LASTEST NEWS

29 มี.ค. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศรับสมัครสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 29 มี.ค. 2567อ.ก.ค.ศ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ รับสมัครสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ปี พ.ศ.2567 จำนวน 62 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 5-11 เม.ย.2567 29 มี.ค. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศรับสมัครสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 29 มี.ค. 2567สพป.กำแพงเพชร เขต 1 รับสมัครสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ปี พ.ศ.2567 จำนวน 14 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 5-11 เม.ย.2567 28 มี.ค. 2567สพม.นครราชสีมา รับสมัครสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ปี พ.ศ.2567 จำนวน 20 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 5-11 เม.ย.2567 28 มี.ค. 2567สพป.นครราชสีมา เขต 6 รับสมัครสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ปี พ.ศ.2567 จำนวน 27 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 5-11 เม.ย.2567 28 มี.ค. 2567สพป.นครราชสีมา เขต 5 รับสมัครสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ปี พ.ศ.2567 จำนวน 32 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 5-11 เม.ย.2567 28 มี.ค. 2567สพป.นครราชสีมา เขต 4 รับสมัครสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ปี พ.ศ.2567 จำนวน 15 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 5-11 เม.ย.2567 28 มี.ค. 2567สพป.นครราชสีมา เขต 3 รับสมัครสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ปี พ.ศ.2567 จำนวน 25 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 5-11 เม.ย.2567 28 มี.ค. 2567สพป.นครราชสีมา เขต 2 รับสมัครสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ปี พ.ศ.2567 จำนวน 19 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 5-11 เม.ย.2567

การพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนารามฯ

usericon

ชื่อเรื่อง: การพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ผู้วิจัย: นางภาวดี ติวาวิไล
หน่วยงาน: โรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

บทคัดย่อ
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ถือเป็นหนึ่งกลไกสำคัญที่ใช้ในการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายนําหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนารามเป็นสถานศึกษาสังกัด เทศบาลตำบลปลายบาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาดังกล่าวมาพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียนและพัฒนาผู้เรียน จึงได้มีการศึกษาวิจัยการพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาบริบทและปัจจัยนำเข้าในการบริหารจัดการโรงเรียน 2) พัฒนารูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ 3) ศึกษาผลที่เกิดขึ้นจากการนำรูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปดำเนินการ การศึกษาวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา ใช้วิธีวิจัยแบบผสานวิธี ตามแบบผสมผสานวิธีหลายขั้นตอน เก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพมาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียน และสร้างรูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการ และศึกษาผลการใช้รูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการด้วยหลักการประเมินแบบ CIPPIEST กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน และนำผลการประเมินกลับมาพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า รูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการที่ได้คือ UBON MODEL ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) เข้าใจ (U: Understanding) คือ การสร้างความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์บริบทเพื่อกำหนดเป้าหมาย 2) ทำได้ (B: Best Practice) คือ การสร้างแนวปฏิบัติที่ดี เหมาะสมกับบริบท 3) ใช้ต่อเนื่อง (O: Ongoing Process) คือ การสร้างความยั่งยืน ขยายผลต่อเนื่อง 4) ขับเคลื่อนชุมชน (N: Network) คือ สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับชุมชนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในแต่ละองค์ประกอบมีแนวทางปฏิบัติเพื่อการกำกับติดตาม 3 มิติ ประกอบด้วย มิติผู้บริหาร มิติครู และมิตินักเรียน โดยรูปแบบและแนวทางนี้เกิดประสิทธิผลในการพัฒนาโรงเรียนและผู้เรียนตามความคิดเห็นของผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนได้เป็นอย่างมาก และสามารถนำแนวทางการบริหารจัดการ UBON MODEL ไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาองค์กรอื่นตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้

