LASTEST NEWS

24 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 24 เม.ย. 2567สพป.เชียงใหม่ เขต 4 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 2) - ผลย้ายครู 2567 สพป.เชียงใหม่ เขต 4 24 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 24 เม.ย. 2567สพป.กระบี่ ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.กระบี่ 24 เม.ย. 2567สพป.ราชบุรี เขต 1 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.ราชบุรี เขต 1 24 เม.ย. 2567สพป.จันทบุรี เขต 1 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.จันทบุรี เขต 1 24 เม.ย. 2567สพป.ปัตตานี เขต 1 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.ปัตตานี เขต 1 24 เม.ย. 2567สพป.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 2 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 2 24 เม.ย. 2567สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 24 เม.ย. 2567สพม.อุดรธานี ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพม.อุดรธานี

คอลัมน์: มองไปข้างหน้า: จะประเมินครู ควรดูที่เด็ก!

  • 03 ก.ย. 2557 เวลา 09:57 น.
  • 3,622
คอลัมน์: มองไปข้างหน้า: จะประเมินครู ควรดูที่เด็ก!

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

คอลัมน์: มองไปข้างหน้า: จะประเมินครู ควรดูที่เด็ก!
 
ดร.อานนท์ ศักดิ์วีวิชญ์
 
ผมเคยได้รับการไหว้วานจากครูประถมศึกษาให้ช่วยอ่านและช่วยแก้งานวิจัยของตัวเองที่จะเอาไปใช้เพื่อยื่นประเมินขอเลื่อนวิทยฐานะ ว่าง่ายๆ ครูคนนี้ทำงานวิจัยเพื่อขอเลื่อนตำแหน่งทางราชการของตัวเองนั่นแหละ ด้วยความรู้จักมักคุ้นกันก็เลยช่วยดูและแก้ไขให้ เพราะเห็นว่าทำมาเอง (ถ้าลอกมาหรือจ้างมา ผมจะรีบปฏิเสธ!) ครูท่านนี้เล่าให้ผมฟังว่า พวกครูจำนวนมากไปจ้างอาจารย์มหาวิทยาลัยและอดีตศึกษานิเทศก์ให้มาทำงานวิจัยเลื่อนวิทยฐานะเหล่านี้ให้ด้วยราคาที่แพงมากเป็นแสนๆ บาท แต่มันก็คุ้มค่าในสายตาครู เพราะหากได้เลื่อนตำแหน่งก็จะได้เงินตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกมากมาย ทั้งเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงๆ ขึ้น เลยเป็นยอดปรารถนาของครูกันมากทีเดียว อันที่จริงการที่ครูอยากก้าวหน้าในตำแหน่งเป็นเรื่องดี และการที่ครูทำวิจัยก็เป็นเรื่องดีเหมือนกัน โดยเฉพาะถ้างานวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน (Classroom Action Research) นั้น น่าจะช่วยในการพัฒนาวิธีการเรียนการสอนเด็กไทยให้ได้ผลดีมากขึ้น แต่ผมคิดว่าสำหรับครูประถมศึกษา ครูมัธยมศึกษาแล้ว หน้าที่สำคัญที่สุดคือ การสอน การเป็นครูที่ดีที่ทำให้เด็กพัฒนาดีขึ้น มีอนาคตที่สดใส เป็นคนดีของสังคม เท่านี้ก็น่าจะพอแล้ว ถ้าจะเลื่อนตำแหน่งครูก็ควรจะพิจารณาว่าครูได้ทำให้เด็กดีขึ้น พัฒนาขึ้นจริงหรือไม่ เพราะครูไม่ใช่โรงงานผลิตกระดาษ ที่จะเอากระดาษหลายๆ แผ่น ไปแลกกับกระดาษประกาศเลื่อนตำแหน่งครู
 
