LASTEST NEWS

18 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 18 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 18 เม.ย. 2567(( ประกาศแล้ว )) รายชื่อผู้สอบผ่าน ภาค ก และ ข การสอบบรรจุรับราชการครูฯ ตำแหน่งบุคลากร 38 ค.(2) สังกัดสพฐ. ปีพ.ศ.2567 เช็กผลสอบ 38 ค. สพฐ. ได้ที่นี่ 18 เม.ย. 2567อย่างเป็นทางการ! กำหนดสอบครูผู้ช่วย รอบทั่วไป สังกัดสพฐ. ปี พ.ศ.2567 ประกาศรับสมัครภายใน 1 พ.ค. 2567 - รับสมัคร 8-14 พ.ค.2567 18 เม.ย. 2567กรุงเทพมหานคร เปิดสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ (ทุนเอราวัณ) 84 อัตรา สมัคร 1 พฤษภาคม 2567 - 14 มิถุนายน 2567 18 เม.ย. 2567อย่างเป็นทางการ !! กทม.เรียกบรรจุครูผู้ช่วย 592 อัตรา (สำรอง 125 อัตรา) - รายงานตัว 29-30 เม.ย.2567 18 เม.ย. 2567สพป.ยโสธร เขต 1 ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ปี พ.ศ.2567 18 เม.ย. 2567สพป.อุดรธานี เขต 2 ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ปี พ.ศ.2567 18 เม.ย. 2567สพป.บุรีรัมย์ เขต 4 ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ปี พ.ศ.2567  18 เม.ย. 2567ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 ครั้งที่ 1 (รอบที่ 2) สพป.ขอนแก่น เขต 5 - ผลย้ายครู 2567 สพป.ขอนแก่น เขต 5

ผลการประชุมองค์กรหลัก 5/2557

  • 04 ก.พ. 2557 เวลา 10:03 น.
  • 2,672
ผลการประชุมองค์กรหลัก 5/2557

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 30/2557
ผลการประชุมองค์กรหลัก 5/2557
 
ศึกษาธิการ - นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ และ ดร.กิตติ ลิ่มสกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ครั้งที่ 5/2557 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ห้องประชุมสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา
 
>> เร่งดำเนินการในช่วงสภาวะวิกฤตทางการเมือง
 
รมว.ศธ.แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า มีเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการในช่วงสภาวะวิกฤตทางการเมือง 3 เรื่องหลัก ได้แก่
 
- การดำเนินงานของ ศธ.  คาดว่าปัญหาความขัดแย้งน่าจะยืดเยื้อต่อไปอีก แต่ควรให้หน่วยงานต่างๆ ในสังกัดสามารถทำงานได้ตามปกติ และสถานศึกษาต่างๆ สามารถเปิดเรียนได้ เพราะขณะนี้ทางศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ได้ขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานแจ้งแผนการกลับเข้าทำงานตามปกติระหว่างวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์นี้ จึงขอให้หารือร่วมกันเพื่อประเมินสถานการณ์และกำหนดวันที่จะกลับเข้าปฏิบัติงานในกระทรวงต่อไป
 
- การเลือกตั้ง ซึ่งมีบุคลากรของ ศธ. จำนวนมาก เข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งก็จะยืดเยื้อออกไปอีกเช่นกัน โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้แจ้งแล้วว่า หากนับคะแนนไม่ครบทุกหน่วยในประเทศ ก็จะนับคะแนนบัญชีรายชื่อไม่ได้
 
 ทั้งนี้ รมช.ศธ. ได้กล่าวแสดงความขอบคุณเจ้าหน้าที่และบุคลากรของ ศธ.ที่มีส่วนร่วมในการจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทั้งการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง และการเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ที่กำหนดจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 และเลือกตั้งทั่วไปนั้น เจ้าหน้าที่และบุคลากรของ ศธ.ก็จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมเช่นเดิม ทั้งในการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง หรือเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง นอกจากนี้ ศธ.ได้มีการหารือร่วมกับ กกต. เพื่อหาแนวทางรองรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เช่น การตั้งกรรมการสำรองประจำหน่วยเลือกตั้ง และการขยายเวลาในการตั้งกรรมการสำรองประจำหน่วยเลือกตั้งดำเนินการได้
 
- การดำเนินงานเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามงบประประมาณ ขอให้นำเสนอในที่ประชุมองค์กรหลัก โดยสรุปเสนอความก้าวหน้าในแต่ละหัวข้อแบบสั้นๆ ส่วนหัวข้อที่จำเป็นต้องคุยในรายละเอียดมากๆ ก็ให้ดึงเรื่องนั้นขึ้นมาหารือแบบยาวๆ ได้ ทั้งนี้ รมว.ศธ.ได้มอบหมายให้สำนักงานรัฐมนตรี (สร.) รวบรวมรายชื่อคณะกรรมการต่างๆ ที่ รมว.ศธ.เป็นประธานหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งรายงานสถิติการประชุมของคณะกรรมการเหล่านั้นด้วย

 
>> รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานในช่วงสภาวะวิกฤตขององค์การค้าของ สกสค.
 
นายสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ได้รายงานผลกระทบจากการปิดล้อมโรงพิมพ์องค์การค้าของ สกสค.ของกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ซึ่งทำให้องค์การค้าของ สกสค. ไม่สามารถดำเนินการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งที่โรงพิมพ์ได้ จึงได้ย้ายไปผลิตบัตรเลือกตั้งต่อที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จนสามารถจัดพิมพ์และทยอยส่งบัตรเลือกตั้งได้ทันการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีประมาณการค่าใช้จ่ายเบื้องต้นเป็นเงินทั้งสิ้น 156,096,000 บาท
 
ทั้งนี้ องค์การค้าของ สกสค.ได้รับความร่วมมือจากพนักงาน เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างของ องค์การค้าของ สกสค. กว่า 800 คน เป็นอย่างดี และได้รับความอนุเคราะห์และอำนวยความสะดวกในการขนย้ายและจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งในหน่วยงานส่วนกลางและระดับภูมิภาค จากกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ศอ.รส. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นอย่างดียิ่งด้วย
 
รมว.ศธ.ขอให้องค์การค้าของ สกสค. เร่งดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือเรียนให้ทันตามแผนการปฏิบัติงานด้วย โดยอาจจะจัดประชุมหารือเพื่อวางแผนจัดพิมพ์หนังสือ เพราะการพิมพ์หนังสือเรียนเป็นหน้าที่หลักขององค์การค้าของ สกสค. และการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งก็เป็นเรื่องสำคัญของประเทศชาติ แต่จะจัดแบ่งคนและงานอย่างไรให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ ทั้งนี้ หากเกิดผลกระทบหรือติดขัดอย่างใด ขอให้รายงานทันที เพื่อที่จะได้สื่อสารไปยังผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย เช่น ผู้ปกครอง ผู้ค้าปลีก สถานศึกษา สื่อมวลชน หรือแม้กระทั่งอาจจะต้องสื่อสารไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อให้ลดระดับความรุนแรงในการสร้างความเสียหายด้วย
 
  1) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.)
 
- หน่วยงานในสังกัด สป. มีศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังสภาวะวิกฤตทางการเมืองทำหน้าที่อยู่ภายใน ศธ. และมีการประชุมทุกวัน มีเพียงวันที่ 28 – 29 มกราคมเท่านั้น ที่ไม่สามารถประชุมได้ สำหรับหน่วยงานต่างๆ ของ สป. ขณะนี้สามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่ตั้งอยู่ในบริเวณ ศธ. ซึ่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองปิดประตูเข้าออก ตัดไฟ และไม่ให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่เข้าไปทำงานนั้น สป.ได้ดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ เช่น จัดเวรยามเฝ้าระวังภายใน ศธ.ตลอดเวลากลางคืน ประสานงานไปยังการไฟฟ้านครหลวงเพื่อต่อไฟให้กับ ศธ. และแจ้งความเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการแล้ว
 
- สถานศึกษา ได้รับผลกระทบสูงสุดจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง คือในวันที่ 13 มกราคม 2557 โดยมีนักเรียนทั่วประเทศได้รับผลกระทบจำนวน 666,814 คน และโดยส่วนใหญ่สถานศึกษาจะพยายามเปิดเรียนให้ได้มากที่สุด รวมทั้งได้มีการสอนชดเชย เพิ่มชั่วโมงเรียนจากเวลาปกติมากขึ้น และบางแห่งอาจะมีสอนเพิ่มเติมในวันหยุด
 
2) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  มีโรงเรียนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2557 พบว่ามีสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ได้รับผลกระทบจำนวน 1 เขต รวม 5 โรงเรียน  ครูและนักเรียน จำนวน 750 คน ส่วนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ได้รับผลกระทบจำนวน 1 เขต รวม 6 โรงเรียน ครูและนักเรียน จำนวน 12,683 คน ทั้งนี้ มีเรื่องน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง คือ การจัดโครงการติวเข้มให้แก่นักเรียนบางอำเภอของจังหวัดสงขลา ได้ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมขัดขวาง ทำให้นักเรียนเสียโอกาสทางการศึกษา
 
3) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)  สถานศึกษาในสังกัด สอศ.ทุกแห่งสามารถเปิดเรียนได้ตามปกติแล้ว
 
4) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)  ขณะนี้ สกอ.ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอดเวลาและจัดให้มีฝ่ายเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สามารถทำงานเข้าไปทำงานได้ตามปกติโดยไม่ถูกตัดน้ำตัดไฟแต่อย่างใด  ในส่วนของมหาวิทยาลัยพบว่า ทุกมหาวิทยาลัยเปิดการเรียนการสอนตามปกติ อาจจะมีบางมหาวิทยาลัยที่ได้รับผลกระทบบ้าง แต่ไม่มากนัก ซึ่งต่อจากนี้ไปจะหารือร่วมกับ สพฐ. เกี่ยวกับการออกใบรับรองการศึกษา เพื่อให้นักเรียนใช้ในการสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย รวมทั้งเรื่องการสอบตรง การกวดวิชาต่างๆ
 
  ทั้งนี้ ผู้แทน สกอ. ได้เสนอวิธีการเจรจากับผู้ชุมนุมทางการเมืองว่า ควรบอกกล่าวกับผู้ชุมนุม ถึงสิ่งที่ควรหรือต้องทำ หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทย มากกว่าการห้ามปราบหรือใช้มาตรการบังคับ เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายไปได้
 
รมว.ศธ.กล่าวว่า เหตุการณ์มีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อต่อไป เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมต้องการขัดขวางการทำงานของข้าราชการและโรงเรียน เพื่อต้องการไม่ให้การเลือกตั้งสำเร็จเป็นผลสมบูรณ์ ฉะนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ควรจะต้องมีหนังสืออย่างเป็นทางการไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อรายงานสถานการณ์ เช่น การเปิดปิดสถานศึกษา ควรนำระเบียบทางราชการมาบังคับใช้ เพื่อป้องกันความเสียหายให้กับทางราชการ เพราะไม่ใช่เรื่องของการเมือง เป็นเรื่องของการศึกษาของเด็กและเยาวชนของชาติ หากปล่อยปละละเลย ปล่อยให้มีการปิดสถานศึกษา หรือไม่รายงานสถานการณ์ต่างๆ มายังส่วนกลาง ก็เท่ากับไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งส่งผลเสียต่อเด็กและเยาวชน ทำให้เสียโอกาสทางการศึกษา อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องการใช้มาตรการให้เกิดการต่อต้านกลับมายัง ศธ. หรือใช้มาตรการจนเกิดความไม่พอใจและไม่ให้ความร่วมมือ เพราะที่ผ่านมา ศธ.ทำงานด้วยความเป็นเอกภาพอย่างมาก
 
>> กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา
 
- ความเป็นมา เมื่อปี พ.ศ.2530 ได้กำหนดนโยบายให้มีโครงการอาหารกลางวัน โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ ต่อมาในปี พ.ศ.2535 มีพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาด้วยวงเงิน 6,000 ล้านบาท และในปี พ.ศ.2544 ศธ.ได้ถ่ายโอนงบประมาณค่าอาหารกลางวันไปให้กระทรวงมหาดไทยและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อจัดตั้งและจัดสรรงบประมาณ ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ปรับเงินค่าอาหารกลางวันจาก 13 บาท (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542) เป็น 20 บาท โดยขอให้ ศธ.หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคิดรายการอาหารพร้อมระบุตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าทางโภชนาการที่เพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นด้วย
 
