LASTEST NEWS

20 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 20 เม.ย. 2567ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 ครั้งที่ 1 (รอบที่ 2) สพป.สมุทรสาคร - ผลย้ายครู 2567 สพป.สมุทรสาคร 20 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 20 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 19 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 19 เม.ย. 2567ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 ครั้งที่ 1 (รอบที่ 1) สพม.นครสวรรค์ - ผลย้ายครู 2567 สพม.นครสวรรค์ 19 เม.ย. 2567ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 ครั้งที่ 2 (รอบที่ 1) สพป.นราธิวาส เขต 1 - ผลย้ายครู 2567 สพป.นราธิวาส เขต 1 19 เม.ย. 2567ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 ครั้งที่ 1 (รอบที่ 1) สพป.น่าน เขต 1 - ผลย้ายครู 2567 สพป.น่าน เขต 1 19 เม.ย. 2567ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 ครั้งที่ 1 (รอบที่ 1) สพม.นครพนม - ผลย้ายครู 2567 สพม.นครพนม 19 เม.ย. 2567ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 ครั้งที่ 1 (รอบที่ 1) สพป.ราชบุรี เขต 2 - ผลย้ายครู 2567 สพป.ราชบุรี เขต 2

คุณภาพการศึกษาตกต่ำ ปัญหาสนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน

  • 24 ก.ย. 2556 เวลา 16:18 น.
  • 2,401
คุณภาพการศึกษาตกต่ำ ปัญหาสนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

คุณภาพการศึกษาตกต่ำ ปัญหาสนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน
 
“งามหน้า..การศึกษาไทยที่โหล่อาเซียน” “ชี้รายงาน WEF เท่ากับหายนะชาติ” “ใช้เงินมาก...แต่คุณภาพต่ำ” และอีกหลายพาดหัวข่าวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่องหลังจากทราบผลการจัดอันดับ คุณภาพการศึกษาของ World Economic Forum (WEF) ในรายงาน The Global Competitiveness Report 2013-2014 ที่ประเทศไทยอยู่อันดับ 8 ของอาเซียนตามหลังแม้กระทั่งกัมพูชา เรื่องนี้จริง ๆ แล้วหากได้ติดตามผลการประเมินของหน่วยงานดังกล่าวนี้ทุกครั้งก็คงไม่แปลกใจเพราะจากการประเมิน 3 ครั้งหลังสุดช่วงปี ค.ศ. 2010-2013 ไทยก็ได้อันดับ 7-8 มาตลอด ที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยปัญหาดินพอกหางหมูทั้งหลายเรายังไม่ได้แก้ไข
 
เมื่อเป็นเช่นนี้การจะไปโทษโน่นโทษนี่ไม่เว้นแม้แต่เกณฑ์การประเมินก็ถือว่าเป็นการวิ่งหนีความจริงมากไป เพราะผลการประเมินของ PISA ก็ล้าหลังหรือแม้แต่การจัดสอบเองจาก โอเน็ต ผลก็ตกแทบทุกวิชารวมถึงพฤติกรรมเด็กก็น่าจะสะท้อนความเป็นจริงให้เห็นกันชัดเจนได้อยู่แล้ว ซึ่งต้นตอที่ทำให้คุณภาพเด็กไทยถดถอยนี้ไม่ต้องไปหาจำเลยที่ไหนเพราะแท้จริงมาจาก “สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน” ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น
 
ฝ่ายการเมือง ที่ต่างชูนโยบายคุณภาพบุคลากรของชาติสำคัญที่สุดแต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลนโยบายกลับมุ่งไปที่ประชานิยมจัดหาวัสดุ ครุภัณฑ์ เพื่อหวังให้มีผลงานเกิดขึ้นรวดเร็วที่สุด งบประมาณที่ได้ปีละหลายแสนล้านบาทจึงถูกใช้จ่ายแก้ปัญหาและพัฒนาไม่ตรงจุด โดยเฉพาะปัญหาที่เป็นปัจจัยพื้นฐานต่อการพัฒนาทั้งด้านทุพโภชนาการ สุขภาพพลานามัยที่จะส่งผลต่อไอคิว ความยากลำบากที่ต้องเดินทางไกล ทำให้ขาดเรียนบ่อยจนออกกลางคัน ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ปัญหาครูขาดแคลน รวมถึงสื่อและนวัตกรรมที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาและพัฒนาเด็กได้ตรงกับศักยภาพเด็กที่มีอยู่ ยิ่งมีการเปลี่ยนรัฐบาลและรัฐมนตรีบ่อย นโยบายก็เปลี่ยนบ่อยตามไปด้วย การจัดการศึกษาต้องถอยหลังมานับหนึ่งใหม่อยู่ร่ำไป รากฐานความมั่นคงที่จะให้ต่อยอดไปสู่ความสำเร็จจึงเกิดไม่ได้ซักที
 