บทนำ
กระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายนําหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา โดยดําเนินการตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกําหนด ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายขยายผลสถานศึกษาแบบอย่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (กระทรวงศึกษาธิการ, 2556) และเพื่อตอบสนองต่อนโยบาย เทศบาลตำบลปลายบาง ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน การดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นฐานในการพัฒนาสถานศึกษา และจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการฝึกฝนให้ผู้เรียนมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 โดยสถานศึกษาที่มีการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของคนในประเทศให้มีคุณภาพ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาสถานศึกษาหลายแห่งได้มีการปรับรูปแบบการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับนโยบายและเป็นประโยชน์แก่ผู้เรียน โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับให้เหมาะสมกับบริบทของการบริหารจัดการสถานศึกษาในแต่ละพื้นที่ และเกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนไปจนถึงชุมชนที่ตั้ง (พินิจ เครือเหลา และวรกาญจน์ สุขสดเขียว, 2562)
ถึงแม้จะมีรูปแบบการบริหารสถานศึกษาที่ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนา แต่อย่างไรก็ดี ด้วยบริบทของแต่ละสถานศึกษาที่ต่างกัน อีกทั้งหลักการของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือการทำให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละที่ ดังนั้นในแต่ละสถานศึกษาจึงมีรูปแบบการบริหารจัดการและการดำเนินงานที่แตกต่างกันออกไป โดยได้มีงานวิจัยที่รวบรวมข้อคิดเห็นที่สำคัญในการพัฒนาไว้ พบว่า การบริหารสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ควรสร้าง 1) ความตระหนักให้ครูเห็นความสำคัญในการสอนที่สอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 2) ส่งเสริมให้ครูและนักเรียนมีส่วนร่วมในการวางแผนและการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3) มีการกำหนดวิธีการจัดสื่อ เทคโนโลยีที่ส่งเสริมความสำคัญของการวิจัยเพื่อพัฒนาการศึกษา 4) เน้นการนำปัญหาที่เกิดจากสภาพจริงมาแก้ปัญหา โดยใช้วิธีการต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา 5) น้อมนำแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการในหลักสูตรสถานศึกษาอย่างเหมาะสมและมีการตรวจสอบ 6) ติดตามประเมินผล และรายงานแสดงการดำเนินงานตามแผนงานงบประมาณสถานศึกษา 7) จัดทำเอกสาร เวปไซด์ ซีดี เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์การดำเนินการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนให้ชุมชนและหน่วยงานอื่นได้รับทราบอย่างสม่ำเสมอ 8) พัฒนาศักยภาพ ความรู้ของครูและตรวจสอบ ติดตามประเมินผล รายงานแสดงการดำเนินงานตามแผนงานงบประมาณสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบ (จารุรัตน์ ปลื้มชัย และปณิธาน วรรณวัลย์, 2562)
ดังนั้นโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตำบลปลายบาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นสถานศึกษาสังกัดเทศบาลตำบลปลายบาง มีวิสัยทัศน์ คือ “โรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม จัดการศึกษาโดยมุ่งเน้นความเป็นเลิศตามศักยภาพของผู้เรียน โดยการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” จึงมีความต้องการที่จะนําแนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร. มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สู่กิจกรรมการเรียนและนําไปปฏิบัติในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้และนํามาเป็นแนวทางในการดําเนินชีวิต ด้วยความมุ่งหวังที่จะพัฒนานักเรียนเพื่อให้มีความพอประมาณในการใช้ชีวิต มีคุณภาพในสภาวะที่ตนเองเผชิญได้อย่างมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันจากปัญหาต่าง ๆ ที่มีโอกาสพบเจอ และเพื่อให้เกิดรูปแบบการพัฒนาโรงเรียน และพัฒนาผู้เรียนดังกล่าว จึงต้องมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียน (Research and Development) ในเรื่องการพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อศึกษาบริบท (Context) และปัจจัยนำเข้า (Input) ในการบริหารจัดการของโรงเรียน และใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มีความเหมาะสมกับบริบทและปัจจัยนำเข้า และนำรูปแบบที่พัฒนาได้มาบริหารจัดการโรงเรียน นำไปสู่การจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียน มีการประเมินรูปแบบการบริหารจัดการ และศึกษาผลการใช้รูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการด้วยหลักการประเมินแบบ CIPPIEST กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยผู้บริหาร ครู นักเรียน และชุมชน เพื่อนำผลการประเมินกลับมาพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

วัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัย
1. เพื่อศึกษาบริบทและปัจจัยนำเข้าของโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนารามในการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
2. เพื่อสร้างรูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
3. เพื่อศึกษาผลที่เกิดขึ้นจากการนำรูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปดำเนินการ

ระเบียบวิธีวิจัย
การศึกษาวิจัยเรื่อง การพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ใช้วิธีวิจัยแบบผสมผสานวิธี (Mixed Method Research Design) ตามแบบผสมผสานวิธีหลายขั้นตอน (Multiphase Mixed Method)
ประชากร คือผู้บริหาร คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครู บุคลากรของโรงเรียน นักเรียน และผู้ปกครองของโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม รวมถึงชุมชนตำบลปลายบาง อำเภอบางกรวย
จังหวัดนนทบุรี
กลุ่มเป้าหมาย มีดังนี้
1) ผู้บริหาร หรือ ผู้อำนวยการโรงเรียน จำนวน 1 คน
2) ครูและบุคลากรในโรงเรียนจำนวนรวมทั้งสิ้น 12 คน
3) คณะกรรมการสถานศึกษา 7 คน
4) ผู้ปกครอง 113 คน
5) นักเรียน 30 คน
6) ผู้นำ ท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำกลุ่มชุมชน หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย อย่างน้อย 5 คน หรือจนกว่าข้อมูลจะอิ่มตัว

กระบวนการเลือกกลุ่มตัวอย่าง ในการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายสามารถอธิบายวิธีการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ให้ข้อมูลหลักในแต่ละกลุ่มประชากรโดยมีเกณฑ์การคัดเลือกจำแนกตามกลุ่มประชากร ดังนี้
1) การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างผู้บริหาร ครูและบุคลากรในโรงเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษา เนื่องด้วยโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีจำนวนบุคลากร ในโรงเรียนน้อย เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น จึงให้ทุกคนร่วมตอบแบบสอบถามบริบทและปัจจัยนำเข้าของโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนารามในการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
2) การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างกลุ่มผู้ปกครอง เนื่องด้วยจำนวนนักเรียนในโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนารามในปีการศึกษา 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 154 คน คิดจำนวนผู้ปกครองตามจำนวนนักเรียนทั้งหมดคือ 154 คน เมื่อใช้ตารางกำหนดกลุ่มตัวอย่างเพื่อหาจำนวนตัวแทนของประชากรที่มีขนาดเล็ก ตามหลักของ Krejcie & Morgan (1970) พบว่า จากจำนวนประชากร 160 คน จะใช้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 113 คน โดยคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
- มีความยินยอมในการให้ข้อมูลและร่วมตอบแบบสอบถาม
- อายุ 18 ปีขึ้นไป
- สามารถอ่านภาษาและเขียนภาษาไทยได้
- เป็นผู้ปกครอง หรือผู้ที่เลี้ยงดูนักเรียน หรือผู้แทนของผู้ปกครองโดยชอบธรรม
3) การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างกลุ่มนักเรียน เนื่องด้วยนักเรียนในโรงเรียนเทศบาลปลายบาง
วัดอุบลวนาราม มีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล จนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 รวมทั้งสิ้น 154 คน อย่างไรก็ดีกลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ซึ่งมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และสามารถประเมินผลและตอบแบบสอบถามได้ จะถูกเลือกเป็นกลุ่มตัวอย่าง โดยคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
- ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ผู้ที่เลี้ยงดู หรือผู้แทนโดยชอบธรรมในการตอบแบบสอบถาม
- นักเรียนมีความยินยอมในการตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง
- สามารถอ่านภาษาและเขียนภาษาไทยได้
4) การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างกลุ่มชุมชนตำบลปลายบาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
กลุ่มดังกล่าวจะได้จากการเลือกผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key Informant) แบบเจาะจง (Purposive sampling)
เพื่อทำการสัมภาษณ์เชิงลึก โดยเลือกผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และผู้นำชุมชน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เหมาะสมนำมาสู่การพัฒนารูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ดังนี้
- เป็นผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำกลุ่มชุมชน หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย
- มีความยินยอมในการให้ข้อมูลและตอบแบบสอบถามของการวิจัย
- มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมภายใต้การบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำกลุ่มชุมชน หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย อย่างน้อย 5 คน หรือจนกว่าข้อมูลจะอิ่มตัว

เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาวิจัยวัตถุประสงค์ที่ 1
1) แบบสอบถามความคิดเห็นสำหรับผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา
2) แบบสอบถามความคิดเห็นสำหรับผู้ปกครอง
3) แบบสอบถามความคิดเห็นสำหรับนักเรียน
4) แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างสำหรับผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำกลุ่มชุมชน หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย
5) แนวทางและแบบบันทึกการสนทนากลุ่มคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาวิจัยวัตถุประสงค์ที่ 2
1) เอกสาร แนวคิด หลักการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
2) แนวทางและแบบบันทึกการสนทนากลุ่มคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
3) แบบสอบถามความคิดเห็นสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาวิจัยวัตถุประสงค์ที่ 3
1) แบบสอบถามความคิดเห็นสำหรับผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา
2) แบบสอบถามความคิดเห็นสำหรับผู้ปกครอง
3) แบบสอบถามความคิดเห็นสำหรับนักเรียน
4) แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างสำหรับผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำกลุ่มชุมชน หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย
5) แนวทางและแบบบันทึกการสนทนากลุ่มคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

การเก็บรวบรวมข้อมูล
ระยะที่ 1 การศึกษาบริบทและปัจจัยนำเข้าของโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนารามในการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ระยะที่ 2 การสร้างรูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ระยะที่ 3 การศึกษาผลการใช้รูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในปีการศึกษา 2564 และ 2565

การวิเคราะห์ข้อมูล
1 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณจากแบบสอบถาม ใช้สถิติเชิงพรรณนาวิเคราะห์ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการแจกแจงของข้อมูล พร้อมจัดลำดับความสำคัญของข้อมูลตามความถี่และค่าเฉลี่ย
2 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพที่ได้จากการสัมภาษณ์และการสนทนากลุ่ม ผู้วิจัยจะเริ่มจากการถอดเทปบันทึกเสียงแบบคำต่อคำ อ่านข้อมูลที่ได้จากการถอดเทป ทบทวน ทำความเข้าใจข้อมูล จัดกลุ่มข้อมูลออกเป็นประเด็น และใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา (Descriptive Analysis)
3 วิเคราะห์ผลการวิจัยแบบฐานข้อมูลคู่ขนาน (The Parallel Databases Variant) โดยการคัดเลือกเอาผลการวิจัยที่เหมือนกันมาวิเคราะห์เพื่อแสดงถึงความสอดคล้องกันของผลการวิจัยที่ได้จากแบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และการสนทนากลุ่ม และนำข้อมูลที่ต่างกันมาเปรียบเทียบ
4 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพร่วมกับเชิงปริมาณเพื่อการพัฒนารูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามรูปแบบการวิจัยเพื่อพัฒนาทฤษฎี (Theory-Development Design)
5 วิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่าง ก่อนและหลังการใช้รูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียน ด้วยสถิติเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย T-Test

