา ตั้งแต่ 8-14 พ.ค.2567 29 เม.ย. 2567สพป.อุดรธานี เขต 4 ประกาศรับสมัครสอบครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 จำนวน 36 อัตรา ตั้งแต่ 8-14 พ.ค.2567 29 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 29 เม.ย. 2567สพม.ศรีสะเกษ ยโสธร ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพม.ศรีสะเกษ ยโสธร 29 เม.ย. 2567สพป.สิงห์บุรี ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.สิงห์บุรี 29 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 29 เม.ย. 2567สพม.กรุงเทพมหานคร เขต 2 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพม.กรุงเทพมหานคร เขต 2

“ข้าราชการ”เกษียณแล้วได้อะไรจากราชการ

  • 31 ก.ค. 2562 เวลา 20:35 น.
  • 24,642
“ข้าราชการ”เกษียณแล้วได้อะไรจากราชการ

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

“ข้าราชการ”เกษียณแล้วได้อะไรจากราชการ

 “ข้าราชการ” คือ บุคคลซึ่งรับการบรรจุแต่งตั้งให้รับราชการปฏิบัติหน้าที่ และรับเงินเดือนในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ของประเทศไทย ผู้ที่เป็น ”ข้าราชการ” ถือว่ามี “อาชีพรับราชการ” ซึ่งเป็นอาชีพ ๆ หนึ่ง ในประเทศไทยและเกือบทุกประเทศทั่วโลก ถึงเป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่สูงนัก แต่ก็เป็นอาชีพที่มีความมั่นคง มีสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ดี มีเกียรติในสังคม และที่สำคัญได้ทำหน้าที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชน  


“ข้าราชการ” ในประเทศไทย มีหลายประเภท ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการรัฐสภา ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้าราชการการเมือง หรือข้าราชการส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งข้าราชการแต่ละประเภทก็จะได้รับสิทธิและประโยชน์จากทางราชการไปในแนวเดียวกัน  


สิทธิและประโยชน์ตอบแทนจากทางราชการมีอะไรบ้าง? 


“ข้าราชการ” ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการตำแหน่ง ประเภทใด หรือทำงานที่ส่วนราชการใด ก็จะได้รับสิทธิและประโยชน์ตอบแทนจากทางราชการมากมาย ทั้งในระหว่างรับราชการอยู่ เมื่อออกจากราชการแล้ว และการช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิต ได้แก่ 


1. สิทธิและประโยชน์ตอบแทนระหว่างรับราชการ ได้แก่  เงินเดือน เงินวิทยฐานะ เงินประจำตำแหน่ง เงินค่าตอบแทนตำแหน่ง เงินค่าเช่าบ้าน เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร เงินค่าทดแทน การสงเคราะห์เนื่องจากได้รับอันตรายหรือการป่วยเจ็บเพราะเหตุปฏิบัติราชการ สิทธิเกี่ยวกับการลา เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรืออายุราชการทวีคูณ เป็นต้น 


2. สิทธิและประโยชน์ตอบแทนในการปฏิบัติราชการพิเศษหรือเพิ่มขึ้นจากปกติได้แก่  ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการและการฝึกอบรม ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง  ค่าเช่าที่พัก  ค่าพาหนะ เงินตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ เงินตอบแทนการเป็นกรรมการหรือปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ เป็นต้น 


3. สิทธิและประโยชน์ตอบแทนเมื่อพ้นจากราชการแล้ว ได้แก่ เงินบำเหน็จ เงินบำนาญ เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร หรือเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เป็นต้น 


4.สวัสดิการและสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิต ได้แก่ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ เงินบำเหน็จตกทอด การขอพระราชทานเพลิงศพ การขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เป็นต้น  


สิทธิและประโยชน์ตอบแทนอะไรบ้างเมื่อพ้นจากราชการกรณีเกษียณอายุราชการ? 


การพ้นจากราชการของข้าราชการมีหลายกรณี เช่น ลาออก ปลดออก ให้ออก แต่ข้อเขียนนี้จะกล่าวถึงเฉพาะการพ้นจากราชการกรณีเกษียณอายุราชการเท่านั้น มีประเด็นสำคัญดังนี้  


1. กฎหมายใดที่กำหนดการเกษียณอายุราชการของข้าราชการเอาไว้? 