ระดับกระทรวงศึกษาธิการ ก็มีส่วนกับปัญหานี้ด้วยโครงสร้างหน่วยงานที่มีถึง 5 แท่ง บริหารจัดการแบบเอกเทศ ทำให้ต่างคิดต่างทำ ขั้นพื้นฐานพัฒนาไปทางอุดมศึกษาก็ต่อยอดไปอีกทางเมื่อระบบไม่สอดรับกันยิ่งไปเจอกับเจตคติของผู้เรียนและผู้ปกครองที่หวังแค่เรียนต่อในระดับสูงขึ้นเป้าหมายอยู่ที่ปริญญาไม่สนใจทักษะวิชาชีพ วิชาชีวิต การที่ชาติจะได้คนเก่ง คนดี มีความสุข จึงเป็นไปได้ยาก ปัญหาที่ว่านี้รวมไปถึงหลักสูตรการศึกษาที่ใช้อยู่ ที่มีทั้งส่วนที่เป็นแกนกลางและท้องถิ่นแม้จะเป็นหลักการที่ดีหากทำให้เกิดผลได้จริง แต่การเรียนการสอนทุกวันนี้ทั้งครูและเด็กก็ยังเน้นแค่เนื้อหาเพื่อสอบเรียนต่อ เมื่อหลักสูตรกำหนดกลุ่มสาระและวิชาเรียนไว้มากเวลาแต่ละวันของเด็กจึงอยู่กับการเรียนทั้งส่วนที่จำเป็นและไม่จำเป็นผสมปนเปกันไปหมด และจากตารางเรียนที่แบ่งเป็นคาบยิบย่อยตามวิชาของครูแต่ละคนทำให้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งหรือปฏิบัติจริงเกิดได้ยาก เมื่อมีวิชามากการบ้านเด็กก็มากเป็นเงาตามตัวไปด้วย เด็กไทยจึงเป็นกลุ่มที่เรียนมากแทบจะที่สุดของโลกแต่คุณภาพกลับตกต่ำอย่างที่เห็น และระเบียบวิธีการวัดประเมินผลที่ให้เลื่อนชั้นได้โดยอัตโนมัติหรือตกซ่อมได้ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้เด็กขาดความกระตือรือร้นใส่ใจกับการเรียน เพราะรู้ว่าอย่างไรก็ต้องผ่าน เมื่อความรู้พื้นฐานไม่แน่นก็ส่งผลต่อการเรียนระดับที่สูงขึ้น เมื่อเรียนไม่เข้าใจ เรียนไม่ทันเพื่อนจึงเกิดการเบื่อ ซึ่งการเลื่อนชั้นโดยอัตโนมัตินี้ยังส่งผลต่อการสร้างนิสัยรักการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกด้วย
 
หน่วยเหนือ ปัญหาเนื้อในตนก็มีอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะการไม่ปฏิบัติตามภารกิจที่เป็นหน้าที่ตามกฎหมายด้วยการกำหนดนโยบาย กำกับ ติดตาม ประเมินผลแล้วหาทางพัฒนา แต่ทุกวันนี้หน่วยเหนือไปเอางานของภาคปฏิบัติมาทำเองตั้งแต่ คิด กำหนดกิจกรรมโครงการ ทั้งขอและใช้งบประมาณเองแต่โรงเรียนต้องรายงานผลความสำเร็จที่เกิดขึ้นเพื่อจะได้เป็นข้อมูลของบประมาณในปีต่อไปซึ่งถือว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดแถมไปเพิ่มภาระงานให้กับครูเข้าไปอีก นอกจากนี้หน่วยเหนือยังไม่สามารถแก้ปัญหาครูขาดแคลน ครูขาดคุณภาพ ความไม่พร้อมของโรงเรียนขนาดเล็กที่ยังมีอยู่อีกเป็นหมื่นแห่ง
 
