LASTEST NEWS

17 พ.ค. 2567เปิดเทอมใหม่ สพฐ.กำชับโรงเรียน “ลดการบ้าน-ลดประเมิน” สร้างความสุขนักเรียน-ครู 17 พ.ค. 2567ด่วนที่สุด !! รมว.ศธ. แจ้งหัวหน้าส่วนราชการ ผ่อนผันการแต่งเครื่องแบบนักเรียน 16 พ.ค. 2567กรมราชทัณฑ์ เปิดสอบบรรจุเข้ารับราชการ 102 อัตรา สมัครได้ทางอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 - 18 มิถุนายน 2567 16 พ.ค. 2567โรงเรียนวัดสํานักบก รับสมัครครูอัตราจ้าง วิชาภาษาอังกฤษ เงินเดือน 15,000.- บาท ตั้งแต่บัดนี้ - 22 พฤษภาคม 2567 16 พ.ค. 2567“บิ๊กอุ้ม” จี้อ.ก.ค.ศเขตพื้นที่ ทำงานโปร่งใส ไร้ทุจริต ยึดประโยชน์ราชการ 16 พ.ค. 2567เสมา 1 มุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบาย รวมพลัง ศธ. จับมือเดินหน้าผลักดัน “ธนาคารหน่วยกิต เพิ่มโอกาสทางการศึกษาสำหรับทุกคน” 16 พ.ค. 2567“สิริพงศ์” แจงวิชาลูกเสือมีความทันสมัย แต่ขาดการสร้างความรับรู้ 15 พ.ค. 2567ท้องถิ่น เตรียมจัดสอบ 92 ตำแหน่ง รวม 6,262 อัตรา - ครูผู้ช่วย 29 วิชาเอก 1,157 อัตรา 15 พ.ค. 2567อาชีวะเตรียมรับพนักงานราชการเพิ่มกว่า 1,100 อัตรา  15 พ.ค. 2567สพฐ.เล็งยุบเลิก รร.ขนาดเล็กที่ไม่มีเด็กเรียน 

ครูโสด พ่อแม่ตาย ไร้ญาติมิตรฯ ตายไป ใครรับเงิน ช.พ.ค.

  • 07 ก.ค. 2559 เวลา 09:21 น.
  • 121,769
ครูโสด พ่อแม่ตาย ไร้ญาติมิตรฯ ตายไป ใครรับเงิน ช.พ.ค.

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

ครูโสด พ่อแม่เสียแล้ว ไม่มีญาติพี่น้อง ตายไป ใครจะรับเงิน ช.พ.ค.
 