“เจ้าหน้าที่ภาครัฐ” ทุกประเภทตำแหน่ง มีกฎหมายกำหนดการเกษียณอายุราชการไว้เป็นการเฉพาะ สำหรับ “ข้าราชการ”การเกษียณอายุราชการ กำหนดไว้ใน มาตรา 19 ของพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ที่กำหนดว่า “ข้าราชการซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้ว เป็นอันพ้นจากราชการ เมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ข้าราชการนั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์” และในกฎหมายของการบริหารงานบุคคลของข้าราชการแต่ละประเภทก็จะกำหนดไว้อีกชั้นหนึ่งถึงการเกษียณอายุราชการ ตัวอย่างเช่น ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กำหนดไว้ใน มาตรา 107(2) ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547และแก้ไขเพิ่มเติมว่า“ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาออกจากราชการเมื่อพ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ” ดังนั้น “ข้าราชการซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้วต้องเป็นอันพ้นจากงานเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่อายุครบหกสิบปีบริบูรณ์นั้น” (ผู้เกษียณอายุราชการปีงบประมาณ 2559 คือ ผู้ที่เกิดระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2489- วันที่ 1 ตุลาคม 2499 หรือผู้เกษียณอายุราชการปีงบประมาณ 2560 คือ ผู้ที่เกิดระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2499- วันที่ 1 ตุลาคม 2500)   


2. ค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ที่ผู้รับบำนาญจะได้รับจากราชการมีอะไรบ้าง? 


   ข้าราชการที่เกษียณอายุราชการ คนทั่วไปเรียกว่า “ข้าราชการบำนาญ” ภาษากฎหมายใช้คำว่า “ผู้รับบำนาญ” จะได้รับค่าตอบแทน สิทธิและประโยชน์จากทางราชการหลายอย่าง เพื่อเป็นการตอบแทนที่ทำงานให้กับราชการจวบจนเกษียณอายุราชการ เพื่อให้มีความมั่นคง มีคุณภาพชีวิตหลังเกษียณที่ดี ดังนี้ 


    2.1 เงินบำเหน็จบำนาญ สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข. 


         ผู้รับบำนาญ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 หรือ เคยเป็นสมาชิก กบข. แต่กลับมารับบำเหน็จบำนาญ(UNDO) ตามพระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 พ.ศ. 2557 มีสิทธิและสามารถเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญ ตามสูตรคำนวณดังนี้  


        - บำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x เวลาราชการ (รับก้อนเดียว)  


        - บำนาญ  = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x เวลาราชการ  (รับรายเดือนไปจนตาย) 
                                                50 

       โดยเวลาราชการรวมเวลาทวีคูณด้วย โดยให้นับจำนวนปีเศษของปีถ้าถึงครึ่งปีให้นับเป็น 1 ปี เช่น 25 ปี 6 เดือน จะคิดเป็น 26 ปี  25 ปี 5 เดือน คิดเป็น 25 ปี (ไม่มีทศนิยม)   คลิกอ่านข้อเขียนเวลาทวีคูณประโยชน์ต่อข้าราชการครูแค่ไหนอย่างไร  


   2.2 เงินบำเหน็จบำนาญ และเงินจาก กบข.สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิก กบข.ให้ได้รับบำเหน็จบำนาญ และเงินก้อนจาก กบข.และผลตอบแทน ดังนี้  


     1) เงินบำเหน็จบำนาญ ตามสูตรคำนวณดังนี้  


        - บำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย X เวลาราชการ (รับก้อนเดียว)  


        - บำนาญ  = เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x เวลาราชการ (รับรายเดือนไปจนตาย)      
                                                    50 

        มีเงื่อนไขคือเงินบำนาญได้ไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย และเวลาราชการรวมเวลาทวีคูณด้วย โดยให้นับจำนวนปีรวมทั้งเศษของปีด้วยในการนับเศษของปี ให้นับ 12 เดือนเป็น 1 ปี และ360 วันเป็น 1 ปี เช่น  25 ปี 6 เดือน คิดเป็น 25.5 ปี เวลาราชการที่จะนำไปคำนวณ คือ 25.5  คลิกอ่านข้อเขียนเวลาทวีคูณประโยชน์ต่อข้าราชการครูแค่ไหนอย่างไร 