ครูและผู้บริหาร ถือเป็นจำเลยหลักจากปัญหานี้ เพราะแม้นโยบาย หรือหลักสูตรจะดีแค่ไหนหากผู้ปฏิบัติไม่นำไปปฏิบัติทุกอย่างก็จบ ซึ่งปัญหาครูปัจจุบันนี้ก็มีอยู่หลายกลุ่มทั้งกลุ่มที่ยังก้าวไม่ทันกับวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ กลุ่มที่ยังไม่ปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน กลุ่มที่ยังหากินกับเด็กด้วยการกั๊กเนื้อหาสำคัญไว้สอนพิเศษ กลุ่มที่เหนื่อยล้าจากภาระงานอื่น ๆ กลุ่มที่หมดไฟกับระบบความก้าวด้วยระบบวิทยฐานะ กลุ่มที่มีปัญหาหนี้สินมาก รวมถึงกลุ่มที่มาอาศัยวงการครูเป็นที่หาเลี้ยงชีพด้วยทำงานแบบขอไปที ส่วนผู้บริหารโรงเรียนเองก็มีจำนวนไม่น้อยที่บริหารงานแบบนิ่งดูดายเป็นอายตกน้ำไม่ใส่ใจงานวิชาการ ไม่นิเทศการสอน สนใจแต่งานนอก มุ่งหวังแต่ขยับขยายไปโรงเรียนขนาดใหญ่ขึ้น ฯลฯ เมื่อการบริหารงานประสิทธิภาพต่ำ ครูขาดแคลนรวมไปถึงครูขาดคุณภาพ ขาดขวัญกำลังใจ ผลกระทบย่อมส่งถึงตัวเด็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
ผู้ปกครอง ก็ถือว่าต้องมีส่วนรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ด้วยผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่ค่อยใส่ใจกับการพัฒนาบุตรหลานของตนเองโดยผลักภาระทั้งหมดให้เป็นหน้าที่ของครู ส่วนตนเองมุ่งแต่การทำมาหากิน จึงไม่มีเวลาให้ลูก ความรักที่มีให้จึงเป็นไปในลักษณะ “รักลูกไม่ถูกทาง” ด้วยการตามใจหรือทำแทนเด็กในสิ่งเขาต้องเรียนรู้หรือพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพที่จะนำไปใช้ในภายภาคหน้า ความคาดหวังอยู่เพียงให้ลูกหลานเรียนจบปริญญาเท่านั้น การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่นของเด็กจึงไม่เกิดขึ้น ส่วนเด็กเองส่วนใหญ่ก็ลุ่มหลงอยู่กับวัตถุ ขาดวินัย ขาดความรับผิดชอบ การเรียนรู้ก็เพื่อใช้กับการสอบ เมื่อจบแล้วก็ลืมไม่สามารถนำความรู้มาใช้กับวิถีชีวิตประจำวันได้
 
หน่วยงานภายนอก ก็เข้ามาสะสมปัญหานี้ด้วยเช่นกันเพราะแทนที่จะทำหน้าที่แค่ส่งเสริมสนับสนุน ก็ดูเหมือนอยากจะเป็นผู้จัดการศึกษาเสียเองด้วยการกำหนดกรอบ หลักเกณฑ์ กติกากับงานของตนเองที่ส่งไปให้โรงเรียนทำโดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับการติดตามประเมินผล ซึ่งแทนที่จะทดสอบหรือประเมินผลเพื่อหาจุดบกพร่องให้หน่วยงานที่เขารับผิดชอบนำไปแก้ไขพัฒนาเหมือนต่างประเทศเขาทำกัน กลับประเมินแบบชี้ถูกชี้ผิดและปฏิบัติตามส่วนนี้แทนที่ครูจะหนักใจกับงานสอนกลับต้องมาหนักใจกับงานอื่น ๆ มากกว่า
 
ปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพเด็กยังมีอยู่อีกหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรที่เน้นแต่ตรรกะมากด้วยสาระจนเกินความจำเป็น ครูส่วนใหญ่ก็สอนแต่เนื้อหา เด็กก็เรียนแบบท่องจำเพื่อใช้กับการสอบและการเรียนต่อ เมื่อวิธีการเรียนอยู่ในกรอบ วิธีสอบเข้าอยู่กับการแก่งแย่ง แข่งขัน จึงสร้างความเครียดให้เด็ก หากทุกฝ่ายยอมรับความจริงกับปัญหาที่เกิดแล้วนำมาแก้ไขพร้อมหาทางพัฒนาอย่างสอดรับเป็นเครื่องจักรเดียวกันทั้งระบบเชื่อว่าคุณภาพการศึกษาไทยจะต้องดีขึ้นแน่ เพราะผู้เขียนเองมีความเชื่อมั่นอย่างนั้นด้วยศักยภาพเด็กไทยคิดว่าไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ที่ต้องแพ้อยู่ทุกวันนี้ก็ด้วยสนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตนของแต่ละภาคส่วนยังไม่ถูกขัดเกลาออกนั่นเอง.
 
กลิ่น สระทองเนียม
 
 
  • 24 ก.ย. 2556 เวลา 16:18 น.
  • 2,401

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

ความคิดเห็นเกี่ยวกับ : คุณภาพการศึกษาตกต่ำ ปัญหาสนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น!

ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ แนะนำติชม เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้

^