LASTEST NEWS

25 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันฯ ครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ (ต่อ) 25 เม.ย. 2567สพป.สุพรรณบุรี เขต 1 ประกาศรับสมัครสอบครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี พ.ศ.2567 จำนวน 3 อัตรา ตั้งแต่ 8-14 พ.ค.2567 24 เม.ย. 2567สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดสอบพนักงานราชการ 350 อัตรา วุฒิปริญญาตรี อัตราเงินเดือน 20,540 - 22,750 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. - 8 พ.ค. 2567 24 เม.ย. 2567สพป.เลย เขต 2 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.เลย เขต 2 24 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 24 เม.ย. 2567สพป.ร้อยเอ็ด เขต 2 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.ร้อยเอ็ด เขต 2 24 เม.ย. 2567สพป.สกลนคร เขต 2 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.สกลนคร เขต 2 24 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 24 เม.ย. 2567สพป.เชียงใหม่ เขต 5 เรียกบรรจุครูผู้ช่วย 27 อัตรา - รายงานตัว 1 พฤษภาคม 2567 24 เม.ย. 2567สพป.ตาก เขต 2 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.ตาก เขต 2

“ก ข ค ง…ข้อนี้ไม่มีคำตอบ”

  • 04 พ.ค. 2557 เวลา 09:52 น.
  • 3,162
“ก ข ค ง…ข้อนี้ไม่มีคำตอบ”

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

สสค.ชำแหละโครงสร้างระบบการศึกษาไทย ส่งผลให้เด็กไทยกว่า 2.5 แสนติดกับดักการศึกษาแบบรองเท้าเบอร์เดียว ผุดรายการสารคดี “ก ข ค ง…ข้อนี้ไม่มีคำตอบ” หากคุณไม่เริ่มตั้งคำถาม หวังจุดประกายความร่วมมือการจัดการเรียนรู้จากทุกภาคส่วนในสังคม สู่การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นร่วมจัดการศึกษาสอดคล้องบริบทคนท้องถิ่น
 
ปัญหาเรื่องระบบการศึกษาของไทยเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศที่มีการลงทุนด้านการศึกษาสูง แต่คุณภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนกลับถดถอย ปัญหาจึงไม่อยู่ที่งบประมาณไม่เพียงพอ แต่เป็นเรื่องของการจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนแปลง เมื่อการศึกษาในระบบไม่สามารถตอบโจทย์ทิศทางการศึกษาของเด็กไทยจะไปทางไหนดี ปัญหาที่หมักหมมและฝังรากลึกกับโครงสร้างการศึกษาไทยจะร่วมมือช่วยกันแก้ไขได้อย่างไร…..???
 
 
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวถึงโครงสร้างระบบการศึกษาของไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ว่า เป็นแบบระบบเดียวที่ใช้กับเด็กเยาวชนทั้งประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายการส่งเด็กเยาวชนสู่ระบบอุดมศึกษา ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
 
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เนื่องจากมีเด็กเยาวชนอย่างน้อย 3 กลุ่มที่ชีวิตต่างกัน ได้แก่ 1.กลุ่มที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา คือ ไม่จบแม้กระทั่งการศึกษาภาคบังคับ เนื่องจากความยากจนและความจำเป็นของครอบครัว ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 10% ของเด็กที่เกิดมาในปีเดียวกัน 2.กลุ่มที่ยุติการศึกษาเพียงระดับชั้น ม.3-ม.6 คิดเป็น 50% และ 3.กลุ่มที่มุ่งสู่มหาวิทยาลัย คิดเป็น 40% ซึ่งในกลุ่มสุดท้ายนี้ มีเพียง 10% เท่านั้นที่ไปสู่เป้าหมายปลายทางแบบที่การศึกษาต้องการ คือ จบและมีงานทำตรงตามสาขาภายในปีแรก ส่วนที่เหลืออีก 30% คือตกงานและเรียนไม่จบ
 
โจทย์การศึกษาไทยไม่ใช่การตอบโจทย์การศึกษาเด็กเพียง 40% เท่านั้น แต่ต้องหากระบวนการอย่างไรที่จะตรึงเด็กไว้ในระบบการศึกษาภาคบังคับสำหรับเด็กกลุ่มที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ส่วนกลุ่มเด็กที่ไม่ได้มุ่งสู่มหาวิทยาลัย จะทำอย่างไรให้พวกเขาได้การศึกษาที่นำไปประกอบอาชีพและมีชีวิตรอดได้จริง
 