     2) เงินก้อนจาก กบข. ประกอบด้วย เงินชดเชย เงินประเดิม เงินสะสม เงินสมทบและเงินจากผลประโยชน์ตอบแทน  เงินส่วนนี้เป็นเงินก้อนใหญ่ที่ทาง กบข. จัดให้  ซึ่งผู้รับบำนาญที่เป็นสมาชิก กบข.สามารถตรวจสอบได้จากใบแจ้งยอดของ กบข. ที่แจ้งมาให้รับทราบในทุกสิ้นปี พร้อมกับหลักฐานเพื่อการลดหย่อนภาษีประจำปีของสมาชิกแต่ละคน หรือสอบถามไปโดยตรงที่กองทุน กบข. คลิกเว็บไซต์กองทุน กบข.    


   2.3 เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร 


         พระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตร พ.ศ. 2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดว่า สวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร  เป็นเงินที่ทางราชการช่วยเหลือเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการศึกษาสำหรับบุตรข้าราชการ ลูกจ้างประจำ หรือผู้ได้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ดังนั้นข้าราชการที่เกษียณอายุราชการถือว่าเป็นผู้รับบำนาญ จึงเกิดสิทธิ์ตามระเบียบและหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตร สรุปสาระสำคัญดังนี้ 


         1) บุตรของผู้มีสิทธิ์ที่ได้รับสวัสดิการ หมายถึง บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีอายุครบ 3 ปีแต่ไม่เกิน 25 ปี ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมและบุตรซึ่งบิดามารดาได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่น บุตรที่มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเกี่ยวกับเงินการศึกษาของบุตร ให้ได้ 3 คน 


         2) สถานศึกษาที่บุตรเข้าเรียนและสามารถใช้สิทธิ์ได้ ได้แก่ สถานศึกษาของทางราชการ (มหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย) สถานศึกษาเอกชน (มหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน รวมถึงโรงเรียนนานาชาติ) 


         3) เงินที่จ่ายไปสามารถนำมาใช้สิทธิ์เบิกคืนได้ ได้แก่ เงินบำรุงการศึกษา(สถานศึกษาของทางราชการเรียกเก็บ) เงินค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการเรียน (สถานศึกษาของเอกชนเรียกเก็บ) ทั้งนี้ตามรายการและจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการในหลักสูตรระดับไม่สูงกว่าอนุปริญญาหรือเทียบเท่าและหลักสูตรนั้นแยกต่างหากจากหลักสูตรปริญญาตรี ให้ได้รับเงินบำรุงการศึกษาเต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง เช่น ศึกษาในสถานศึกษาของราชการในหลักสูตรระดับปริญญาตรี ให้ได้รับเงินบำรุงการศึกษาเต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง สถานศึกษาของเอกชนในหลักสูตรระดับไม่สูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า  ให้ได้รับเงินค่าเล่าเรียนเต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง ศึกษาในสถานศึกษาของเอกชนในหลักสูตรระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าแต่ไม่สูงกว่าอนุปริญญาหรือเทียบเท่า และหลักสูตรนั้นแยกต่างหากจากหลักสูตรระดับปริญญาตรี ให้ได้รับเงินค่าเล่าเรียนครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง หรือ บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของเอกชนในหลักสูตรระดับปริญญาตรีให้ได้รับเงินค่าเล่าเรียนครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง เป็นต้น 


         4) การใช้สิทธิ์เบิกสวัสดิการการศึกษาบุตร ให้ผู้มีสิทธิ์เป็นผู้ใช้ หากกรณีผู้มีสิทธิมีคู่สมรสเป็นข้าราชการ หรือลูกจ้างประจำ หรือผู้ได้รับบำนาญ (ที่มีสิทธิ์เหมือนกัน)ให้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิขอรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรทุกคนแต่เพียงฝ่ายเดียว 