ช.พ.ค. คืออะไร ?
เชื่อว่า เราไม่ใส่ใจในความหมายเท่าไหร่หรอก รู้แค่ว่าเมื่อเราตายไป บิดา มารดา บุตร สามี หรือ ภรรยา จะได้เงินจำนวนหนึ่ง คือ “เงิน ช.พ.ค.” .....นั้นเป็นการรับรู้เมื่อก่อน 
หากถามถึงนิยาม ช.พ.ค. ในปัจจุบัน การใส่ใจในความหมายน่าจะเหมือนเดิม  แต่การรับรู้ถึง ช.พ.ค.มีมากขึ้น เพราะคำว่า “เงินกู้ ช.พ.ค.” ที่เป็นสวัสดิการก้อนใหญ่ สามารถกู้ได้เป็นล้าน จนทำให้ “เงินคนตาย” คลายความสำคัญลง.....นี้อาจเป็นการรับรู้ในปัจจุบัน  
ผม อาจรวมถึงหลายท่านด้วย เมื่อแรกเข้าทำงานเป็น ”ครู” สิ่งหนึ่งมักจะได้รับการแนะนำในลำดับต้น ๆ คือ การต้องสมัครเป็นสมาชิกคุรุสภา และ ช.พ.ค. โดยเข้าใจเพียงว่า เมื่อ เป็นครู ก็เป็นสมาชิกคุรุสภา เมื่อเป็นสมาชิกคุรุสภา ก็ต้องเป็นสมาชิก ช.พ.ค. เมื่อเป็นสมาชิก ช.พ.ค. ก็ต้องชำระเงิน ช.พ.ค. และเมื่อตายไป บิดา มารดา ญาติจะได้เงิน ช.พ.ค. เท่านั้น ส่วนจะเป็นเงินเท่าไหร่ ใครได้บ้าง ได้อย่างไรไม่ใคร่รู้ เมื่อไปที่สำนักงานศึกษาธิการอำเภอ (สมัยนั้น) ได้แจ้งความประสงค์ เจ้าหน้าที่ก็ให้กรอกแบบฟอร์ม ก็กรอก ๆ ไป จำได้ว่ามีการชำระเงินค่าสมาชิก เงิน ช.พ.ค. ล่วงหน้า ส่วนการระบุสิทธิ์ในเงิน ช.พ.ค. น่าจะเป็น บิดา มารดา เพราะเป็นโสด เสร็จแล้วก็กลับ จากนั้นเรารู้แค่ว่าทุกเดือนเขาจะหักเงิน ช.พ.ค. เราเอง 
ช.พ.ค. เป็นสวัสดิการ ?
ช.พ.ค. คือ การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นเรื่องของสวัสดิการ ที่ดำเนินการตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา ว่าด้วยการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ปัจจุบันใช้ฉบับ พ.ศ. 2550) ซึ่งเกิดขึ้นตาม มาตรา 72 (2) ของพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับวิชาชีพครู 
สวัสดิการนี้ จะเกิดก็ต่อเมื่อเรามีคุณสมบัติและสมัครเป็นสมาชิก ช.พ.ค. (ปัจจุบันสมัครที่ สำนักงาน สกสค. จังหวัดที่ทำงาน) เราต้องชำระค่าสมาชิก (ปัจจุบัน คนละ 50 บาท) และเงินสงเคราะห์ล่วงหน้า (ปัจจุบัน คนละ 1,000 บาท) จากนั้นทุกเดือนจนกระทั่งลาออก ขาดสมาชิกภาพ หรือ เสียชีวิต เราต้องชำระเงินสงเคราะห์รายศพทุกเดือน ปกติศพละ 1 บาท (เดือน พฤษภาคม 2559 จำนวน 609 บาท) โดยเงินจำนวนนี้จะนำไปจ่ายเป็นค่าจัดการศพและเงินสงเคราะห์ครอบครัว ช.พ.ค. ของสมาชิก ช.พ.ค.ที่เสียชีวิต (เดือน เมษายน 2559 ได้รับ 939,049 บาท) 
สวัสดิการ นี้จะคงอยู่ตราบที่ไม่ถูกตัดสิทธิ์ สมาชิก ช.พ.ค. จะถูกตัดสิทธิ์หากขาดการชำระเงินสงเคราะห์ศพรายเดือน ติดต่อกันสามเดือนขึ้นไป อย่างไรก็ตาม หากมาชำระภายหลัง สิทธิ์นั้นก็จะได้รับคืน ถึงแม้จะขาดไป 6 เดือน 1 ปี หรือ 10 ปี แต่ต้องไปติดต่อขอชำระเงินทั้งหมดที่ค้าง และทำเรื่องคืนสิทธิ์ต่อ สำนักงาน สกสค. จังหวัด ....นั้นความโชคดีครับ  แต่หากกรณีสมาชิกเสียชีวิตช่วงที่ถูกตัดสิทธิ์ เป็นโชคร้ายมาก...เงินค่าจัดการศพ และเงินสงเคราะห์ครอบครัวรวมประมาณเก้าแสนเศษเป็นอันมลายหายไป...ถูกตัดสิทธิ์ก็คือไม่มีสิทธิ์..... 
ใครมีสิทธิ์รับเงินสงเคราะห์ฯ กรณี สมาชิก ช.พ.ค. เสียชีวิต ?  



