LASTEST NEWS

19 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 19 เม.ย. 2567ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 ครั้งที่ 1 (รอบที่ 1) สพม.นครสวรรค์ - ผลย้ายครู 2567 สพม.นครสวรรค์ 19 เม.ย. 2567ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 ครั้งที่ 2 (รอบที่ 1) สพป.นราธิวาส เขต 1 - ผลย้ายครู 2567 สพป.นราธิวาส เขต 1 19 เม.ย. 2567ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 ครั้งที่ 1 (รอบที่ 1) สพป.น่าน เขต 1 - ผลย้ายครู 2567 สพป.น่าน เขต 1 19 เม.ย. 2567ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 ครั้งที่ 1 (รอบที่ 1) สพม.นครพนม - ผลย้ายครู 2567 สพม.นครพนม 19 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 19 เม.ย. 2567ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 ครั้งที่ 1 (รอบที่ 1) สพป.ราชบุรี เขต 2 - ผลย้ายครู 2567 สพป.ราชบุรี เขต 2 19 เม.ย. 2567ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 ครั้งที่ 1 (รอบที่ 2) สพป.ขอนแก่น เขต 3 - ผลย้ายครู 2567 สพป.ขอนแก่น เขต 3 19 เม.ย. 2567ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 ครั้งที่ 1 (รอบที่ 1) สพป.เชียงใหม่ เขต 2 - ผลย้ายครู 2567 สพป.เชียงใหม่ เขต 2 19 เม.ย. 2567ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 ครั้งที่ 1 (รอบที่ 1) สพป.นครสวรรค์ เขต 1 - ผลย้ายครู 2567 สพป.นครสวรรค์ เขต 1

เด็กเกิดน้อย จะยุบโรงเรียน หรือทางเลือกอื่นที่สร้างสรรค์

  • 14 ต.ค. 2562 เวลา 18:33 น.
  • 8,131
เด็กเกิดน้อย จะยุบโรงเรียน หรือทางเลือกอื่นที่สร้างสรรค์

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

เด็กเกิดน้อย จะยุบโรงเรียน หรือทางเลือกอื่นที่สร้างสรรค์

คอลัมน์ ขอคิดด้วยฅน :: เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

กระทรวงศึกษาธิการวางแผนเดินหน้ายุบ ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก 15,000 แห่งทั่วประเทศ โดยประมาณครึ่งหนึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ในภาคอีสานขณะที่ชุมชนชาวบ้านคัดค้านไม่อยากให้ยุบโรงเรียนในตำบลของเขา ลูกหลานจะเกิดความยากลำบากในการเดินทางไปโรงเรียน
 
ปัญหาที่กระทรวงศึกษาฯ จะยุบหรือเรียกให้ฟังดูดีว่า ควบรวมโรงเรียน มีสาเหตุมาจากที่ปัจจุบันมีจำนวนเด็กนักเรียนน้อยลงมาก ทั้งนี้เพราะเด็กที่เกิดใหม่ มีอัตราการเกิดน้อยลงอย่างมาก หากมองปัญหาที่ปลายเหตุเมื่อมีเด็กนักเรียนน้อย ก็ต้องยุบหลายโรงเรียน นำเด็กไปรวมเรียนที่โรงเรียนเดียว โดยพิจารณาแต่เพียงว่าจะให้เด็กนักเรียนเดินทางไปเรียนไม่เกิน 6 กิโลเมตร และแก้ปัญหาว่าจะนำผู้อำนวยการและครูของโรงเรียน ที่ยุบไปรวมในโรงเรียนที่เปิดสอนอย่างไร จะบริหารจัดการอย่างไร ที่โรงเรียนหนึ่งมีผู้อำนวยการ 2-3 คน จะไล่ออก ปลดออก ก็ไม่ได้

หากจะพิจารณาในองค์รวมของปัญหาจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีปัญหาที่โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน สัดส่วนประชากรในวัยเด็กมีจำนวนน้อยลง แต่สัดส่วนของผู้สูงอายุมีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้เพราะในช่วงปี พ.ศ.2493 – 2513 ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่มากเป็นประวัติการ หรือที่เรียกว่าช่วง “Baby Boom”

