LASTEST NEWS

08 พ.ค. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันฯ ครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 08 พ.ค. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการสอบคัดเลือกฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 07 พ.ค. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการสอบคัดเลือกฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 07 พ.ค. 2567(( ลิงก์เว็บไซต์ )) รับสมัครสอบครูผู้ช่วย รอบทั่วไป สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ.2567 ตั้งแต่วันที่ 8-14 พ.ค.2567 07 พ.ค. 2567สอบครูผู้ช่วยปี67รอบทั่วไป เลือกสมัครได้เขตเดียว เข้มสกัดทุจริต 05 พ.ค. 2567‘เพิ่มพูน’ ยันโรงเรียนห้ามกั๊กการออกใบเกรดหากเด็กค้างค่าเทอม 05 พ.ค. 2567ก.ค.ศ.เดินหน้ารื้อระบบ ศน.ใหม่ ยกเครื่อง ปรับบทบาทหน้าที่ เพิ่มคุณสมบัติ ดึงบุคลากรคุณภาพพัฒนาคุณภาพการศึกษา 04 พ.ค. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันฯ ครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ (ต่อ) 04 พ.ค. 2567สพม.ชัยภูมิ ประกาศรับสมัครสอบครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 จำนวน 4 อัตรา ตั้งแต่ 8-14 พ.ค.2567 04 พ.ค. 2567สพป.ชัยภูมิ เขต 3 ประกาศรับสมัครสอบครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 จำนวน 5 อัตรา ตั้งแต่ 8-14 พ.ค.2567

"ครูดี" ไม่มีเสื่อม

  • 18 พ.ย. 2558 เวลา 10:32 น.
  • 2,392
"ครูดี" ไม่มีเสื่อม

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

"ครูดี" ไม่มีเสื่อม

          เรื่อง : ชุติมา ซุ้นเจริญ
          เรื่องราวของครูผู้ไม่เสื่อมศรัทธา ไม่เสื่อมเสีย และยังไม่เสื่อมสลายไปจากสังคมไทย

          เมื่อสังคมใส่เครื่องหมายคำถามตัวโตให้กับตัวตนของคนรุ่นใหม่ ระบบการศึกษา ซึ่งมีคุณครูเป็นคนคัดท้ายจึงกลายเป็นจำเลยในหลายกรณี โดยเฉพาะรูปแบบการเรียนการสอนที่ไม่เอื้อให้เด็ก "คิดเป็น" แม้จะผ่านแนวคิดการปฏิรูปการศึกษามาแล้วหลายยุคหลายสมัย แต่ดูเหมือนว่าสังคมไทยยังไม่อาจเปลี่ยนจากระบบ "การสอนความรู้" เป็น "สร้างการเรียนรู้" โดยมีเด็กเป็นศูนย์กลางได้อย่างแท้จริง ครู จึงตกเป็นเป้าของการ "เปลี่ยน" ที่ได้ผล
          อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ครูดีไม่เคย หายไปจากสังคมไทย ทว่าการเติมกำลังใจให้ครูผู้เสียสละเหล่านี้มีน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับภาระหน้าที่และคำวิพากษ์วิจารณ์ ล่าสุดมูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการปฎิรูปการศึกษาและพัฒนาครูจำนวน 22 ภาคี ได้จัด "เวทีพูน พลังครู" เพื่อถอดประสบการณ์ครูต้นแบบ ในการพัฒนาทักษะนิสัยให้เด็ก พร้อมไปกับสร้างแรงบันดาลให้กับเพื่อนครูที่จะต้อง รับบทหนักในการสร้างพลเมืองคุณภาพแห่งศตวรรษที่ 21
          และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าจากคุณครูผู้ใช้ความรักเป็นเดิมพัน เรื่องราวที่ช่วยเติมเต็มค่าของครูให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