เมื่อสมาชิก ช.พ.ค. ถึงแก่กรรม ครอบครัวของสมาชิกมีสิทธิ์ได้รับการสงเคราะห์ตามระเบียบ ช.พ.ค. โดยแยกเงินสงเคราะห์เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เงินสงเคราะห์จัดการศพ (จำนวน 200,000 บาท) และส่วนสอง เป็นเงินสงเคราะห์ครอบครัว เป็นจำนวนเงินตามที่เก็บได้จากเพื่อนสมาชิกที่มีชีวิตอยู่ โดยหักส่วนแรกออกไป (ปัจจุบันเหลือประมาณเจ็ดแสนห้าหมื่นบาทเศษ) ไม่ว่าเงินก้อนแรก หรือเงินก้อนสอง คนที่จะได้รับ ต้องเป็นคนที่มีสิทธิ์ฯ  สิทธิ์ที่ว่าคือสิทธิ์ตามกฎหมายการนี้ โดยแบ่งบุคคลที่มีสิทธิ์ออกเป็นกลุ่ม และจัดอันดับสิทธิ์ก่อนหลัง บุคคลนอกเหนือจากสามกลุ่มนี้จะไม่มีสิทธิ์
           1. อันดับหนึ่ง เป็นคู่สมรส บุตร บุตรบุญธรรม บุตรนอกสมรสที่บิดารับรอง บิดา และหรือมารดาของสมาชิก ช.พ.ค.
           2. อันดับสอง ผู้อยู่ในอุปการะสมาชิก ช.พ.ค.อย่างบุตร (คนที่สมาชิก  ช.พ.ค.อุปการะเลี้ยงดู)
           3. อันดับสาม ผู้อุปการะสมาชิก ช.พ.ค. (คนเลี้ยงดู อุปการะสมาชิก ช.พ.ค.) 
การระบุสิทธิ์ในการรับเงินสงเคราะห์ฯ ระบุอย่างไร ?
          สมาชิก ช.พ.ค. จะต้องระบุชื่อผู้มีสิทธิ์รับเงินสงเคราะห์ฯไว้ ตอนแรกเริ่มที่สมัครสมาชิกฯ หรือ เมื่อคราวต้องการเปลี่ยนแปลง (ทุก ๆ สี่ปี สามารถเปลี่ยนแปลงได้) หรือจะไม่ระบุก็ได้ หากระบุคนที่ถูกระบุสิทธิ์ต้องเป็นคนในอันดับหนึ่งก่อน จะระบุให้คนอันดับสองได้ก็ต่อเมื่อไม่มีคนในอันดับหนึ่ง ขณะที่จะระบุให้คนอันดับสามได้ ก็ต่อเมื่อไม่มีคนอันดับหนึ่งและอันดับสอง
เช่น กรณีเป็นโสด ไม่ได้จดทะเบียนบุตรบุญธรรม พ่อ แม่เสียชีวิตหมด จะระบุให้ใคร?  โดยข้อกฎหมายบุคคลในอันดับหนึ่งไม่มีเหลือแล้ว จะให้ญาติ พี่น้อง หลาน หรือใคร ๆ รวมทั้งคนรักก็ไม่ได้  เพราะ กฎหมายให้ระบุเฉพาะผู้อุปการะ (อันดับสอง) หรือผู้อยู่ในอุปการะ (อันดับสาม) เท่านั้น ดังนั้นในทางปฏิบัติเวลากรอกแบบระบุผู้มีสิทธิ์รับเงินสงเคราะห์ ช่องรายชื่อผู้มีสิทธิ์ฯ เราก็สามารถระบุชื่อญาติ พี่น้อง คนนั้นๆ เป็นผู้มีสิทธิ์ได้ แต่ต้องกรอกในฐานะผู้อุปการะหรือผู้อยู่ในอุปการะ (ช่องกรอกผู้มีสิทธิ์ใช้คำว่าเกี่ยวข้องเป็น...กับข้าพเจ้า  ตรง....นี้แหละให้เขียนว่า ผู้อุปการะ หรือ อยู่ในอุปการะ ห้ามใช้คำว่า พี่ หรือ น้อง หรือ หลานโดยโดขาด จะเสียสิทธิ์ทันที ; คลิ กดูแบบฟอร์มการระบุสิทธิ์ตามอ้างอิง) เท่านี้ก็หายห่วงแล้ว จะมีคนรับเงินสงเคราะห์อย่างแน่นอน แต่ต้องมีหลักฐานที่เพียงพอและสามารถอธิบายได้ต่อเจ้าหน้าที่ฯ นะครับ 