หลังปี 2513 อัตราการเกิดลดลงอย่างรวดเร็วจนถึงปัจจุบัน ทำให้โครงสร้างประชากรในอดีตที่มีลักษณะเป็นพีระมิด คือ เป็นสามเหลี่ยมยอดแหลม ซึ่งหมายความว่ามีผู้สูงอายุจำนวนน้อย และมีประชากรรุ่นต่อๆ มาในจำนวนที่มาก แต่ในปัจจุบันภาคพีระมิดประชากรดังกล่าวได้กลายเป็นพีระมิดหัวกลับ หรือเป็นรูปหัวคฑา กล่าวคือ มีสัดส่วนของผู้สูงอายุจำนวนมาก คนวัยทำงานมีสัดส่วนเล็กลง และสัดส่วนของเด็กยิ่งเล็กลงไปตามลำดับ





ปัญหาของสังคมสูงวัยที่มีโครงสร้างประชากรดังกล่าว จึงเป็นปัญหาของสังคมไทยที่ไม่ควรพิจารณาแต่เฉพาะเด็กที่น้อยลงเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาในภาพรวม เพราะหากพิจารณาแต่จำนวนเด็กที่น้อยลง กระทรวงศึกษาธิการผู้รับผิดชอบด้านการศึกษา ก็จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการยุบ ควบรวม โรงเรียนเข้าด้วยกัน

หากจะแก้ปัญหาโดยดูสภาพองค์รวมทั้งระบบ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ชุมชนชนบทจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น หากสภาพโรงเรียนในตำบลที่ว่างมากขึ้น จะได้นำสถานที่ของโรงเรียนและครูที่ว่างมากขึ้น ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชนและท้องถิ่น โดยแปลงโรงเรียนเป็นโรงเรียนของคนสามวัย คือ มีทั้งวัยเด็ก วัยผู้สูงอายุ และวัยพ่อ แม่ ของเด็ก

ผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนมาก จะได้รวมตัวเป็นชมรมทำกิจกรรมร่วมกันที่โรงเรียน ขณะเดียวกันมีกิจกรรมร่วมกับเด็กนักเรียน มีการเรียนการสอนที่จะใช้ประโยชน์จากผู้สูงอายุในท้องถิ่นซึ่งเป็น“ผู้เชี่ยวชาญชีวิต” มีประสบการณ์ ทั้งด้านความคิด การทำมาหากิน วัฒนธรรม และประวัติของชุมชน

เด็กก็จะได้เรียนรู้โดยตรงกับผู้เชี่ยวชาญชีวิตผู้สูงอายุก็จะมีความสุขที่ได้บอกกล่าวสั่งสอนลูกหลานและทำกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกัน พ่อ แม่ ของเด็กก็จะได้เข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน เพราะทั้งลูกและพ่อ แม่ ของเขา ก็มีกิจกรรมร่วมกันที่โรงเรียนอยู่แล้ว

โรงเรียนจะเปลี่ยนชื่อเป็นสถานเรียนรู้ หรือศูนย์เรียนรู้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร จะขึ้นอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หรือไม่ก็ได้ อาจจะมีทางเลือกที่จะกระจายอำนาจทางการศึกษาในระดับประถมให้กับท้องถิ่นและชุมชน ในการเข้าร่วมเพื่อจัดการการศึกษามากขึ้น

การศึกษาของไทยจะได้ไม่เป็นรูปแบบเบ็ดเสร็จตายตัว ที่คนทุกภูมิภาคเรียนรู้เรื่องเดียวกัน ซึ่งกำหนดจากกระทรวงศึกษาธิการ ที่อยู่กรุงเทพมหานคร

คนภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ย่อมมีวัฒนธรรม มีสภาพแวดล้อม มีปัญหาที่แตกต่างกันการเรียนรู้ของแต่ละท้องถิ่นจะได้ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชน ซึ่งจะมีทั้งเหมือนกันในทุกภาค และแตกต่างกันในบางเรื่อง

