LASTEST NEWS

19 ก.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู รอบที่ 2 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 19 ก.ย. 2567สพฐ. แจงศิลปหัตถกรรมนักเรียน แยกการแข่งวิชาการ ลดภาระครู-นักเรียน ไม่ซ้ำซ้อน . 18 ก.ย. 2567ศธ.ย้ำ 20 ก.ย.นี้รู้ผลสอบ "ครูเบญ" ชี้อย่าตัดสินคนแค่เพราะนามสกุลดัง 18 ก.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู รอบที่ 2 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ (ต่อ) 18 ก.ย. 2567โรงเรียนพระธาตุขามแก่นพิทยาลัย​ รับสมัครครูช่วยสอน 6 อัตรา ตั้งแต่บัดนี้ - 25 กันยายน 2567 18 ก.ย. 2567โรงเรียนซำสูงพิทยาคม รับสมัครครูช่วยสอน 5 อัตรา เงินเดือน 15,000.-บาท ตั้งแต่บัดนี้ - 26 กันยายน 2567 16 ก.ย. 2567มาแล้ว!! ด่วนที่สุด! การจัดการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 72 ปีการศึกษา 2567 ให้ดำเนินการแข่งขันโดยสิ้นสุดที่ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 16 ก.ย. 2567สพฐ. เร่งสอบข้อเท็จจริง ครูสาวสอบได้ที่ 1 ชื่อหาย ย้ำต้องโปร่งใส ตรงไปตรงมา 16 ก.ย. 2567ยันไม่มีมวยล้มต้มคนดู! ‘ครูเบญ’ บุกศธ.ทวงความเป็นธรรมสอบครูได้ที่ 1 ชื่อล่องหน 15 ก.ย. 2567กรมท่าอากาศยาน เปิดสอบบรรจุเข้ารับราชการ 24 อัตรา วุฒิปวส./ป.ตรี/ป.ตรีทุกสาขา สมัครตั้งแต่บัดนี้ - 3 ตุลาคม 2567

พงศ์เทพจับเข่าถก'ซีอีโอ'ผลิตกำลังคน

  • 25 มิ.ย. 2556 เวลา 05:52 น.
  • 2,509
พงศ์เทพจับเข่าถก'ซีอีโอ'ผลิตกำลังคน

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

พงศ์เทพจับเข่าถก'ซีอีโอ'ผลิตกำลังคน
'Nation Exclusive Insights for CEOs' พงศ์เทพจับเข่าถก'ซีอีโอ'ผลิตกำลังคนตรงสายงาน : ธรรมรัช กิจฉลอง โต๊ะข่าวสังคม- การศึกษารายงาน
 
           ห้องดุสิตธานี โรงเรียนดุสิตธานี เมื่อเช้าวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่คลาคล่ำด้วยบรรดานักวิชาการ นักธุรกิจ ที่มาร่วมในงาน ”Nation Exclusive Insights for CEOs“ หากแต่ยังอบอวลไปด้วยบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนกันอย่างเปิดกว้าง เพื่อร่วมกันถางทางสู่การจัดการศึกษาที่สนองตอบต่อการปฏิรูป ตอบทุกโจทย์ในสังคม และก้าวเดินสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
 
           "พงศ์เทพ เทพกาญจนา" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับหน้าที่บรรยายพิเศษในหัวข้อ ”Education  Reform to Match Needs of Businesses” โดยมี "สิทธิชัย หยุ่น"  ประธานกรรมการบริหารบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) นำทีมผู้บริหารธุรกิจ นักวิชาการ และผู้บริหารเครือเนชั่นร่วมรับฟังแลกเปลี่ยน เริ่มต้นด้วยจุดประสงค์ของงานนี้ โดยสุทธิชัยบอกว่า เนชั่นฟอรั่มจัดขึ้นทุกๆ 2-3 เดือน เพื่อให้มีผู้มีบทบาททางสังคมได้มาพูดคุยกัน เพื่อหาทางแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการพูดคุยเกี่ยวกับการศึกษา เพราะเล็งเห็นว่า ปัญหาของชาติในทุกเรื่องราวสามารถแก้ไขได้ด้วยการศึกษา
 