เมื่อสมาชิก ช.พ.ค. เสียชีวิต ใครเป็นผู้มีสิทธิ์รับเงินค่าจัดการศพ ? (ก้อนแรกประมาณสองแสนบาท) 
1. กรณีระบุสิทธิ์ ให้คนที่ถูกระบุสิทธิ์เป็นผู้รับเงินค่าจัดการศพ และเมื่อรับเงินไปแล้วต้องเป็นผู้จัดการศพ โดยต้องนำหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องไปยื่นขอรับเงินฯ จากสำนักงาน สกสค. จังหวัดนั้นๆ ได้ทันที่ หลังจากสมาชิก ช.พ.ค.เสียชีวิตและรวบรวมเอกสารได้ครบถ้วน (ข้อเท็จจริง จะไปกันเยอะทั้งคนระบุและไม่ระบุสิทธิ์ก็ได้ เพื่อเป็นสักขีพยานรู้เห็นด้วยกัน จะไม่เกิดปัญหา)
2. กรณีไม่ได้ระบุสิทธิ์  ก็ให้คนที่มีสิทธิ์ในอันดับหนึ่งเป็นผู้จัดการศพ  หากมีหลายคนก็ให้ตกลงกัน ใครจะจัดการศพก็ให้ไปทำเรื่องรับเงินฯ  หากจะจัดหลายคนก็ไปกันหลายคน หรือ มอบอำนาจกันไป  ในกรณีสมาชิก ช.พ.ค. เป็นโสด ก็ให้พ่อ แม่ไป หากไม่สะดวกก็มอบอำนาจให้คนอื่นไป  หาก พ่อ แม่เสียชีวิต บุตรบุญธรรมก็ไม่มี ก็ให้พี่น้องร่วมบิดา มารดาไป หรือญาติที่เชื่อถือได้ไป ซึ่งทางสำนักงาน สกสค. จังหวัด ท่านคงจะมีวิธีตรวจสอบพิจารณาและมอบเงินค่าจัดการศพให้อย่างแน่นอน 
เมื่อสมาชิก ช.พ.ค. เสียชีวิต ใครเป็นผู้มีสิทธิ์รับเงินสงเคราะห์ครอบครัว ? (ก้อนสองประมาณเจ็ดแสนห้าหมื่นบาท) 
                1. กรณีระบุสิทธิ์  ก็ให้คนที่ถูกระบุสิทธิ์ได้รับ หากระบุคนเดียวก็รับไปเต็ม ๆ คนเดียว  หากระบุ หลายคนก็หารตามหลักการของ ช.พ.ค. เช่น สมาชิก ช.พ.ค. ระบุสิทธิ์ให้คู่สมรส และบิดามารดา (กรณีนี้คู่สมรสได้ครึ่งหนึ่ง บิดามารดาได้อีกครึ่งหนึ่ง) หากระบุให้คู่สมรส บิดามารดา และบุตร (กรณีนี้คู่สมรสได้ครึ่งหนึ่ง บิดามารดาและบุตรได้อีกครึ่งหนึ่ง ส่วนบิดามารดาและบุตรจะได้คนละเท่าไหร่ก็ไปดูข้อเท็จจริง ว่าบุตรมีกี่คน ตรงนี้มีกติกามีหลักการ สำนักงาน สกสค. จังหวัดท่านจะให้คำแนะนำ)              
2. กรณีไม่ได้ระบุสิทธิ์ ก็ให้คนที่มีสิทธิ์ในอันดับหนึ่งเป็นผู้รับเงินสงเคราะห์ หากมีคนเดียวก็รับไปคนเดียว หากมีหลายคนหลายคนก็แบ่งตามหลักการ ช.พ.ค. เช่นเดียวกับกรณี 1. หากไม่มีคนในอันดับหนึ่ง ก็ให้สิทธิ์อันดับสอง และสิทธิ์อันดับสามตามลำดับ