 
 
“จะเห็นได้ว่าระบบการศึกษาของไทยไม่ตอบโจทย์เป้าหมายของการศึกษาและสังคมที่แท้จริง เพราะยึดมั่นกับการศึกษาที่ถูกกำหนดไว้เป็นระบบเดียว เปรียบได้กับรองเท้าเบอร์เดียวที่หวังจะให้ทุกคนสวมใส่ ทั้งที่ความเป็นจริงมีปัจจัยที่สร้างให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความแตกต่างตามบริบทสังคม ขณะที่กระบวนการการสอนยังติดกรอบไม่ยืดหยุ่น ทั้งหลักสูตร วิธีการสอน การสอบวัดผลซึ่งถือเป็นความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย มิฉะนั้นแล้วเราจะมีเด็กเยาวชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในระบบการศึกษาที่พร้อมจะหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร และกลายเป็นปัญหาสังคมในที่สุด ผลพวงที่สะท้อนให้เห็ดชัด คือยอดล่าสุดของแม่วัยรุ่นปีละ 130,000 คน เด็กขอรับการบำบัดยา 77,000 คน และเด็กก่อคดีเข้าไปอยู่ในสถานพินิจ 34,000 คน”
 
น้องลาติบ หรือ ด.ช.ธนพล อินกกผึ้ง ตัวแทนของเด็กชายขอบจากเมืองกระบี่ สะท้อนความเป็นจริงของชีวิตกับโอกาสทางการศึกษาที่เข้าถึงยากแม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายให้เรียนฟรี 15 ปีก็ตาม เพราะท้ายที่สุดลาติบอาจจะต้องหยุดเรียนเพื่อให้พี่สาวซึ่งกำลังจะขึ้นชั้น ม.6 ได้เรียน ขณะที่นายสุทัศน์ผู้เป็นพ่อ ตัดพ้อว่า “เรียนฟรี 15 ปี แล้วทำไมยังต้องจ่ายเยอะแยะไปหมด แล้วถ้าไม่มีเงินแปลว่าต้องให้ลูกหยุดเรียนใช่ไหม…สำหรับความรู้สึกว่าครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำ เวลาโรงเรียนปิดเทอมจะรู้สึกโล่งใจมากที่ไม่ต้องหาค่าใช้จ่ายให้ลูก แต่จะรู้สึกหนักใจทุกครั้งเมื่อเปิดเทอมไม่รู้จะหาเงินให้ลูกที่ไหน เรียนฟรี 15 ปี ก็มีคำตอบที่โรงรับจำนำ”
 
น้องอาร์ต-น.ส.ธิดารัตน์ กุลแก้ว ตัวแทนจากนักเรียนในระบบกับเส้นทางชีวิตเรียนเพื่อสอบติวเข้าสู่มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “การเรียนเหมือนๆ กัน เรียนเยอะมาก แต่เพราะระบบบอกให้เราเรียนแบบนี้ แล้วเราจะหาความสุขที่ไหนมาเรียน….กับการถูกบังคับให้เรียนในกรอบและระบบที่ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าใช่สิ่งที่ต้องการหรือไม่ หรือถ้าเดินออกนอกเส้นทางไปแล้วก็ต้องหลุดออกจากระบบ”

 
ขณะที่หัวอกของผู้ปกครองอย่าง แม่ตุ้ย-นางปิยนุช โชติกเสถียร แม่ของน้องไตเติ้ล พูดถึงความทุกข์ของพ่อแม่เมื่อต้องมาประสบกับตัวเองว่าโรงเรียนมีคุณภาพต่างกันและยิ่งทุกข์เป็นสองเท่าสำหรับผู้ปกครองของเด็กพิเศษ “การที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษแล้วต้องหาโรงเรียนให้ลูกมันไม่ง่ายอย่างที่คิด ทุกครั้งที่พาลูกไปสมัครเรียนหลายโรงเรียนจะปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่าไม่มีครูจบการศึกษาพิเศษหรือบางโรงเรียนรับได้ในจำนวนจำกัดจึงนึกน้อยใจว่าทำไมลูกต้องเป็นเด็กขาดโอกาสในการเรียน ความทุกข์ที่อยู่ในใจทำให้ต้องเสียสละเพราะลาออกจากความเป็นแม่ไม่ได้จึงต้องลาออกจากงานเพื่อหาโรงเรียนให้ลูก เชื่อว่ามีแม่หลายคนที่คิดเช่นกันและมีผู้ปกครองหลายคนที่รู้สึกถอดใจ บางคนก็ต้องปล่อยให้ลูกหลุดออกจากระบบการศึกษาแม้ว่าลูกจะไม่จบการศึกษาภาคบังคับ จึงอยากจะบอกว่า เด็กพิเศษก็เป็นเด็กคนหนึ่งขอให้เขาเพียงได้รับโอกาสเท่านั้น”
 