เมื่อตอนผมเรียนปริญญาโททางจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมจำได้ว่า รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิโชค วรานุสันติกูล สอนโมเดลในการประเมินผลการฝึกอบรมที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกโมเดลหนึ่ง ซึ่งเสนอโดย Donald Kirkpatrick โมเดลนี้เสนอว่า การประเมินการพัฒนาคนควรประเมินใน 4 ระดับ คือ ในระดับปฏิกิริยา (Reaction) ซึ่งการประเมินความพึงพอใจนั้นอยู่ในระดับต่ำสุดตรงนี้นั่นเอง ในระดับถัดมาคือ การประเมินในระดับการเรียนรู้ (Learning) ว่านักเรียน นักศึกษา ผู้เข้ารับการอบรม ได้เรียนรู้อะไรบ้าง บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ ว่าง่ายๆ เด็กต้องเก่งขึ้น มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น ในระดับถัดไปคือ การประเมินพฤติกรรม (Behavior) ว่าผู้เรียนได้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้นจริงหรือไม่ เช่น ถ้าฝึกอบรมในองค์การได้นำความรู้นั้นไปใช้งานจริงๆ หรือไม่ เด็กนักเรียนได้เอาความรู้ดังกล่าวไปใช้ในการทำงานจริงหลังจบการศึกษาหรือไม่ และทำได้ดีเพียงใด และในระดับสูงสุดคือ การประเมินผลลัพธ์ (Result) โดยเฉพาะผลลัพธ์ทางการเงิน-ต้นทุน ที่ลงไปให้ผลตอบแทนคุ้มค่าเพียงใด ยกตัวอย่างเช่น รายงานการศึกษาโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นำโดยอาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ชี้ให้เห็นว่า ครูไทยประถมศึกษา มัธยมศึกษา สมัยนี้เงินเดือนสูง ค่าตอบแทนดีไม่แพ้อาชีพอื่น แต่ผลสัมฤทธิ์ของเด็กไทยกลับไม่ได้ดีนัก ไม่ว่าจะประเมินจากการสอบ Trends in International Mathematics and Science Study : TIMMS หรือ Program for International Student Assessment :  PISA ที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับแย่ๆ แพ้ลาว เขมร และเวียดนาม หลุดลุ่ย
 
ขณะที่ประเทศไทยใช้วิธีการประเมินครูด้วยการให้เด็กประเมินความพึงพอใจ และการทำเอกสาร มคอ. ISO ต่างๆ จนกระดาษล้นโรงเรียน ครูในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาแข่งกันทำผลงานวิชาการ (งานวิจัย) ที่ไปจ้างคนอื่นๆ ทำกัน มากกว่าทำด้วยตัวเอง (ลอง google คำว่า ทำผลงานเลื่อนวิทยฐานะครู ดูสิครับผม มีคนรับจ้างเยอะเลย แพงๆ ด้วยครับ) ในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกา กลับเอาจริงเอาจังในการประเมินความสำนึกรับผิดชอบ (Accountability) ของครู ว่าครูผู้สอนเมื่อสอนแล้วเด็กนักเรียนต้องดีขึ้น มีการใช้แบบจำลองการเพิ่มค่า (Value-added model) ซึ่งผมมีโอกาสดีได้ไปนั่งเรียนกับ Henry Braun ศาสตราจารย์ทางการศึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ที่สุดในโลกขณะที่ไปฝึกงานที่ Educational Testing Service แบบจำลองการเพิ่มค่านี้เป็นแบบจำลองทางสถิติที่ค่อนข้างซับซ้อน การเพิ่มค่านี้เป็นการนับมาจากฐานเดิมว่ามีการพัฒนามาจากเดิมมากน้อยเท่าใดในช่วงเวลาหนึ่ง และพยายามควบคุมปัจจัยอื่นๆ ให้ได้มากที่สุดเพื่อให้เกิดความยุติธรรม ด้วยเหตุที่แบบจำลองนี้ปรับจากพื้นความรู้เดิมที่เด็กมีอยู่แล้ว จึงไม่เป็นการได้เปรียบเสียเปรียบ ระหว่างครูได้สอนเด็กเก่ง หรือครูบางคนได้สอนแต่เด็กอ่อน ครูสอนโรงเรียนดังหรือโรงเรียนที่ไม่มีชื่อเสียงเลย เพราะดูจากการเพิ่มค่าควบคุมปัจจัยพื้นฐานเดิมก่อนการเรียนการสอน
 
อย่างไรก็ตาม ครูส่วนใหญ่ในอเมริกาค่อนข้างเกลียดแบบจำลองการเพิ่มค่านี้กันมาก มีการต่อต้านจากสหภาพแรงงานครูค่อนข้างรุนแรง แต่มลรัฐส่วนใหญ่ในอเมริกาก็ใช้กันแพร่หลายโดยไม่สนใจสหภาพแรงงานครู เนื่องจากโมเดลนี้ประเมินครูโดยมีหลักการว่าหากครูสอนได้ดีจริง ผลการเรียน ผลสัมฤทธิ์ของเด็กต้องดีขึ้น เด็กต้องมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการสอนของครู วิธีนี้ทำให้ครูต้องไปขบคิดมากเลยว่าจะสอนเด็กอย่างไรให้ได้ผล ทำอย่างไรไม่ให้เด็ก drop out ออกไป ทำอย่างไรให้เด็กพยายามมาเรียนหนังสือ จะทำอย่างไรให้เด็กสนใจการเรียน ผมคิดว่าวิธีการนี้น่าจะเป็นการประเมินในระดับการเรียนรู้หรือในระดับพฤติกรรมตามโมเดลของ Kirkpatrick เสียด้วยซ้ำ ส่วนไอ้ที่ประเทศไทยทำการประเมินเลื่อนวิทยฐานะครูด้วยกระดาษงานวิจัยหรือ ISO นั้น น่าจะไม่ได้อยู่ในสี่ระดับของการประเมินของ Kirkpatrick เลยแม้แต่น้อย?
 