ผลการวิจัยและสรุปผลการวิจัย
ผลการวิจัยวัตถุประสงค์ที่ 1
ผลการศึกษาบริบทและปัจจัยนำเข้าของโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนารามในการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพและปริมาณร่วมกันพบว่าบริบทและปัจจัยนำเข้าของโรงเรียนนำมาวิเคราะห์ SWOT Analysis ได้ผลดังนี้
ปัจจัยนำเข้า (Input)
S: จุดแข็ง    
1.วิสัยทัศน์ของโรงเรียนสอดรับกับการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
2.โครงสร้างการบริหารงานชัดเจนและสนับสนุนการดำเนินงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
3.ครู และบุคลากรเพียงพอต่อการดูแลนักเรียน
4.ผู้บริหาร ครู และบุคลากรในโรงเรียนมีความเข้าใจและเข้าถึงนักเรียนอย่างเท่าเทียม
5.ผู้บริหาร ครู และบุคลากรในโรงเรียนรับฟัง
ความคิดเห็นซึ่งกันและกันและร่วมพัฒนา
6.ผู้บริหาร ครู และบุคลากรในโรงเรียนตระหนักถึงความสำคัญในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาโรงเรียน    
W: จุดอ่อน
1.ครูและบุคลากรยังมีความรู้ความเข้าใจในการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาโรงเรียนน้อย
2.ระบบการมีส่วนร่วมของชุมชนกับการพัฒนา
การบริหารจัดการโรงเรียนยังไม่ชัดเจน
3.มีการใช้ระบบเทคโนโลยีมาบริหารจัดการน้อย
4.ระบบการบริหารงานด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยังไม่ชัดเจน
5.ระบบติดตามประเมินผลด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยังไม่ชัดเจน
6.อุปกรณ์ทางเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ในห้องทดลอง มีน้อย
บริบทในการบริหารจัดการโรงเรียน
O: โอกาส
1.มีนโยบายของรัฐในการสนับสนุน
2.เทศบาลให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือ
3.สภาพแวดล้อมเป็นกึ่งชนบท คนในชุมชนมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เข้าใจ และพร้อมร่วมมือกับกิจกรรมของโรงเรียน
4.การเดินทางมาโรงเรียนสะดวกทำให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้และการจัดกิจกรรมของชุมชนที่ดี
5.โรงเรียนเป็นที่รู้จักของชุมชน
6.ชุมชนร่วมกันดำเนินกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น และสืบสานภูมิปัญญาไทย
7. เทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยให้โรงเรียนและชุมชนมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น    
T: อุปสรรค
1. นโยบายการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมร่วมกัน
2. สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจครัวเรือน ผู้ปกครองจึงมีข้อจำกัดในการสนับสนุนด้านการศึกษากับบุตรหลาน ทั้งเวลา ความสามารถในการดูแล และการจัดหาสิ่งสนับสนุน
3. สิ่งแวดล้อมในชุมชนบางส่วนมีแหล่งอบายมุข เช่น ร้านจำหน่ายสุรา ร้านเกมส์ เป็นต้น
4. ยังมีกลุ่มคนในชุมชนที่เป็นตัวอย่างไม่ดีให้กับนักเรียน เช่น กลุ่มดื่มสุรา หรือเล่นการพนัน
5. ลักษณะที่อยู่อาศัยของนักเรียนบางส่วนไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง
6. เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้นักเรียนเข้าถึงสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ และกระตุ้นความต้องการสิ่งของที่เกินจำเป็น

ผลการวิจัยวัตถุประสงค์ที่ 2
ผลศึกษาการสร้างรูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม
ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
จากการวิเคราะข้อมูลเชิงคุณภาพร่วมกับเชิงปริมาณเพื่อการพัฒนารูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยวิเคราะห์ทฤษฎีที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการ และวิเคราะห์เชื่อมโยงกับอักษรที่มีความหมายสื่อถึงโรงเรียนเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของรูปแบบการบริหารจัดการที่เฉพาะเจาะจงกับการพัฒนาโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสอบถามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง จนได้รูปแบบการดำเนินงานที่มีชื่อว่า UBON MODEL ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ คือ
1) เข้าใจ (U: Understanding) คือ การสร้างความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์บริบทเพื่อกำหนดเป้าหมาย
2) ทำได้ (B: Best Practice) คือ การสร้างแนวปฏิบัติที่ดี ที่เหมาะสมกับบริบท
3) ใช้ต่อเนื่อง (O: Ongoing Process) คือ การสร้างความยั่งยืน ขยายผลต่อเนื่อง
4) ขับเคลื่อนชุมชน (N: Network) สร้างเครือข่ายความร่วมมือ
ในส่วนของแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของแต่ละองค์ประกอบใน UBON MODEL นั้น จำแนกเป็น 3 มิติ เพื่อการสร้างแนวทางที่เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ของประชากรในโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม โดยจำแนกเป็นมิติของผู้บริหาร ครู และนักเรียน เพื่อให้สะดวกในการนำสู่การปฏิบัติ กำกับ และติดตาม