           จากนั้น พงศ์เทพเริ่มการบรรยายพิเศษว่า การพัฒนาการศึกษาจะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะทุกฝ่ายต่างใช้ประโยชน์จากการศึกษา ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า จะต้องไม่มีมิติทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะหากนำเอาการเมืองเข้ามายุ่งกับการศึกษา ไม่ว่าประเทศไหนๆ ก็ไปไม่รอด ดังนั้น การพัฒนาการศึกษาจะแบ่งฝักแบ่งฝ่ายไม่ได้ จะต้องคิดทำเพื่อประเทศอย่างแท้จริง ขณะที่เห็นว่า การพัฒนาการศึกษาให้สำเร็จคงไม่สามารถทำได้ภายใน 2 ปี จะต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี จึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลง
 
           “ผลการทดสอบและการประเมินคุณภาพการศึกษาต่างๆ ที่ผ่านมา สะท้อนว่าเราต้องพัฒนาการศึกษาอีกเยอะ แต่จะทำทั้งหมดคงไม่ไหว เท่าที่ดูการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาปรากฏว่า ทุกคนได้หมด ได้โครงสร้าง ได้ตำแหน่ง ยกเว้นเด็ก แค่คุณภาพการศึกษาที่ดีก็ยังไม่ได้รับเท่าที่ควร ผมจึงมุ่งปฏิรูปใน 2 เรื่องหลัก คือ การปฏิรูปหลักสูตรและปฏิรูปครู เนื่องจากปัจจุบันเด็กไทยเรียนเยอะแต่ความรู้น้อย ไม่มีประโยชน์ ทำให้เสียเวลาและทรัพยากร ผมจึงมุ่งปรับปรุงหลักสูตรโดยให้ความรู้อย่างกว้างๆ หากอยากรู้เรื่องใดในเชิงลึกก็ไปค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งต่างๆ เช่น อินเทอร์เน็ต และสอนเด็กให้คิดวิเคราะห์เป็น และมีคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งครูก็ต้องปรับวิธีการสอนกระตุ้นให้เด็กคิดวิเคราะห์ กล้าแสดงออกและเป็นตัวอย่างที่ดีด้านคุณธรรม จริยธรรม เพราะการปลูกฝังคุณธรรมต้องปลูกฝังอย่างเป็นระบบโดยให้เด็กปฏิบัติจริงและเห็นแบบอย่างที่ดี หากทำ 2 เรื่องหลักนี้ได้สำเร็จในขณะที่ผมยังเป็นเป็นรัฐมนตรีศึกษา ผมก็พอใจมากแล้ว”
 
           ส่วนการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ส่งคำร้องขอความร่วมมือถึงภาคธุรกิจต่างๆ ว่า ควรจะต้องมีประมาณการล่วงหน้าว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าภาคธุรกิจต้องการกำลังคนในอาชีพใดบ้าง  จำนวนเท่าใด และมีคุณสมบัติอย่างไร
 
           ซึ่งในส่วนของอาชีวศึกษา พงศ์เทพนำเสนอความเห็นของเขาว่า จะต้องใช้ระบบทวิภาคี ให้เด็กเรียนในสถาบันควบคู่กับการไปฝึกงานในสถานประกอบการ เพราะผลิตกำลังคนออกไปแล้วใช้งานได้ทันที เนื่องจากเด็กใช้เทคโนโลยีในสถานประกอบการ
 
           “ผมเห็นตัวอย่างเยอรมนี ซึ่งมีการกำหนดอาชีพที่ต้องผลิตกำลังคนไว้รองรับประมาณ 30 อาชีพ มีการประมาณการว่าต้องใช้กำลังคนที่ต้องใช้ไว้ล่วงหน้าหลายปี และภาคธุรกิจ เช่น รถบีเอ็มดับเบิลยู เด็กจบ ม.3 มาเรียนช่างยนต์ โดยเขายอมทุ่มงบให้ทุนเรียนคนละ 2 ล้าน 5 แสนบาท บางบริษัทตั้งโรงเรียนเองหรือร่วมมือกับโรงเรียนรัฐจัดการศึกษา ผมมีแนวคิดจะนำรูปแบบของประเทศเยอรมนีมาใช้ โดยขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจเปิดโอกาสให้เด็กอาชีวศึกษาหรือพนักงานในสถานประกอบการมาเรียนระบบทวิภาคี โดยเรียนในห้องเรียน 50% และฝึกงานในสถานประกอบการ 50% เรียนจบแล้วประกันการมีงานทำ เด็กจะทำงานได้ 100% ภาคธุรกิจก็ไม่ต้องลงทุนมากเหมือนภาคธุรกิจในเยอรมัน อาจจะต้องจ่ายค่าจ้างให้เด็กระหว่างฝึกงาน แต่ก็ได้พนักงานที่พร้อมทำงานอย่างเต็มที่ อีกทั้งให้ครูอาชีวศึกษาที่สอนมาได้ 5 ปีออกไปทำงานกับภาคธุรกิจชั่วคราว 6 เดือนเพื่อหาประสบการณ์และเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆนำมาสอนเด็ก”
 