          ผิดเป็น"ครู"
          ถึงจะไม่ได้สอนในโรงเรียนเรือนแพแบบครูแอนในภาพยนตร์คิดถึงวิทยา แต่ "ครูแอน" ของนักเรียนโรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม จ.สมุทรสาคร ก็มีเรื่องราวความรักความผูกพันกับลูกศิษย์ที่ซาบซึ้งใจไม่แพ้กัน
          ครูศรีวรรณ ฉัตรสุริยวงศ์ เล่าย้อนเหตุการณ์สมัยเริ่มต้นงานสอนใหม่ๆ ว่า เคยตัดสินเด็กคนหนึ่งผิด เพราะความอ่อนด้อยประสบการณ์ แต่นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอหันมาทำความเข้าใจนักเรียนแต่ละคนด้วยความใส่ใจ
          "การเรียนรู้ลูกศิษย์เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่รู้ตัวตนของเขา เราจะแก้ปัญหา เขาไม่ได้ ครูแอนเคยตัดสินคนผิดสองครั้ง แล้วมันก็อยู่ในความทรงจำที่แย่มากของเรา"
          ไอ้แห้ง คือเด็กนักเรียนประวัติโชกโชนที่ถูกส่งมาเป็นลูกครูแอน เพื่อให้คอยดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
          "ไอ้แห้งติดยา เพิ่งออกมาจากคุก ไม่เคยใส่เสื้ออยู่ในกางเกง รองเท้าไม่เคยใส่ เอ...ทำไมครูใหญ่ต้องให้มาเป็นลูกเราด้วยนะ เบื่อจังเลยเด็กคนนี้ คือเรารู้ว่าเขาติดยา แล้วเราก็ตัดสินเขาด้วยความรู้สึกไม่ชอบ ครูแอนก็ไปบอกครูใหญ่ เนี่ยซื้ออะไรมากิน ไอ้แห้งมันก็เอาไปกินหมด เวลามันโมโหขึ้นมามันก็ถีบโต๊ะเป็นรอยเป็นหลุมไปหมด ข้างหลังก็มีมีด มีอาวุธพร้อมไปลุย เปลี่ยนคนได้มั้ย ครูใหญ่ก็บอกไม่ได้หรอก ต้องเป็นแกนั่นแหละ ดูแลมันให้ดีๆ เลยนะ เราก็อึดอัดมากเลย มีความรู้สึกว่าเด็กคนนี้ไม่ดี"
          คำพูดแรงๆ คือวิธีการแรกๆ ที่ครูใช้กำราบลูกศิษย์คนนี้ แต่มันกลับกลายเป็นการซ้ำเติมให้เขาแย่ลงไปอีก จนวันหนึ่งไอ้แห้งปวดท้องอย่างรุนแรง ทั้งที่รู้ว่านั่นคืออาการอยากยา แต่ครูแอนก็ตัดสินใจไม่ตัดอนาคตเขาด้วยการไปฟ้องฝ่ายปกครอง
          "ครูแอนกลับมาพร้อมยาพาราเซตามอล 2 เม็ด ไอ้แห้งคลานออกมากราบเท้า เรียกว่าแม่เลย ...ครูก็รู้ว่าผมไม่ได้ปวดท้อง เราก็บอกไม่เป็นไร เราจะจับมือไปด้วยกัน"
          หลังจากวันนั้นครูแอนไปดูสภาพความเป็นอยู่ของแห้งที่บ้าน และพบว่าทุกวัน เขาจะต้องปอกขิงกองมหาศาลเพื่อเลี้ยงยาย จนหลายครั้งไม่ได้หลับไม่ได้นอน