ผลการวิจัยวัตถุประสงค์ที่ 3
ผลการศึกษาผลที่เกิดขึ้นจากการนำรูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปบริหารจัดการ
จากการนำรูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปบริหารจัดการในปีการศึกษา 2564 และ ปีการศึกษา 2565 โดยมีการวัดผลเปรียบเทียบผลการบริหารจัดการรายปี ด้วยหลักการ CIPPIEST MODEL ระหว่างปีการศึกษา 2563 ซึ่งยังไม่ได้ใช้รูปแบบการบริหารจัดการนี้ เทียบกับ ผลการบริหารจัดการปีการศึกษา 2564 ที่มีการใช้รูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแล้วนั้น ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณจากแบบสอบถามพบว่า ค่าเฉลี่ยความคิดเห็นของ ผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง และนักเรียน หลังจากนำรูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปบริหารจัดการในปีการศึกษา 2564 แตกต่างจาก ปีการศึกษา 2563 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยผลในปีการศึกษา 2564 มีค่าเฉลี่ยมากกว่าในทุกด้าน ประกอบด้วย ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการดำเนินงาน ด้านผลผลิต ด้านผลกระทบ ด้านประสิทธิผล ด้านความยั่งยืน และด้านการถ่ายทอด
เมื่อนำรูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปบริหารจัดการ มาดำเนินการต่อเนื่องในปีการศึกษา 2565 และ วัดผลเปรียบเทียบผลการบริหารจัดการปีการศึกษา 2564 ด้วยหลักการ CIPPIEST MODEL ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณจากแบบสอบถามพบว่า
ค่าเฉลี่ยความคิดเห็นของ ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา ในปีการศึกษา 2564 แตกต่างจาก ปีการศึกษา 2565 ในด้านผลกระทบ และด้านความยั่งยืน ค่าเฉลี่ยความคิดเห็นของผู้ปกครอง ในปีการศึกษา 2564 แตกต่างจาก ปีการศึกษา 2565 ในด้านผลผลิต และด้านผลกระทบ ประสิทธิผล ความยั่งยืน และการถ่ายทอด และค่าเฉลี่ยความคิดเห็นของนักเรียน ในปีการศึกษา 2564 แตกต่างจาก ปีการศึกษา 2565 ในด้านกระบวนการทำงาน ด้านผลผลิต และด้านผลกระทบ ประสิทธิผล ความยั่งยืน และการถ่ายทอด