           "ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์" ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า  ปัจจุบันการศึกษามีปัญหามากมาย เพราะไปยึดโยงกับการเมือง จนทำให้ต้องเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีและนโยบายบ่อยครั้ง ผลที่ตามมาคือ การพัฒนาทางการศึกษาไม่ต่อเนื่อง ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการกำลังเร่งปรับปรุงหลักสูตรชั้น ป.1-ม.6 เพื่อให้เด็กไม่ต้องเรียนเยอะเกินไป จากสถิติทุกวันนี้เด็กประถมใช้เวลาเรียนถึงปีละ 1,000 ชั่วโมง และมัธยมเรียนปีละ 1,200 ชั่วโมง นอกจากนี้กระทรวงศึกษาฯ ก็จะปรับปรุงหลักสูตรให้มีความทันสมัยมากขึ้น พร้อมกับการปฏิรูปครู เพราะเท่าที่ประเมินเห็นว่ายัง "เละ" เพราะขณะนี้มีการผลิตเกินความต้องการประมาณ 5 แสนคน แต่มีตำแหน่งบรรจุแค่ปีละ 1,500 อัตรา และเวลานี้กระทรวงศึกษาธิการมีครูอยู่ 6 แสนคน โดยเฉลี่ยอยู่ในสัดส่วนครู 1 คนต่อนักเรียน 19 คน ซึ่งก็เหมาะสม แต่ก็มีปัญหาอยู่ว่า ครูในโรงเรียนต่างจังหวัด 1 คน สอนนักเรียนมากถึง 2-3 ห้อง ขณะที่ครูโรงเรียนในเมือง 3 คน สอนนักเรียนเพียงห้องเดียว
 
           “ผมยังมีแนวคิดที่จะเสนอรัฐมนตรีศึกษาธิการให้ปรับโครงสร้างของกระทรวงศึกษาฯ เพื่อกระจายอำนาจไปสู่โรงเรียนให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นอนาคตของกระทรวงศึกษาฯ น่าห่วง"
 
           ศ.ดร.ภาวิช ยังแนะนำว่า ต่อไปไม่ควรมีใครมีอำนาจเซ็นย้ายครูได้อีกแล้ว เพราะการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาแยกเป็น 5 หน่วยหลัก โดยที่เด็กไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะโครงสร้างไปกระจุกอยู่ที่อำนาจใหม่ ซ้ำยังมาแบ่งเป็นเขตพื้นที่ประถม มัธยมกันอีก  
 
           "เวลานี้งบกระทรวงศึกษาฯ มี 4 แสนล้านบาท ลงไปถึงตัวเด็กจริงๆ คนละ 1,000 บาทต่อปี เพราะเส้นทางจากโรงเรียนมาสู่กระทรวงศึกษาฯ นั้นยาว และยังมีปัญหาบัญชีรายชื่อนักเรียนผีเพื่อสถานศึกษาจะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น ขณะที่ครูเอง เมื่อได้บรรจุและไปที่ประจำในถิ่นกันดาร ก็วิ่งเต้นและจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ได้ย้ายมาสอนโรงเรียนในตัวเมือง ผมเห็นว่า จะต้องกระจายอำนาจไปสู่โรงเรียนมากขึ้นโดยไม่ให้ใครมีอำนาจเซ็นย้ายครูได้อีกต่อไป”
 
           "อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล" ประธานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  กล่าวว่า จากการหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีทำให้ได้ทราบข้อมูลว่า โครงการลงทุนด้านการคมนาคมขนส่งงบ 2 ล้านล้าน และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ต้องใช้กำลังคนทั้งหมดประมาณ 5 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้คาดว่าเป็นกำลังคนที่มีวุฒิอาชีวศึกษาประมาณ 3 แสนคน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแต่ละปีมีเด็กเรียนจบ ม.ต้น ประมาณ 8 แสนคน ในจำนวนนี้เรียนอาชีวศึกษา 2.7 แสนคน อีก 1 แสนคนออกไปจากระบบการศึกษา ส่วนที่เหลือเรียนต่อ ม.ปลาย เนื่องจากพ่อแม่มีค่านิยมให้ลูกได้รับใบปริญญาและไม่สนับสนุนเรียนอาชีวศึกษาเพราะกลัวลูกถูกลูกหลงจากเหตุทะเลาะวิวาท
 