          "เหมือนโดนตบหน้าแรงๆ เราเข้าใจเลยค่ะว่าทำไมเขาถึงเป็นแบบนี้... แล้วทำไมถึงไม่มี ใครสนใจชีวิตเธอ แล้วทำไมเธอถึงได้ถูกไม้แขวนเสื้อตีทุกวัน ทำไมเธอถึงเป็นคนก้าวร้าว เขาชี้ให้ดูผู้ชายคนหนึ่ง หน้าเหมือนกันมาก ทีแรกเราก็นึกว่าเป็นพ่อ แต่เขาบอกเป็น คนข้างบ้าน นั่นแหละเหตุผลที่เขาโดนทำร้ายตลอดเวลา เขาไม่เคยได้รับความรักเลย เขาจึงเป็นแบบนี้"
          ครูแอนบอกว่า ในความเป็นครูไม่มีใคร ไม่ผ่านการลองผิดลองถูก แต่ด้วยความตระหนักในภาระหน้าที่ที่จะต้องพาลูกศิษย์ไปให้ถึงฝั่ง เธอจึงค่อยๆ ปรับวิธีคิด ปรับรูปแบบ การเรียนการสอน จนได้รับการยอมรับในฐานะครูผู้สร้างแรงบันดาลใจ
          "วิธีการสอนเด็กคือต้องได้ใจเขามา ถ้าได้ใจเขาทุกอย่างจะง่ายหมด ความใส่ใจของครูมันจะลงไปถึงเขา เด็กจะสัมผัสได้จากความจริงใจ ไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้ม การกอด การสัมผัส และถ้าเขารู้ว่าเรารัก เราปรารถนาดี เขาจะสะท้อนความรักกลับมา เขาจะไม่ทำให้คนที่เขารักเสียใจ แนวทางการทำงานของครูแอน คือต้องได้ใจเขา แต่ก่อนจะได้ใจต้องให้ใจเขาไปก่อน"
          วิชาคอมพิวเตอร์ของครูแอน จึงเป็นชั่วโมงที่เด็กๆ มาเรียนด้วยความสนุกสนาน ซึ่งการตัดเกรดก็ใช้หลักคิดที่แตกต่าง นั่นคือจะดูพัฒนาการเป็นหลัก ไม่ได้วางเป้าหมายว่าทุกคนต้องทำได้เท่ากัน ทำให้เด็กที่อาจจะมี ผลการเรียนในวิชาอื่นไม่ดีสามารถทำคะแนนได้ดี และกลายเป็นกำลังใจให้เด็กหลังห้องหลายๆ คน
          "อะไรก็ตามถ้ามันสร้างความภูมิใจ ทำให้คนคนนั้นฟู จะทำให้เขาหาทางเดินในชีวิตได้"
          ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นคือ ครูแอนได้ใช้การเรียนการสอนเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับชุมชนด้วย
          "คอมพิวเตอร์เป็นสื่อเทคโนโลยีที่ ทันสมัยที่สุดในศตวรรษที่ 21 แต่คอมพิวเตอร์ของครูแอนคือการเรียนรู้นอกห้องเรียน เด็กจะไปเรียนเรื่องราวในชุมชนแล้วกลับมาทำอีบุ๊ค ดังนั้นหนังสือของครูแอนจะเป็นหนังสืออิเลคโทรนิคส์ที่เกี่ยวกับชีวิตในชุมชน เขาจะไม่ทิ้งชุมชน แล้วการเรียนรู้ชุมชนก็คือการฝึกแก้ปัญหา การได้ออกไปนอกห้องสี่เหลี่ยม มันทำให้เด็กมีความสุขขึ้น"
          ครูแอนย้ำว่าทุกคนมีความต่างเราจะใช้ การแก้ปัญหาเหมือนกันไม่ได้ ที่สำคัญการเรียนในห้องเรียนต้องไม่เพิ่มความเครียดให้กับ เด็ก