อภิปรายผลการวิจัย
ผลการวิเคราะห์บริบทและปัจจัยนำเข้าในการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยหลัก SWOT Analysis สอดคล้องกับผลสำรวจปัญหา การสนับสนุนการเรียนรู้ และข้อเสนอแนะในการสนับสนุนของ ธัญนันท์ เพชรรักษ์ และเอกรินทร์ สังข์ทอง (2565) ซึ่งพบว่าโรงเรียนขยายโอกาสซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเช่นเดียวกับ โรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม มีปัญหาการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ ปัญหาด้านครอบครัวที่ขาดเงินทุนสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์การเรียนรู้ ขาดเงินทุนจัดหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ ขาดความรู้ความสามารถในการสนับสนุนการเรียนรู้ที่บ้าน และขาดผู้ปกครองดูแลอย่างใกล้ชิด และปัญหาด้านการจัดการของโรงเรียนที่มีสิ่งสนับสนุนด้านเทคโนโลยีที่ไม่เพียงพอ ครูผู้สอนจะต้องปรับกลยุทธ์ในการสอนให้เหมาะสม แต่อย่างไรก็ดีงานวิจัยของประเทศทางยุโรป จากการรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) พบว่า “นักเรียนไอริชมีการใช้อินเทอร์เน็ตต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิก OECD
แต่นั่นน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนมากกว่า” และการวิจัยใหม่ของ McKinsey ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษา
ได้รายงานผลการค้นพบสำหรับนักเรียนในยุโรปที่วิเคราะห์ข้อมูลจากการประเมินของ Program for International Student Assessment (PISA) 2015 ซึ่งมาจากผลการประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี พบว่าการให้นักเรียน
เข้าถึง แทบเล็ต โน้ตบุ๊ค หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) ในห้องเรียนอาจทำร้ายการเรียนรู้ของนักเรียน
แต่การให้เทคโนโลยีนี้แก่ครูได้ผลเชิงบวกดีกว่า รายงานของ McKinsey อาจทำให้ต้องมีการคิดใหม่เรื่องประเด็นการนำเทคโนโลยีเข้าไปในโรงเรียน (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ, 2561)
ดังนั้นเมื่อวิเคราะห์บริบทและปัจจัยนำเข้านี้แล้วจึงสรุปได้ว่าในการสร้างรูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนในครั้งนี้ จะมุ่งเน้นการพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนและนักเรียน โดยมุ่งการเรียนรู้เข้าใจในหลักการ และนำสู่กิจกรรมการเรียนการสอน และการทำงานร่วมกับชุมชนซึ่งถือเป็นจุดแข็งและโอกาสของโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อปลูกฝังตามเป้าหมายของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือ ความพอประมาณ การมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันเพื่อสนับสนุนการเติบโตในอนาคตของนักเรียน ถึงแม้จะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมากนักแต่พร้อมที่จะเติบโตและเรียนรู้ในโลกยุคดิจิตอล
ในด้านการพัฒนารูปแบบและแนวทาง เนื่องด้วยจุดอ่อนของโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม คือระบบการติดตามและติดตามผลเมื่อดำเนินงานตามนโยบายที่เกี่ยวข้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้นในการสร้างรูปแบบและแนวทางการดำเนินงานจึงสร้างรูปแบบจากหลักการบริหาร แบบวงจรคุณภาพ PDCA (มรกต วงเนตร, 2554; ณัฏฐ์ณพัชร์ อ่อนตาม, 2562) ที่สอดรับกับหลักการประเมินผลแบบ CIPPIEST MODEL โดยใช้หลักภาวะผู้นำแบบร่วมรู้สึก (Empathetic leadership) ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของการพัฒนาที่เหมาะสม มาทำความเข้าใจบริบท เพื่อวางแผนได้อย่างพอประมาณและมีเหตุผล ดังที่กล่าวไว้ในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการบริหารสถานศึกษา (ศรประภา พงษ์หัตถาศิลป์, 2557) และสร้างแนวทางให้เกิด Best Practice และมีส่วนร่วมกับชุมชน ซึ่งรูปแบบและแนวทางการการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้นั้นมีชื่อว่า UBON MODEL สะท้อนชื่อของโรงเรียนให้ง่ายต่อการจดจำ และนำไปใช้ในปีการศึกษา 2564 และ ปีการศึกษา 2565
สำหรับผลที่เกิดขึ้นจากการนำรูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปบริหารจัดการ ได้ใช้หลักการ CIPPIEST MODEL ในการวัดผลซึ่งพบว่า มีการพัฒนาในทุกด้านที่วัดผล โดยเฉพาะในปีการศึกษา 2564 มีความแตกต่างจากปีการศึกษา 2563 เป็นอย่างมาก ถึงแม้ในปีการศึกษา 2565 การพัฒนาจะเห็นได้ชัดเพียงด้านผลผลิตและผลกระทบ แต่ก็เห็นถึงแนวโน้มของการพัฒนาต่อเนื่อง สามารถสรุปได้ว่ารูปแบบและแนวทางนี้เกิดประสิทธิผลในการพัฒนาโรงเรียนและผู้เรียน รวมไปถึงชุมชนได้ ซึ่งรูปแบบและแนวทางนี้ สอดคล้องกับกระบวนการพัฒนาสถานศึกษาพอเพียงสู่ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีการปฏิบัติเป็นเลิศ (Best Practice Cases) จากงานวิจัยของ อรวรรณ ป้อมคำ (2561) ทั้งนี้ สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือองค์กรที่มีบริบทใกล้เคียงกันสามารถนำแนวทางการบริหารจัดการ UBON MODEL ไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาองค์กรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้

p.tiwawilai 16 มี.ค. 2566 เวลา 21:22 น. 0 251
ร่วมแสดงความคิดเห็น
เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น!

ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ แนะนำติชม เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้

^