3. กรณีเป็นโสด หากได้ระบุสิทธิ์ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร คนที่ถูกระบุสิทธิ์ก็เป็นผู้รับเงินสงเคราะห์ไป  หากไม่ได้ระบุสิทธิ์ ก็ให้คนที่มีสิทธิ์ในอันดับหนึ่ง สอง หรือสาม ตามลำดับเป็นผู้รับเงินสงเคราะห์ไป  หากไม่มีบุคคลทั้งสามอันดับจะทำอย่างไร นั้นเป็นปัญหาในประเด็นของ ”คำหรือข้อความ” ตามกฎหมาย แต่ทางปฏิบัติ สก สค.ท่านมีแนวทางไม่ให้เกิดปัญหา โดยมีหลักการว่า เงินสงเคราะห์ไม่ใช่มรดก ต้องหาบุคคลมารับสิทธิ์นี้ให้ได้ ดังนั้นบุคคลในข่ายก็คือ พี่ น้องในสายเลือด และญาติ ๆ ที่เหลือ หากพี่ น้อง หรือญาติตกลงกันได้ก็จบไป หากตกลงกันไม่ได้ นั้นเป็นภารกิจ สกสค. จังหวัด ที่ท่านจะเข้ามาช่วยจัดการให้ เว้นแต่กรณีสุดความสามารถไม่สามารถหาบุคคลมารับสิทธิ์นี้ได้ เงินสงเคราะห์ดังกล่าวก็จะถูกบริจาคเป็นสาธารณะกุศล นั้นเป็นทางเลือกสุดท้าย แต่อย่างไรก็แล้วแต่เงินสงเคราะห์นี้จะไม่ตกเป็นของแผ่นดินอย่างแน่นอน 
สมาชิก ช.พ.ค. จำเป็นต้องไประบุสิทธิ์ผู้รับเงินสงเคราะห์ ?
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เมื่อสมาชิก ช.พ.ค.ได้เสียชีวิตลงไป หากบุคคลใดยังไม่ระบุสิทธิ์ หรือจะเปลี่ยนแปลงบุคคลรับสิทธิ์ ก็ใคร่ครวญ แล้วไประบุสิทธิ์ใหม่ที่สำนักงาน สกสค. จังหวัดที่ทำงาน โดยเฉพาะสมาชิก ช.พ.ค.ที่เป็นโสด บิดามารดาเสียชีวิตแล้ว ไม่มีญาติพี่น้อง อย่างนี้ต้องหาและจดทะเบียนบุตรบุญธรรม หาบุคคลที่เข้าข่ายผู้อุปการะ หรือผู้อยู่ในอุปการะ แล้วรีบไประบุสิทธิ์การรับเงินสงเคราะห์ ช.พ.ค. เพราะ เราไม่รู้ว่าอนาคต หากเป็นอะไรไป คนที่อยู่ด้านหลังเขาจะได้สบาย หายห่วง งานศพก็จัดด้วยความเรียบร้อย สกสค.ท่าน ก็จะบรรลุเป้าหมายงานหลักขององค์กร นั้นคือสวัสดิการและสวัสดิภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา
 
พบกันในข้อเขียนต่อไป กรณีใครเป็นผู้รับสิทธิ์ในเงินสงเคราะห์ กรณี สมาชิก ช.พ.ส. นะครับ
 
สอบได้ไม่ง้อติว  Dr.borworn
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
1.สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการสวัสดิภาพครูและบุคลากรการศึกษา
2. แบบระบุสิทธิ์รับเงินสงเคราะครอบครัวสมาชิก ช.พ.ค.
 
  • 07 ก.ค. 2559 เวลา 09:21 น.
  • 121,769

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

^