 
ส่วนคนที่หลุดออกนอกระบบอย่าง ปอย-นายอดิสรณ์ ผาไชยภูมิ ตัวแทนเด็กแก๊งจาก จ.ขอนแก่น เปรยถึงเส้นทางเดินนอกรั้วโรงเรียนว่า “เมื่อวันหนึ่งเคยก้าวพลาดออกจากระบบไปก็อยากกลับมาเรียนอีกครั้ง แต่โดนสังคมมองว่าเราเป็นคนเลวจึงอยากให้สังคมยอมรับเราอีกครั้งเปิดโอกาสให้เราได้กลับมาเรียน”
 
นี่คือเสียงสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการศึกษาที่พบเจอในชีวิตของตัวเอง เป็นปัญหาที่หลายครอบครัวต้องประสบ แม้แต่ที่ปรึกษาด้านวิชาการของ สสค.เอง “ทุกวันนี้ทั้งปัญหาสังคม ปัญหาความด้อยโอกาส หนีไม่พ้นสาเหตุของระบบการศึกษาที่เป็นผลสะสมมานานจากระบบแบบรวมศูนย์ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเพราะมีลูกที่กำลังศึกษาอยู่ 2 คน และหนีไม่พ้นกับการกวดวิชา ซึ่งทุกวันนี้ครอบครัวไทยต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อกวดวิชาเฉลี่ย 1-2 พันบาทต่อเดือน หรือพ่อแม่ไทยต้องควักกระเป๋ากับการเรียนพิเศษถึงแสนล้านบาทต่อปี ขณะที่ความเครียดตกอยู่กับลูกที่ต้องแข่งกันสอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ทำไมการศึกษาจึงบังคับให้เด็กเป็นแสนต้องอยู่ในกติกาแบบเดียวกันและเด็กที่ไปไม่ถึงก็ถูกแพ้คัดออกแล้วจะเอาเด็กเหล่านี้ไปไว้ที่ไหน”
 
 
ขณะที่มุมมองเสียงสะท้อนจากผู้เป็นครูสามารถ สุทะ ครูสอนดีจังหวัดลำพูน ครูต้นเรื่องคิดถึงวิทยา จากโรงเรียนบ้านก้อจัดสรร สาขาห้องเรียนเรือนแพ กล่าวถึงนโยบายที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา “ผมเป็นครูเป็นผู้รับนโยบายมาปฏิบัติทุกครั้งกับการเปลี่ยนนโยบายเปลี่ยนขั้ว ครูก็ต้องเปลี่ยนวิธีปฏิบัติไปเรื่อยๆ ต้องปรับการเรียนการสอน และการประเมินครูจึงไม่มีเวลาทิ้งห้องเรียนทิ้งนักเรียน ผลที่ออกมาคือการศึกษาตกต่ำเด็กอ่านไม่ออก จึงอยากรู้ว่าเป้าหมายของการศึกษาที่แท้จริงคืออะไรจะเอาอย่างไรกันแน่”
 
และยิ่งลงลึก เมื่อ รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถามถึงคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กตกต่ำ หรือล้มเหลวตั้งแต่ระบบการผลิตครู ระบบผลิตครูของประเทศเราเป็นระบบเปิดเสรีใครใคร่รับก็รับ ผลิตออกมาเป็นหมื่นเป็นแสนแต่ขาดคุณภาพ และลืมไปว่าครู 1 คนอยู่กับเด็กไปอีก 30 ปี ในอดีตครูถือเป็นวิชาชีพชั้นสูงมีเกียรติและได้รับการยอมรับ แต่ปัจจุบันอาชีพครูตกต่ำจนเด็กบอกว่าครูทำงานเพื่อเงินและวิทยฐานะ ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนระบบครูให้เป็นระบบปิดเพื่อให้ครูมีจรรยาบรรณ จึงขอฝากคำถามไปยังสถาบันการผลิตครูทั่วประเทศว่าท่านจะทำธุรกิจกับการผลิตครูเช่นนี้จริงหรือ
 