          เปลี่ยน"ปกครอง"เป็น"ปกป้อง"
          ตรงตามคุณสมบัติคุณครูฝ่ายปกครองทุกประการ สำหรับ ครูมารศรี มิ่งศิริรัตน์ โรงเรียนสุรนารี จ.นครราชสีมา
          ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปี ในฐานะ ผู้คุมกฎ "แม่มา" ของเด็กๆ เห็นความทุกข์ของลูกศิษย์และผู้ปกครองมาตลอด จนอดตั้งคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่าแนวทางที่ปฏิบัติตามๆ กันมานั้นดีที่สุดแล้วหรือ
          "มีอยู่วันหนึ่งที่ทำให้รู้สึกแย่ ก็คือวันที่นักเรียนทำผิดระเบียบแล้วเราให้โอกาสเด็ก แม่เขาลงมากราบเท้าเรา รู้สึกเลยว่าต้องทำหน้าที่ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก"
          อีกเรื่องที่ทำให้คุณครูท่านนี้ฉุกคิด ก็คือคำถามจากระบบการประเมินที่ว่า เด็กดีๆ โรงเรียนช่วยส่งเสริม แล้วเด็กที่มีปัญหาใช้ วิธีการอะไร
          "มันตอบได้ไม่เต็มปาก ไม่ชัดเจน เวลาที่ครูทำผลงานวิชาการก็จะพูดเรื่องการเรียนการสอนตัวเอง แต่จริงๆ เราซ่อนเด็กที่มีปัญหาไว้ไม่พูดถึง ครูก็คิดว่าเรามาต้องใส่ใจเด็ก ที่มีปัญหา ฝ่ายปกครองจะเล่นแต่กฎระเบียบอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรู้จักเด็ก แล้วก็คัดกรองว่า เขาเป็นเด็กกลุ่มไหน หลังจากนั้นก็ส่งเสริมเพื่อที่จะให้เขาค้นพบศักยภาพ มีคุณธรรมจริยธรรม คุณลักษณะที่พึงประสงค์" โครงการห้องเรียนนอกเวลา เป็นกิจกรรมที่แม่มาชวนเด็กๆ ที่มักจะทำผิดกฎระเบียบของโรงเรียนเข้าร่วม มีทั้งการฝึกทักษะการเรียนรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต
          "เราต้องพยายามออกแบบกิจกรรมให้หลากหลาย เช่น เราวิเคราะห์ปัญหาว่าเขาหนีเรียนเพราะเรียนไม่รู้เรื่อง แทนที่จะสอนเนื้อหาวิชา ก็สอนวิธีการเรียนให้เขา วิธีสรุปความรู้ วิธีเชื่อมโยงความรู้ ทำอย่างไรให้เด็กได้เข้าใจ ซึ่งวิธีหนึ่งที่ได้ผลคือให้พี่สอนน้อง เขาจะสอน ได้ดี
          ส่วนทักษะอาชีพ เราก็ใช้มืออาชีพจริงๆ มาสอน หลังจากฝึกอาชีพเสร็จ เราก็ให้เขาได้แสดงผลงาน ได้สาธิตให้เพื่อนๆ ดู"
          ในมุมมองของครูมารศรี "เสียงปรบมือคือกำลังใจ" ครูมีหน้าที่เปิดใจ เปิดพื้นที่ และเปิดโอกาสให้เด็กที่ถูกมองว่าเหลือแก่นเหลือขอได้มายืนอยู่แถวหน้าด้วยความภาคภูมิใจในตนเอง "ธรรมชาติวัยรุ่นจะสร้างให้ตัวเองมี จุดเด่นในกลุ่ม ให้เพื่อนๆ ยอมรับ เราก็พยายามหาเวทีให้เขาได้แสดงผลงานที่เรียนรู้มา การ เปิดตัวของเขา เราต้องทำให้ดูอลังการ และ ให้คนอื่นยอมรับ คนภายนอกมองว่าเขาสำคัญ แล้วเขาจะศรัทธาเรา หลังจากนั้นบอกอะไรเขาก็จะเชื่อ"
          การทำให้เด็กรู้สึกหัวใจพองโต เห็นคุณค่าและเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง คือแรงจูงใจที่ทำให้หลายคนเปลี่ยน จากเด็กเกเรเป็น คนที่มีภาวะผู้นำ กล้าแสดงออก มีสมาธิ และ ผลการเรียนก็ดีขึ้นตามไปด้วย
          ไม่จำเป็นต้องดุด่าว่ากล่าว หรือถือไม้เรียวข่มขู่แบบครูปกครองทั่วไป แม่มาได้ใจเด็กไปเต็มๆ พร้อมตอบแทนด้วยการเชื่อฟัง ส่งผลให้การช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยงเป็นไปอย่าง มีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้ครูมารศรีบอกว่า เริ่มต้นจากความรู้สึกผิด
          "ความผิดพลาดจากชีวิตของลูกศิษย์ ทำให้คิดว่าต้องเปลี่ยนวิธีการ เพราะว่า เด็กต้องออกจากระบบกลางคัน เรียนไม่จบ ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรบ้าง หรือว่าไม่มาโรงเรียนอีกเลย เราก็คิดว่าวิธีที่เคยทำ มันยังไม่พอ ต้องหาวิธีการใหม่ๆ ให้เขา ประสบความสำเร็จ" และวันนี้วิธีการเสริม พลังบวกก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลลัพธ์เกินคาด