         5) การยื่นเรื่องขอเบิกเงินสวัสดิการการศึกษาบุตร กรณีสถานศึกษาเก็บเงินเป็นรายภาคเรียน ให้นำหลักฐานยื่นขอเบิกภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันเปิดภาคเรียนของแต่ละภาคหรือกรณีสถานศึกษาเก็บเงินเป็นรายปีการศึกษาต้องยื่นหลักฐานขอเบิกภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันเปิดภาคเรียนแรกของปีการศึกษานั้น ๆ โดยทำเรื่องและยื่นต่อผู้มีอำนาจอนุมัติ ต่อส่วนราชการสังกัด (ส่วนราชการเดิมตอนที่รับราชการอยู่) 

        6) การรับเงินสวัสดิการการศึกษาบุตร เมื่อส่วนราชการได้รับเรื่อง ตรวจสอบ อนุมัติการเบิกจ่ายแล้ว ส่วนราชการผู้เบิกจะโอนเงินสวัสดิการนี้เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีสิทธิ์ตามที่ได้แจ้งไว้ต่อส่วนราชการนั้นๆ  


    2.4 เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล 


        พระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดว่า สวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เป็นเงินที่ทางราชการช่วยเหลือเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสำหรับตัวผู้มีสิทธิ์เอง (ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ผู้รับบำนาญ) และบุคคลในครอบครัวของผู้มีสิทธิ์ ดังนั้นข้าราชการที่เกษียณอายุราชการถือว่าเป็นผู้รับบำนาญ จึงเกิดสิทธิ์ตามระเบียบและหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวการรักษาพยาบาล สรุปสาระสำคัญดังนี้ 


        1) สิทธิในการใช้สวัสดิการ สำหรับตนเอง (ผู้รับบำนาญ) บิดาและมารดา คู่สมรส และบุตร กรณีบุตรนั้นให้ไม่เกิน 3 คน เรียงลำดับก่อนหลัง โดยต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย และยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือบรรลุนิติภาวะแต่เป็นผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถที่อยู่ในอุปการะเลี้ยงดูของข้าราชการ (ไม่รวมบุตรบุญธรรมและบุตรที่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมผู้อื่น)  หากบุตรคนใดตายลงก่อนบรรลุนิติภาวะให้สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลสำหรับบุตรคนถัดไปแทนได้ (กรณีบุตรมากกว่า 3 คน) 


       2) ค่ารักษาพยาบาลที่สามารถเบิกได้ ได้แก่ ค่ายา ค่าเลือด และส่วนประกอบของเลือดหรือสารทดแทนค่าน้ำยา หรืออาหารทางเส้นเลือด ค่าออกซิเจน ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค รวมทั้งค่าซ่อมแซม ค่าบริการทางการแพทย์  ค่าตรวจ  ค่าวิเคราะห์โรค ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าตรวจสุขภาพประจำปี (เบิกได้เฉพาะตนเอง) และอื่นๆ ตามระเบียบที่สามารถเบิกได้ 


       3) อัตราค่ารักษาพยาบาล ในสถานพยาบาลของรัฐ เบิกได้เต็มตามที่จ่ายจริงทั้งคนไข้ในและคนไข้นอก  หากเป็นสถานพยาบาลของเอกชน เบิกได้เฉพาะกรณีที่มีอุบัติเหตุ อุบัติภัย หรือมีความจำเป็นรีบด่วน  ซึ่งหากมิได้รับการรักษาพยาบาลในทันทีทันใดอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต  ทั้งนี้เบิกได้ตามอัตราที่ระเบียบกำหนด 


       4) การยื่นเรื่องขอเบิก กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกสถานพยาบาลของทางราชการ หรือกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของเอกชนประเภทผู้ป่วยในกรณีประสบอุบัติเหตุ อุบัติภัย เหตุจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากมิได้รับการรักษาพยาบาลทันทีทันใดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือกรณีใช้สิทธิเบิกเพิ่มเฉพาะส่วนที่ยังขาดอยู่ ให้ยื่นใบเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลพร้อมหลักฐานขอเบิกต่อส่วนราชการผู้เบิก ภายในระยะเวลา 1 ปีนับถัดจากวันที่ปรากฏในหลักฐานการรับเงิน 


