LASTEST NEWS

26 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 26 เม.ย. 2567สพป.แพร่ เขต 1 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 2) - ผลย้ายครู 2567 สพป.แพร่ เขต 1 26 เม.ย. 2567ก.ค.ศ. อนุมัติให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญ  26 เม.ย. 2567สพป.ชัยนาท ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 2) - ผลย้ายครู 2567 สพป.ชัยนาท 26 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 26 เม.ย. 2567สพม.นครศรีธรรมราช ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพม.นครศรีธรรมราช 26 เม.ย. 2567สพม.ลพบุรี ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพม.ลพบุรี 26 เม.ย. 2567สพม.สุรินทร์ ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 2) - ผลย้ายครู 2567 สพม.สุรินทร์ 26 เม.ย. 2567สพป.ตาก เขต 1 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.ตาก เขต 1 26 เม.ย. 2567สพป.ลำพูน เขต 2 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.ลำพูน เขต 2

รมว.ศธ.เป็นประธานมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ "คุรุสดุดี"

  • 08 ต.ค. 2557 เวลา 11:13 น.
  • 2,307
รมว.ศธ.เป็นประธานมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ "คุรุสดุดี"

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

รมว.ศธ.เป็นประธานมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ “คุรุสดุดี”
 
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา - พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ “คุรุสดุดี” ประจำปี 2557 ให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ประพฤติปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพจำนวน 1,138 คน จัดโดยสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557 ที่หอประชุมคุรุสภา
 
รมว.ศธ. กล่าวในพิธีเปิดว่า การดำเนินงานเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งคุรุสภาได้จัดพิธีมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ “คุรุสดุดี” ในวันที่ 6 ตุลาคมนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเฉลิมฉลองและประกาศเกียรติคุณครูในวันครูโลก นับเป็นความพยายามในการสร้างศรัทธา และยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครูให้เป็นที่ยอมรับของสังคม และเป็นบทบาทที่สำคัญของคุรุสภาตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546
 
ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งหมายถึง ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์ ล้วนเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพเยาวชนและการศึกษาของชาติ จึงต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถอย่างสูง มีคุณธรรม จริยธรรม และประพฤติปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณ รวมทั้งมีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง
 
ดังนั้น การที่ท่านทั้งหลายได้รับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติในครั้งนี้ ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า ท่านได้ประกอบคุณงามความดี สมควรได้รับการยกย่องเป็นแบบอย่าง และเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะปูชนียบุคคลที่ทุกคนยอมรับนับถือ  จึงขอให้ท่านได้รักษาความดีนี้ไว้ และช่วยกันสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่สังคมไทยด้วยจิตวิญญาณที่ยึดมั่นในจรรยาบรรณของวิชาชีพ เพื่อให้การศึกษาของไทยมีความก้าวหน้าทัดเทียม เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ และร่วมสร้างสังคมไทยให้มีความสงบสุขอย่างยั่งยืนมั่นคงตลอดไป
 
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทุกท่านคงจะทราบดีถึงแรงกดดันในสังคมที่มองเข้ามาในวงการศึกษาว่า ระบบการศึกษา การเรียนการสอน กำลังตกต่ำและไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นผลจากการประเมินคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยในระดับการศึกษาต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในวัยการศึกษาของประเทศต่างๆ ทั้งในภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก ทั้งๆ ที่ประเทศไทยใช้งบประมาณทุ่มลงไปในระบบการศึกษาเป็นจำนวนเงินมหาศาล คิดเป็นอันดับสองของโลกเมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศ
 