          ขอใจเธอแลกใจ "ครู"
          แม้จะไม่ใช่เส้นทางสายฝัน แต่เมื่อ พลิกผันมาสวมบทบาทครูวิทยาศาสตร์ ปริญญาตรี นิเทศศาสตร์ ของ วิศรุต นุชพงษ์ก็ช่วยสร้างความแตกต่างให้กับสไตล์การสอนของครูรุ่นใหม่คนนี้ได้เป็นอย่างดี
          ครูตี๋เป็น fellow รุ่นแรก ของมูลนิธิ Teach for Thailand เขาได้รับมอบหมาย ให้สอนในโรงเรียนแก่นทองอุปถัมภ์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสเป็นระยะเวลา 2 ปี
          "ถึงจะเป็นโรงเรียนใน กทม. แต่เด็กที่เราสอน น้อยมากที่เป็นเด็ก กทม. เกินกว่า ครึ่งห้องเป็นเด็กที่มาจากต่างจังหวัด ด้วย ความที่มันหลากหลาย แล้วทุกคนมาด้วย ปัญหา มีปัญหายากจน หนี้สิน หรือทำอาชีพบางอย่างที่ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงกับความปลอดภัยของตนเองมารวมตัวอยู่ในห้องเดียว งาน ที่ทำอยู่มันก็เลยยิ่งท้าทายเป็นสองเท่า" จากภารกิจหลักคือเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ให้ดีขึ้น กลายเป็นต้องมาตามแก้ปัญหาให้เด็กๆ ครูตี๋บอกกับ ตัวเองว่า
          "เราลืมเรื่องหนึ่งไม่ได้เลยว่า เขาไม่มีทางได้วิทยาศาสตร์เราแน่ๆ ถ้าตราบใดสภาพ พื้นฐานเขายังเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นช่วง สองเดือนแรกที่เข้าไปทำงาน สารภาพตามตรงว่าแทบไม่ได้สอนเลย อยู่กับการเรียนรู้เขา ทำวิจัยรายบุคคล ลงไปพูดคุย บางเคสนี่ไปถึงบ้านเลย ทีนี้พอเรารู้ปัญหาแล้ว ทำงานง่ายมากเลยครับ"
          เคล็ดลับแค่ใช้ใจแลกใจ ทำตัวสนิทสนมจนเด็กๆ วางใจแล้วเขาจะเล่าทุกอย่างให้ฟัง ซึ่งบางเรื่องถือว่าน่าตกใจมาก แต่ก็ทำให้เข้าใจและสามารถช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา
          "มีเคสหนึ่งเด็กถูกแม่ตีเป็นรอยเต็มหลัง ทีแรกก็รู้สึกว่าแม่เขาใจร้ายมาก แต่พอเราถามเหตุผลปุ๊บ รู้สึกน้ำตาซึม คือที่เขาถูกแม่ตีเป็นเพราะว่าเขากินข้าวมากเกินไป เราช็อคไปเลย เพราะบ้านเขายากจนมาก ข้าวทุกคำที่เขากำลังกินมันหมายถึงความอิ่มท้องของคนอื่นด้วย แล้วทีนี้วันนั้นเขาไม่รู้ว่าข้าวนี้ยังต้องแบ่งให้คนอีกคนคือน้องเขา พอแม่มาเห็นฉากที่เขากินไปจนหมด ก็เลยถูกตีจนตัวลาย เรารู้สึกว่าข้อหากินข้าวเยอะเกินไปแล้วถูกตีนี่มันทำร้ายจิตใจเราจังเลย"