หลากหลายปัญหาเหล่านี้ ใครจะคือผู้แก้ไข “อยากให้ทุกคนมองในฐานะประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อที่รับไม่ได้กับระบบการศึกษานี้อีกแล้ว และถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยน จะปล่อยให้เป็นภาระของครู โรงเรียน หรือกระทรวงศึกษาเป็นคนแก้ปัญหาหรือ มีสุภาษิตจากแอฟริกันกล่าวไว้ว่า “ต้องใช้ทั้งชุมชนในการจะฟื้นเด็กสักคนให้ดี” คือความร่วมมือของทุกคนทั้งพ่อแม่ ครูท้องถิ่น ตอนนี้เราต้องการความกล้าร่วมกัน ประกาศอิสรภาพในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่ตอบชีวิตจริง” ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค.ตอกย้ำ
 
ถึงเวลาแล้วที่สังคมทุกภาคส่วนต้องลุกขึ้นมาช่วยในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยจากส่วนท้องถิ่นสู่ส่วนกลาง แต่การที่รัฐกระจายอำนาจมาสู่จังหวัด สู่ท้องถิ่นนั้น เป็นเพียงแค่คำตอบครึ่งเดียวเท่านั้น ถ้าจะตบให้ดังจะต้องมีมืออีกข้าง ซึ่งเป็นมือของภาคประชาสังคมทุกส่วนที่ลุกขึ้นตั้งคำถามกับระบบการศึกษาแล้วลุกขึ้นมาแล้วบอกว่า เราจะไม่ยอมปล่อยการศึกษาให้อยู่ในมือของใครคนใดคนหนึ่ง และเราจะไม่ปล่อยให้เป็นภาระให้ใครคนใดคนหนึ่งอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงจากเดิม โดยการให้ท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดทิศทางการศึกษาของตนเอง

 
ด้าน นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ไทยพีบีเอสในฐานะองค์การสื่อสาธารณะถือเป็นพันธกิจสำคัญที่จะให้การสนับสนุนการพัฒนาสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชน ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ และสร้างพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนให้เป้าหมายปลายทางการศึกษาของไทยสามารถตอบโจทย์เพื่ออนาคตของเยาวชนและอนาคตของชาติได้อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างการรับรู้เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาตามแต่บริบทของแต่ละพื้นที่ “หลานผมเคยตั้งคำถามว่า ทำไมเด็กไทยต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ทั้งที่คำว่า เชื่อและฟังมันคนละความหมายกัน ทำไมต้องผูกติดกัน เราควรฟังทุกคน ส่วนความเชื่อเป็นเรื่องของเรา แต่วันนี้คนไทยไม่ทันจะฟังก็เชื่อแล้ว สังคมถึงมีปัญหาเช่นทุกวันนี้ TPBS มองว่า เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการสร้างรากฐาน และการศึกษาเวลานี้ไม่ได้อยู่ในห้องเรียนอีกต่อไป แต่สังคมกลับติดกรอบว่า ต้องอยู่ในระบบ ดังนั้นจึงเกิดรายการสารคดี “ก ข ค ง ข้อนี้ไม่มีคำตอบ” ที่จะช่วยตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว สำหรับท่านที่สนใจสามารถรับชมได้ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทุกวันเสาร์ เวลา 14.05-14.30 น. เพื่อสะท้อนภาพความเป็นจริงของเรื่องราวชีวิตปัญหาหมักหมมของโครงสร้างระบบการศึกษาไทย จากผู้คนหลากหลายในสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการศึกษา ท่ามกลางบริบทแวดล้อมที่แตกต่างกัน ต่างคน ต่างวิถีชีวิต ต่างวิธีคิด ต่างปัญหา ต่างทางออก…เพื่อรณรงค์สร้างการมีส่วนร่วมแก้ไขระบบการศึกษาไทย จากทุกภาคส่วนของสังคม”
 
 
  • 04 พ.ค. 2557 เวลา 09:52 น.
  • 3,162

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

ความคิดเห็นเกี่ยวกับ : “ก ข ค ง…ข้อนี้ไม่มีคำตอบ”

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น!

ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ แนะนำติชม เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้

^