องค์ประกอบสำคัญที่เป็นสาเหตุทำให้ผลผลิตทางการศึกษา คือ นักเรียน นิสิตนักศึกษา ลูกหลานของเรา มีผลการเรียนตกต่ำ คงไม่พ้นไปจากบุคคลที่เป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรก น่าจะได้แก่ พ่อแม่ผู้ปกครอง ในฐานะที่เป็นครูคนแรกของเด็กและมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของเด็ก คนที่สองรองลงมา น่าจะเป็นครู อาจารย์ ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบในการถ่ายทอดความรู้ตามหลักสูตร รวมทั้งคุณธรรมจริยธรรม ประสบการณ์ และเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุดรองมาจากพ่อแม่และผู้ปกครอง  คนที่สามคือ บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหารของสถานศึกษา สถาบันการศึกษา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการ การเรียนการสอนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  และคนต่อไปคือ ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เริ่มตั้งแต่ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการขององค์กรหลัก องค์กรในกำกับ ไม่เว้นแม้แต่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ที่จะต้องมีส่วนรับผิดชอบในความสำเร็จ หรือความล้มเหลวที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาของเรา
 
ในส่วนของการเป็นรัฐมนตรีนั้น ถือว่าเป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงที่ต้องรับผิดชอบอนาคตของประเทศต่อไปใน 5-15 ปีข้างหน้า จึงตั้งใจจะทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด แม้ว่าจะไม่เคยมีความรู้หรือมีประสบการณ์ทางด้านนี้มาก่อน ก็จะพยายามขวนขวาย ทำความเข้าใจถึงระบบงานที่เป็นอยู่ ปัญหาอุปสรรคที่ขัดขวางระบบการศึกษาที่ยังคงอยู่ ทั้งในแง่ของกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ วัฒนธรรมองค์กร วิธีการปฏิบัติ และตัวบุคคล

 
 
 

 
 
ในการนี้ รมว.ศธ.ได้กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ "ครู" ดังนี้
 
>> หนี้สินครู  เป็นเรื่องปกติที่ทุกสาขาอาชีพต่างก็เป็นหนี้สินได้ทั้งนั้น แม้ตนเองก็เป็นหนี้ ซึ่งปัญหานี้ไม่มีใครสามารถแก้ไขได้นอกจากตัวเอง หากทุกคนยึดหลักความพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็จะแก้ปัญหานี้ได้ รวมถึงไม่ควรกู้ให้เกินตัว แม้จะมีหน่วยงานยื่นข้อเสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพียงใด หากยังไม่จำเป็น ก็ควรตัดใจ ไม่ควรกู้ยืม เพียงแค่นี้ก็จะไม่มีปัญหาหนี้สินครู
 
>> ครูไม่อยู่ในห้องเรียน  เพราะต้องใช้เวลาไปราชการ หรือใช้เวลาในการสอนนักเรียนไปทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการเตรียมการสอน ไม่ว่าจะเป็นงานธุรการ งานเตรียมการต้อนรับผู้มีบารมีจากเขตต่างๆ จากอำเภอ จังหวัด หรือจากกระทรวงก็ตาม หรืองานรับการประเมินผลสถานศึกษาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลงานของตัวเอง เพื่อประเมินผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ และงานเตรียมการสอนกวดวิชาที่รับไว้เป็นงานเสริม เป็นต้น  สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้ครูต้องปล่อยให้นักเรียนอยู่กันตามลำพังในห้องเรียน และจะมีนักเรียนสักกี่คนที่อ่านหนังสือตามที่ครูสั่งให้อ่านก่อนจะเดินออกไปจากห้องเรียน
 
>> ปัญหาอื่นๆ เกี่ยวกับครู เช่น ครูไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน ครูต้องสอนในวิชาที่ไม่เชี่ยวชาญ ครูไม่มีคุณภาพ ครูไม่มีจิตวิญญาณแห่งการถ่ายทอด ครูไม่พัฒนาตนเอง ครูไม่มีความเป็นมืออาชีพ ฯลฯ เป็นสิ่งที่ทุกคนในวงการวิชาชีพครู รวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง จะต้องมีส่วนช่วยกันพัฒนาและปรับปรุงแก้ไข เพราะการเป็นครูไม่ใช่มีวิชาชีพครูแล้วจะถือว่าเป็นครู แต่ในความเป็นจริงครูมีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น
 