          ชั่วโมงการสอนที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เพิ่มแค่ความรู้ที่ครูคนนี้ถ่ายทอดให้เด็กๆ แต่คือ ความผูกพันและความใส่ใจที่กลายเป็นพื้นฐานสำคัญของการเป็นครูด้วยหัวใจ เขาเล่าถึงความภูมิใจที่ได้ช่วยเด็กพิเศษคนหนึ่งให้ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้างว่า
          "เด็กคนนี้มาเรียนกับเราตอน ม.3 พอ ตอนสอบเราก็งงว่าทำไมเขาถึงไม่ยอมเขียนอะไรลงไปในข้อสอบ ก็ไปคุยกับเพื่อนเขา ไปคุยกับครูที่ปรึกษา คุยกับหลายๆ คน คิดว่าเขาเป็นเด็กพิเศษ แล้วก็ไม่น่าจะเรียน ได้
          ปัญหาคือการเป็นเด็กพิเศษ มันไม่ได้ใช่แค่ใครสักคนบอกว่าเขาเป็นเด็กพิเศษ ขั้นตอนไปยืนยันว่าเขาเป็นเด็กพิเศษมัน ซับซ้อนมาก แล้วก็ยาวนานมาก เราเป็น คนเริ่มต้น และพยายามพิสูจน์ให้ได้ว่าเขาเป็นเด็กพิเศษจริงๆ เพราะว่าเขาติด 0 ติด ร. เยอะมาก เพื่อให้ครูวิชาอื่นได้เข้าใจว่า เขาไม่เหมือนเด็กทั่วไป และคุณต้องเข้าใจธรรมชาติของเขา"
          ครูตี๋บอกว่า บางเคสช่วยเหลือได้ก็ช่วยเหลือ แต่บางเคสทำได้แค่เข้าใจ เรื่องแบบนี้แม้จะทำลายกำลังใจไปบ้าง แต่ทุกครั้งที่ปัญหาถูกแก้ไขให้ดีขึ้น มันกลายเป็นแรงผลักดันให้ก้าวต่อไป ยิ่งเด็กคนไหนพัฒนาตัวเองได้ดี ยิ่งเสริมพลังให้อย่างมากมาย
          แทบทุกวันครูวิทยาศาสตร์คนนี้จะ หอบหิ้วอุปกรณ์การสอนมานั่งรอเด็กๆ จนกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กๆ เข้าห้องเรียนเร็วขึ้น เขาว่าในด้านวิชาการนั้นไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วง ขอเพียงให้เด็กอยู่ในสภาพพร้อมที่จะ เรียนรู้ "วิชาวิทยาศาสตร์เป้าหมายสูงสุดมันคือการสอนให้เด็กใช้เหตุผล เราโฟกัสแค่นั้นเอง ดังนั้นกระบวนการที่เกิดขึ้นมันจึงไม่ใช่ว่า ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ได้แบบโปรเฟสชั่นนัล เราไม่ได้ต้องการแบบนั้น สิ่งที่ต้องการคือ ต่อไปนี้ในชีวิตคุณ คุณจะมีเหตุผลมากขึ้น มีวิจารณญาณ และเป็นคนที่มีคุณภาพ"