- งบประมาณ การดำเนินงานโครงการอาหารกลางวัน ใช้งบประมาณจาก 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เงินอุดหนุนจากรัฐบาลตามรายหัวนักเรียน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 5.8 ล้านคน และส่วนที่ 2 กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา ที่กำหนดให้กองทุนนำดอกผลของวงเงินเริ่มต้น 6,000 ล้านบาท มาใช้ในการส่งเสริมผลผลิตโครงการอาหารกลางวัน ช่วยเหลือนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งในปี 2557 มีดอกผลจำนวน 2,435 ล้านบาท
 
- แผนการดำเนินงาน กองทุนโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา กำหนดจัด 9 กิจกรรมในปี 2557 วงเงินงบประมาณ 761 ล้านบาท เช่น การแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ.2535 และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายการให้บริการอาหารกลางวันจากนักเรียน ป.1-6 เป็นนักเรียนชั้นอนุบาลถึง ม.3 พร้อมทั้งจัดประชาพิจารณ์ผู้เกี่ยวข้องใน 4 ภูมิภาค จัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศ การประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
 
 รมว.ศธ.กล่าวว่า เจตนารมณ์ของการจัดตั้งกองทุนก็เพื่อให้เกิดการดำเนินงานในส่วนที่ในระบบไม่สามารถทำได้คล่องตัว ดังนั้น กองทุนต้องหาองค์ความรู้จากการดำเนินงาน เพื่อมาทำการวิเคราะห์ และรายงานหรือส่งต่อไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินงานต่อไป เช่น จำนวนเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ ทั้งที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว และยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ สรุปการใช้งบประมาณว่าส่งเสริมและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่ การวิเคราะห์มาตรฐานทางโภชนาการที่จะต้องมีแนวคิดมารองรับ ทั้งความยากจน ภาวะทุพโภชนาการ หรืออาจจะอ้างอิงมาตรฐานสากล
 
จึงได้มอบหมายให้กองทุนวิเคราะห์และรายงานข้อมูลการดำเนินงานย้อนหลังเป็นเวลา 5 ปี ได้แก่ งบประมาณที่ใช้ ผลลัพธ์หรือจำนวนเด็กที่ได้รับประโยชน์ จำนวนเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการทั้งประเทศ และขอให้จัดระดับความรุนแรงของภาวะทุพโภชนาการในโรงเรียน โดยใช้สีเป็นสัญลักษณ์ในแต่ละระดับ พร้อมทั้งมีหนังสือแจ้งไปยังโรงเรียนเหล่านั้นด้วย นอกจากนี้ การดำเนินงานของกองทุนควรเร่งให้ทันตามปฏิทินปีงบประมาณ เพื่อให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยขอให้ยึดหลักช่วยเหลือโรงเรียนที่มีปัญหาจริงๆ คือ โรงเรียนที่มีนักเรียนภาวะทุพโภชนาการจำนวนมาก ห่างไกล หรือโรงเรียนที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการอาหารกลางวัน
 
นอกจากนี้ รมว.ศธ.ได้มอบแนวทางในการตรวจเยี่ยมโรงเรียนพื้นที่สูง พื้นที่พิเศษ ว่าการเดินทางเพื่อไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนเหล่านี้ จะต้องนำเสนอให้ได้ข้อมูล ข้อสรุป หรือแนวทางที่จะสะท้อนภาพรวมของ ศธ. มีการนำตัวอย่างโรงเรียนในโครงการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นแบบอย่างหรือต่อยอดกับการดำเนินงานในโรงเรียนอื่นๆ รวมทั้งแนวปฏิบัติระดับเขตพื้นที่การศึกษา และการถอดบทเรียน เพื่อให้การเดินทางไปตรวจเยี่ยมเกิดประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม

 
 
  • 04 ก.พ. 2557 เวลา 10:03 น.
  • 2,672

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

ความคิดเห็นเกี่ยวกับ : ผลการประชุมองค์กรหลัก 5/2557

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น!

ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ แนะนำติชม เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้

^