การสอนหนังสือถือเป็นศิลปะในการถ่ายทอดความรู้  รมว.ศธ.กล่าวในประเด็นนี้ว่า หากครูถ่ายทอดไม่เป็น ก็ไม่ถือว่าท่านเป็นครูที่แท้>> จริง  รวมทั้งครูที่ไม่ศึกษาเรียนรู้ ไม่พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องด้วย ทั้งนี้ได้เคยมีคนเปรียบเทียบครูว่าเหมือนเป็น “เรือจ้าง”  กล่าวคือ ถ้าไม่จ้างก็ไม่ไป ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบเชิงประชดประชัน เพราะว่าจ้างไปส่งผู้โดยสารแล้ว ผู้โดยสารก็เอาเท้าถีบหัวเรือออกไป เปรียบว่าเมื่อส่งเด็กขึ้นฝั่งแล้ว เด็กก็ไม่สนใจ  แต่ความจริงการถีบหัวเรือ ก็เพื่อให้เขาออกจากฝั่งได้ง่ายขึ้น
 
นอกจากนี้ รมว.ศธ.ได้กล่าวว่าครูเปรียบเสมือนเป็น “ช่างปั้นหม้อ” เพราะการเป็นครูนั้นเป็นศิลปะ ครูจะต้องเป็นผู้ที่มีศิลปะอยู่ในหัวใจ จะต้องเป็นเหมือนจิตรกร เป็นศิลปิน หรือเป็นประติมากร  หากท่านไม่มีศิลปะในการสอน แม้จะใช้บทวิชา/หลักสูตรเดียวกัน ครูสองคนสอน ผลที่ได้อาจจะแตกต่างกัน  ครูคนแรกอาจสอนให้นักเรียนเข้าใจดี สนใจ ตั้งใจฟัง และไม่หลับ  แต่ครูอีกคนสอน เด็กอาจจะไม่ตั้งใจ นั่งหลับในห้อง และเรียนไม่รู้เรื่อง  นั่นเป็นเพราะศิลปะการสอน ความเป็นศิลปิน ความเป็นประติมากรของครูแต่ละคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้นการสอนหนังสือจึงเป็นศิลปะ
 
อย่างไรก็ตาม การเปรียบให้ครูเหมือนกับ “ช่างปั้นหม้อ” เพราะเด็กก็เหมือนดินที่พร้อมจะให้เราปั้น หากเราเป็นช่างมืออาชีพ เราก็จะรู้ว่าเราควรจะหมักดินหรือนวดดินอย่างไรให้มีความนุ่ม เหมาะสมที่จะปั้น เมื่อนำดินวางไว้บนแป้นปั้น เราจะรู้ว่าควรจะกดน้ำหนักมือขนาดไหนอย่างไร เพื่อให้ดินนั้นขึ้นรูปมาเป็นหม้อที่สวยงาม  เราควรจะรู้ว่าเมื่อไรควรจะใช้อุปกรณ์อะไรเข้าไปช่วยตกแต่ง เพื่อให้หม้อนั้นออกมาตามรูปแบบที่เราต้องการ มีขนาดกลมกลึงและไม่เบี้ยวบูด  ดังนั้นหากเราไม่ใช่มืออาชีพ เราอาจจะปล่อยให้ดินนั้นแข็งเกินไปจนกระทั่งปั้นไม่ได้ หรืออาจจะนุ่มเละเกินไปจนไม่ขึ้นรูป หรือเข้าเตาเผาแล้วอาจจะแตก ครูจึงต้องมีศิลปะ ครูจะต้องรู้จักทะนุถนอมดิน หรือเปรียบเสมือนกับเด็กหรือลูกศิษย์ของเราที่เข้ามาทุกคน
 