          แม้จะเหลือระยะเวลาในการทำงานตามสัญญาของโครงการอีกไม่กี่เดือน แต่จิตวิญญาณของความเป็นครูนั้นได้เกิดขึ้นแล้วและยากที่จะหายไป ครูตี๋บอกว่าเขารักอาชีพนี้แต่ก็ยังติดขัดเรื่องระบบ เพราะถ้าเป็นครูในระบบเขาคงต้องจมอยู่กับภาระด้านเอกสาร และอาจจะมีเวลาให้เด็กน้อยลง "เราเชื่อมั่นว่าครูเป็นอาชีพที่สูงส่งมาก มันเปลี่ยนชีวิตใครบางคนได้ นึกสภาพของ ตัวเองไม่ออกเลยนะครับ ถ้าวันนั้นวันที่เรา เกือบจะไม่ได้เรียนต่อไม่มีครูมาช่วยเหลือ แต่เพราะครูเชื่อมั่นในตัวเรา ผลักดันให้ ผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายมาได้จนเรียนจบ แล้วก็ได้มาทำงานที่เราไม่คิดว่าจะทำได้ มันมหัศจรรย์มาก"
          ด้วยเหตุนี้เขาจึงอยากให้คนส่วนใหญ่เข้าใจและเห็นใจคุณครูด้วย ครูย่อมอยากเห็นลูกศิษย์ได้ดี แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ อาจทำให้ผิดไปจากความคาดหวังของสังคม "ในความเป็นจริงครูแก้ปัญหาเด็กได้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ อีก 90 เปอร์เซ็นต์ ล้มเหลว แต่ไอ้ 10 เปอร์เซ็นต์ มันมีพลังมากที่จะเปลี่ยนแปลงใครบางคนได้ ส่วนอีก 90 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นเคสที่เป็นตัวอย่างว่าต่อไปถ้าเจอปัญหานี้ควรแก้ไขอย่างไรดี"
          ถ้าถามถึงหัวใจของความเป็นครู คำตอบ ณ วันนี้ ขีดเส้นใต้ตรง "เชื่อและยอมรับในความแตกต่าง"
          "เชื่อมั่นมากๆ ว่าเด็กเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเราเข้าไปในโรงเรียนวันแรกแล้วเรา ไม่เชื่อว่าเด็กเปลี่ยนแปลงได้ คงไม่ทำอะไรเลยนอกจากสอนๆๆ แต่เพราะเราเชื่ออย่างนี้ สิ่งที่ทำทั้งหมดมันจะตอบโจทย์ว่าเราทำไป เพื่ออะไร บางคนหาว่าเราบ้าคลั่งหรือเปล่า ทำไมต้องทุ่มเทขนาดนั้น คุณไปนั่งรอเด็กหน้าห้องทำไม ทำไมคุณต้องเตรียมของเยอะแยะไปหมด ตอบได้ตรงนี้ว่าเพราะเราเชื่อว่าเด็กเปลี่ยนแปลงได้" บนเส้นทางสายนี้สำหรับเขาไม่ได้อยากเป็นเรือจ้างที่แค่พาศิษย์ข้ามไปถึงฝั่งฝัน แต่หวังจะเป็นเรือยอร์ชที่แล่นผ่านคลื่นลมด้วยความสนุกสนาน

          "ครูจะเป็นอะไรก็ช่าง แต่ท้ายที่สุด ถามเด็กเถอะว่าครูเป็นอะไรของเขา เด็กทุกคนมีครูในดวงใจ แน่นอนมันคือความสว่างไสวในใจของเขา มันสำคัญมาก"

ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
 
  • 18 พ.ย. 2558 เวลา 10:32 น.
  • 2,392

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

^