       5) การขอหนังสือรับรองการมีสิทธิรับเงินค่ารักษาพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยในสถานพยาบาล ให้ยื่นคำขอที่ส่วนราชการผู้เบิก และให้ส่วนราชการจัดทำหนังสือรับรองโดยมอบต้นฉบับให้ผู้ยื่นคำขอเพื่อนำไปมอบให้แก่สถานพยาบาล 


       6) การเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลด้วยระบบเบิกจ่ายตรง กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยในสถานพยาบาลของทางราชการ หรือกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยในสถานพยาบาลของเอกชนตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด หรือกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของเอกชนเป็นครั้งคราวเพราะเหตุสถานพยาบาลของทางราชการมีความจำเป็นต้องส่งตัวให้แก่สถานพยาบาลของเอกชน ให้สถานพยาบาลเป็นผู้เบิกเงินค่ารักษาพยาบาลโดยตรงกับกรมบัญชีกลาง 


       7) การขอเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกสถานพยาบาลของทางราชการ ผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัว ซึ่งเข้าสู่ระบบเบิกจ่ายตรงแล้ว อาจขอให้สถานพยาบาลเป็นผู้เบิกแทนก็ได้ 


       8) กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยในสถานพยาบาลของทางราชการ ให้ผู้มีสิทธิยื่นคำขอหนังสือรับรองการมีสิทธิรับเงินค่ารักษาพยาบาล (ตามข้อ5) หรือ ให้สถานพยาบาลขอเลขอนุมัติผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตกับหน่วยงานที่กรมบัญชีกลางมอบหมาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลก็ได้ 

       9) การรับเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล กรณีส่งหลักฐานเบิก เมื่อส่วนราชการได้รับเรื่อง ตรวจสอบ อนุมัติการเบิกจ่ายแล้ว ส่วนราชการผู้เบิกจะโอนเงินสวัสดิการนี้เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีสิทธิ์ตามที่ได้แจ้งไว้ต่อส่วนราชการนั้นๆ  


         จะเห็นได้ว่า ข้าราชการที่เกษียณอายุราชการเป็นผู้รับบำนาญ ยังได้รับสิทธิและประโยชน์จากทางราชการ ทั้งที่เป็นเงินก้อนรับครั้งเดียวจากการรับบำเหน็จ หรือเงินก้อนจากการเป็นสมาชิก กบข. หรือเงินบำนาญที่รับเป็นรายเดือน โดยส่วนราชการจะโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารที่ได้แจ้งไว้ สวัสดิการบางอย่างยังคงอยู่ เช่น สวัสดิการการศึกษาของบุตรและการรักษาพยาบาล เพราะถือว่าจำเป็นต่อคุณภาพชีวิตและอนาคตของบุตรหลานของผู้เกษียณ แต่สวัสดิการบางอย่างจะถูกตัดไป ดังนั้นรายได้รวมทั้งเงินบำนาญที่ได้รับรายเดือนนั้นโดยรวมจะน้อยกว่าตอนที่รับราชการอย่างแน่นอน  จะต้องระมัดระวัง วางแผนในการใช้จ่ายเงิน อย่างประหยัดและที่จำเป็นเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ต้องดูแล รักษาสุขภาพ ออกกำลังกายและรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม  เพราะถือว่าเป็นผู้สูงอายุ อัตราการเจ็บป่วยจะมีโอกาสมากกว่าตอนเป็นหนุ่ม การบำรุงดูแลสุขภาพจิตใจตนเองก็เป็นเรื่องสำคัญ หมั่นฝึกฝน เข้าวัดปฏิบัติธรรมก็จะทำให้ช่วยได้ และมั่นใจว่าผู้เกษียณคงได้รับการแนะนำ ศึกษาค้นคว้าเพื่อเตรียมการให้การดำรงชีวิตในวัยเกษียณอย่างมีคุณค่าและเป็นสุข 


บวร  เทศารินทร์  


อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.sobkroo.com
  • 31 ก.ค. 2562 เวลา 20:35 น.
  • 24,642

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

^