ที่ครูในอเมริกากลัวแบบจำลองการเพิ่มค่ามาก เพราะเขาใช้การเพิ่มค่านี้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของครู ครูหลายคนต้องออกเพราะสอนแล้วเด็กไม่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเลยแม้แต่น้อย โมเดลนี้พัฒนาไปจนถึงระดับโรงเรียน ใช้ในการประเมินผลงานของผู้บริหารโรงเรียน หากผู้บริหารโรงเรียนใดไม่สามารถบริหารโรงเรียนแล้วทำให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนที่ตนบริหารให้พัฒนาตัวเองและมีผลการเรียนดีขึ้นแล้ว ผู้บริหารก็อาจจะหลุดออกจากตำแหน่งเสียด้วยซ้ำไป ข้อนี้ทำให้เกิดการต่อต้านมาก แต่เมื่อมีเจตนารมณ์อันเข้มแข็งทางการเมือง (Political will) แล้วก็ทำได้ แบบจำลองการเพิ่มค่าเมื่อนำมาผูกกับการให้คุณให้โทษเลยทำให้ครูเครียดมาก มุ่งโฟกัสไปที่นักเรียน ทำไงให้เด็กพัฒนา ต้อง accountable กับอนาคตและพัฒนาการของเด็ก นี่แหละครับผม ผมว่านี่แหละ Child centered ที่แท้จริง ไม่ใช่ควายเซ็นเตอร์แบบระบอบการศึกษาไทย ส่วนระบบการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะครูแบบไทยๆ ที่ใช้กันทุกวัน ทำให้ครูสนใจตัวเองมากกว่าจะสนใจเด็กนักเรียนและการเรียนการสอน
 
ประเทศไทยลงทุนเรื่องการศึกษามาก ครูได้ผลตอบแทนดี (แตกต่างจากในอดีต) และไม่ใช่อาชีพที่จนอีกต่อไป แต่ทำไมเด็กไทยยังด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เขมร เวียดนาม (ไปดูผลการทดสอบมาตรฐานหลายๆ อันเถิดครับ) ผมว่าสาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือ การประเมินผลให้คุณให้โทษครู ไม่ได้อยู่บนหลักเกณฑ์ที่ควรจะเป็น กลับไปยกย่องกระดาษ ให้รางวัลกระดาษที่ครูปั่นหรือจ้างปั่นขึ้นมา แทนที่จะตอบแทนครูที่สอนและพัฒนาเด็กให้ดีขึ้น ถ้าตั้งเกณฑ์อย่างนี้แล้วมันก็จบ เพราะครูจะไม่เอาใจใส่เด็ก แต่ใส่ใจกระดาษมากกว่าเด็กนักเรียน แต่ถ้าจะเอาแบบจำลองการเพิ่มค่ามาใช้ในประเทศไทย ผมคิดว่าไม่มีทางเกิดในสมัยที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง เพราะพรรคการเมืองและนักการเมืองจะกลัวเสียคะแนนเสียงเลือกตั้งจากครู ของดีๆ อย่างนี้เลยเกิดได้ยากยิ่ง แม้น่าจะมีผลดีกับการศึกษาของชาติมากที่สุด แม้อาจจะได้รับการต่อต้าน แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ดีต่ออนาคตของชาติก็สมควรจะทำไม่ใช่หรือ ยิ่งมีอำนาจในการปกครองประเทศเต็มมือแล้ว ก็ยิ่งควรจะทำ คงต้องตั้งคำถามว่า ถึงเวลาหรือยังที่เราจะเปลี่ยนระบบการประเมินผลงาน ระบบการเลื่อนวิทยฐานะของครู ให้ดูที่พัฒนาการและผลสัมฤทธิ์ของเด็กเป็นสำคัญ 
 
-- จะประเมินครู ให้ดูที่เด็ก!.
 
 
 
  • 03 ก.ย. 2557 เวลา 09:57 น.
  • 3,622

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

ความคิดเห็นเกี่ยวกับ : คอลัมน์: มองไปข้างหน้า: จะประเมินครู ควรดูที่เด็ก!

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น!

ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ แนะนำติชม เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้

^