>> ให้นำแรงกดดันจากภายนอกมาเป็นพลังในการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนให้มีอนาคตที่ดี  ขอให้ทุกคน ณ ที่นี้ช่วยกัน โดยนำแรงกดดันจากสังคมภายนอกที่มองพวกเราในฐานะครู มองระบบการศึกษาของเราที่มีหลายคนบอกว่า ล้มเหลว นำกลับมาเป็นพลังที่จะฮึดทำให้ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา/สถาบันการศึกษาทุกคน  มีแรงกายแรงใจที่จะช่วยทำให้เด็กและลูกศิษย์ของเราไปในทางที่ถูกต้อง มีความรู้ความสามารถที่จะเป็นอนาคตที่ดีต่อไปในภายภาคหน้า  อย่างน้อยก็ควรจะให้เท่ากับครูที่เคยบ่มสอนตอนที่พวกเราเป็นนักเรียน เพราะหากท่านไม่สอนเราให้ดี ตนเชื่อว่าทุกท่านที่อยู่ ณ ที่นี้ในฐานะที่เป็นครูที่ได้รับการสดุดีคงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
 
>> ขอให้ครู "คุรุสดุดี" ช่วยกันขยายความดีออกไป  ในส่วนของรัฐมนตรีมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการทำหน้าที่ที่มีความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความตั้งใจจริง หากจะทำอะไรแล้วต้องทำให้ดีที่สุด และขอให้ทุกท่านที่ได้รับการยกย่องเป็นครูคุณภาพ ช่วยขยายความดีออกไป เพื่อขจัดคนที่เข้ามาแอบแฝงในวงการศึกษา รวมทั้งช่วยเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูแล ไม่ให้มีสิ่งใดเข้ามากัดกินระบบการศึกษาของเราให้ถดถอยลงไป อย่างไรก็ตาม ตนยอมที่จะมายืนมอบประกาศคุรุสดุดีไม่เพียงกว่า 1,000 คนเท่านั้น แม้จะมีจำนวนกว่า 10,000 คน ก็เต็มใจ หากจะมีครูดีๆ มาให้เรายกย่องเพิ่มขึ้นโดยตลอด
 
 
โอกาสนี้ รมว.ศธ.กล่าวแสดงความยินดีอย่างจริงใจกับผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาทุกท่านที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณในครั้งนี้ พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณกรรมการคุรุสภา กรรมการมาตรฐานวิชาชีพ อนุกรรมการยกย่องและส่งเสริมผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องที่มีบทบาทในการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน รวมทั้งเป็นพลังสร้างสรรค์ที่จะร่วมกันพัฒนาการศึกษาและสังคมไทยตลอดไป.
 
  
 
นายอำนาจ สุนทรธรรม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดพิธีมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ “คุรุสดุดี” ว่าได้กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นวันครูโลก เพื่อให้กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของประชาชน ประชาคมคุณครู ที่จัดกิจกรรมพร้อมกันทั่วโลก และเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูและผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ เสริมสร้างศรัทธาและความเชื่อถือในการประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ครูและผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2535 และได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน ได้ประกาศยกย่องผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาไปแล้วจำนวน 11,949 คน
 
สำหรับในปี 2557 สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา โดยคณะอนุกรรมการยกย่องและส่งเสริมผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาได้จัดทำหลักเกณฑ์  วิธีการและการพิจารณาคัดเลือก ผู้สมควรได้รับเครื่องเชิดชูเกียรติคุรุสดุดี เสนอคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพและคณะกรรมการคุรุสภาพิจารณาตามลำดับ  ซึ่งมีผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ประพฤติปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ ได้รับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติคุรุสดุดี จำนวนทั้งสิ้น 1,138 คน
 
 
  • 08 ต.ค. 2557 เวลา 11:13 น.
  • 2,307

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

ความคิดเห็นเกี่ยวกับ : รมว.ศธ.เป็นประธานมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ "คุรุสดุดี"

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น!

ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ แนะนำติชม เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้

^