           อนุสรณ์ บอกว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะต้องมียุทธศาสตร์สร้างภาพลักษณ์ให้อาชีวศึกษา เมื่อเด็กเรียนจบมีงานทำและรายได้มั่นคง จบระดับ ปวส.ได้เงินเดือน  20,000 บาท และเด็กสามารถเรียนต่อระดับปริญญาตรี สอศ.ได้จัดตั้งสถาบันที่เปิดสอนปริญญาตรีสาขาช่าง พาณิชย์และเกษตรกรรมรวม 23 แห่ง ตอนนี้เปิดแล้ว 6 แห่ง รับนักศึกษาแล้ว 620 คน และจะต้องปรับการเรียนการสอนโดยเรียนวิชาการ 1 ปีและปฏิบัติในสถานประกอบการ 1 ปี พร้อมกันนี้ก็จะปลูกฝังให้มีคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ และจิตอาสา
 
           “เมื่อรัฐและภาคธุรกิจมีการลงทุนขนาดใหญ่ จะไม่ลงทุนด้านกำลังคนได้ยังไง โดยเฉพาะภาคธุรกิจน่าจะรวมตัวกันให้ทุนปีละ 1 หมื่นทุน คิดเป็นเงินทั้งหมดประมาณ 1 พันล้านบาท เพื่อให้ทุนเด็กจบ ม.ต้น ได้เกรดเฉลี่ย 2.7 ขึ้นไปมาเรียนอาชีวศึกษาและรับเด็กกลุ่มนี้เข้าทำงาน จะทำให้บริษัทมีความมั่นคงด้านกำลังคนและมีผลดีในระยะยาว ทำให้เด็กหันมาเรียนอาชีวศึกษามากขึ้น”
 
วิเชียร พงศธร   
กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด
 
           "สถานประกอบการส่วนใหญ่ต่างต้องการกำลังคนที่เป็นคนดีและมีทักษะในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งการสร้างเด็กให้เป็นคนดีและมีคุณธรรมนั้น ครูและครอบครัวต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กและรัฐบาลควรประกาศเป็นวาระแห่งชาติด้วย"
 
 
มีชัย วีระไวทยะ     
นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน
 
           "ขอเสนอให้บริษัทเอกชนเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนงบประมาณและช่วยพัฒนาโรงเรียนในด้านต่างๆ โดยให้พนักงานหรือจ้างครูมาช่วยสอน โดยให้รับครูเป็นพนักงานบริษัท ขณะที่รัฐบาลควรมีนโยบายสนับสนุนในเรื่องนี้ด้วยการลดหย่อนภาษี 2 เท่า ให้แก่บริษัทที่เป็นพี่เลี้ยงกับโรงเรียน"
นายทะนง โชติสรยุทธ์    
กรรมการผู้จัดการบริษัทซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด 
 
           "กระทรวงศึกษาธิการควรตั้งทีมกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาด้านการศึกษาโดยรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายและผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยไม่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณและแก้ปัญหาให้สำเร็จภายในเวลาสั้นๆ ซึ่งทีมนี้ต้องประกอบด้วยฝ่ายการเมือง ภาคธุรกิจ และข้าราชการที่มีความมุ่งมั่นต้องการให้การศึกษาเกิดการเปลี่ยนแปลงในเวลาอันรวดเร็ว และควรแก้ปัญหาในภาพรวมของประเทศไปในคราวเดียว โดยนำปัญหาต่างๆ ของประเทศมาหลอมรวมกับการศึกษาและแก้ปัญหา จะช่วยประหยัดงบประมาณได้อย่างมาก"
................................
(หมายเหตุ : 'Nation Exclusive Insights for CEOs' พงศ์เทพจับเข่าถก'ซีอีโอ'ผลิตกำลังคนตรงสายงาน : ธรรมรัช กิจฉลอง โต๊ะข่าวสังคม- การศึกษารายงาน)
 
 
  • 25 มิ.ย. 2556 เวลา 05:52 น.
  • 2,509

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

ความคิดเห็นเกี่ยวกับ : พงศ์เทพจับเข่าถก'ซีอีโอ'ผลิตกำลังคน

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น!

ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ แนะนำติชม เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้

^