เผยแพร่ผลงานวิชาการ การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมัลติมีเดีย
การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมัลติมีเดีย เรื่อง หน่วยของสิ่งมีชีวิตและชีวิตพืช กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัญหาการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของครูชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล 3 (ยมราชสามัคคี) เทศบาลนครนครราชสีมา 2) สร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมัลติมีเดีย เรื่อง หน่วยของสิ่งมีชีวิตและชีวิตพืช กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล 3) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทาง การเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนรู้ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมัลติมีเดีย เรื่อง หน่วยของสิ่งมีชีวิตและชีวิตพืช กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4) ศึกษาเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่เรียนรู้ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมัลติมีเดีย เรื่อง หน่วยของสิ่งมีชีวิตและชีวิตพืช กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นนักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555 โรงเรียนเทศบาล 3 (ยมราชสามัคคี) จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวน 40 คน ได้จากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบบันทึกการประชุม แผนการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ว21101 บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมัลติมีเดีย เรื่อง หน่วยของสิ่งมีชีวิตและชีวิตพืช แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ และแบบวัดเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ยและค่าร้อยละ และทดสอบความแตกต่างค่าเฉลี่ยของคะแนนโดยการทดสอบค่าที (t-test) จากการศึกษาพบว่า
1. สภาพปัญหาการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของครูชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล 3 (ยมราชสามัคคี) เทศบาลนครนครราชสีมา ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์เฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนดคือร้อยละ 65.00 นักเรียนขาดความสนใจต่อบทเรียนวิทยาศาสตร์ ขาดความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ เกิดความยุ่งยากในการจัดการเรียนรู้ของครูเนื่องจากนักเรียนมีความแตกต่างกัน และกลุ่มสาระ การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ไม่มีสื่อคอมพิวเตอร์สำหรับใช้ประกอบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ตาม
นโยบายโรงเรียนต้นแบบ ICT
2. การสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมัลติมีเดีย เรื่อง หน่วยของสิ่งมีชีวิตและชีวิตพืช กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ผู้ศึกษาสร้างได้ 7 เรื่องย่อย ได้แก่ เรื่องย่อยที่ 1 โครงสร้างและหน้าที่ของเซลล์ เรื่องย่อยที่ 2 การแพร่และการออสโมซีส เรื่องย่อยที่ 3 การลำเลียงสาร เรื่องย่อยที่ 4 กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง เรื่องย่อยที่ 5 การสืบพันธุ์ของพืช เรื่องย่อยที่ 6 การตอบสนองของพืชต่อสิ่งเร้า และเรื่องย่อยที่ 7 เทคโนโลยีชีวภาพในการเพิ่มผลผลิตพืชต่อสิ่งเร้า มีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.77 แสดงว่านักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมร้อยละ 77 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 0.50 และมีค่าประสิทธิภาพ เท่ากับ 85.10/84.15 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 80/80 บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมัลติมีเดียนี้เหมาะสำหรับนำไปใช้ได้
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่เรียนรู้ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมัลติมีเดีย เรื่อง หน่วยของสิ่งมีชีวิตและชีวิตพืช กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนหลังเรียน สูงกว่าคะแนนผลสัมฤทธิ์ก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีความเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมัลติมีเดีย เรื่อง หน่วยของสิ่งมีชีวิตและชีวิตพืช กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยรวมเท่ากับ 4.43 อยู่ในระดับน่าพอใจ