กระทรวงศึกษาธิการ ควรผันตนเองเป็นเพียงหน่วยงานที่กำกับ ตรวจสอบ ให้ความรู้และข้อแนะนำเพื่อเอื้ออำนวยให้แต่ละท้องถิ่น ตัดสินใจดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการจัดการศึกษาของไทยล้มเหลว ส่วนเหนึ่งก็เกิดจากการบริหารจัดการที่รวมศูนย์ ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่น

หากจะยึดปรัชญาการศึกษาที่ว่า การศึกษาก็คือการทำให้คนสามารถเรียนรู้ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน จำเป็นที่จะต้องให้ชุมชน และท้องถิ่นเลือกที่จะให้การศึกษาแก่บุตรหลานของเขา ให้รู้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมในท้องถิ่นของเขาอย่างไร

ไม่ใช่คนทั้งประเทศเรียนรู้เรื่องเดียวกันกำหนดจากส่วนกลาง ซึ่งจะทำให้คนในท้องถิ่นอยู่บ้านของตนเองก็ไม่สะดวกสบาย เพราะขาดความรู้ความเข้าใจในท้องถิ่นของตนเอง ต้องย้ายและผันตนเองไปทำงานที่ส่วนกลาง ชนบทจึงสูญเสียสมองและปัญญาของท้องถิ่น การศึกษาที่ผู้เรียนยิ่งเรียนยิ่งไม่รู้จักบ้านของตนเอง ก็จะเป็นการศึกษาที่ดูดทรัพยากรบุคคลที่มีปัญญาออกจากท้องถิ่น

น่าจะเป็นโอกาสดีที่จะมีโรงเรียนและครูในโรงเรียนขนาดเล็กในตำบลต่างๆ มีสถานที่และกำลังครูว่างมากขึ้น แทนที่จะปล่อยให้โรงเรียนร้าง ส่งคืนโรงเรียนและที่ดินให้กับกรมธนารักษ์เพราะถือเป็นที่ของราชพัสดุ ก็จะได้นำมาใช้ประโยชน์ให้กับชุมชนและท้องถิ่น

นอกจากโรงเรียนจะเป็นแหล่งเรียนรู้ร่วมกันของคนสามวัยแล้ว ยังอาจเป็น “ศูนย์อยู่ดี” (Universal Design) สำหรับคนทุกวัย เพราะในอนาคตอันใกล้ จะต้องออกแบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ทุกท้องถิ่นจะต้องปรับสภาพแวดล้อม ทั้งบ้าน วัด อาคารสาธารณะ ถนนหนทาง ให้สอดคล้องกับสังคมที่จะมีผู้สูงอายุจำนวนมาก การกระตุ้นให้ทุกบ้านและทุกหน่วยงานได้ปรับสภาพแวดล้อมของตน เพื่อให้เหมาะสมใช้ได้กับคนทุกวัย ทุกประเภท ทั้งวัยสูงอายุ วัยเด็ก และผู้พิการ ก็จะเป็นการลดอุบัติเหตุจากการพลัดตกหกล้ม ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจากการพลัดตก หกล้ม สูงมากกว่าการปรับสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก

ในปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตจากการพลัดตก หกล้ม วันละ 3 คน หรือ ปีละประมาณ 1,000 คน และยังมีผู้บาดเจ็บพิการอีกจำนวนหนึ่ง หากไม่เตรียมการสร้างระบบรองรับทั้งในชุมชนท้องถิ่นและในเมือง อนาคตก็จะมีปัญหาที่จะมีผู้พิการและเสียชีวิตจำนวนมากกว่านี้ จำต้องตระหนักว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์“ล้มหนึ่งคน เจ็บทั้งบ้าน”

กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ผิดหรอกครับ ที่จะคิดแก้ปัญหาของโรงเรียนที่มีเด็กจำนวนน้อย ด้วยการยุบ ควบรวม โรงเรียน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของตนเอง แต่รัฐบาลส่วนกลางจะต้องมีวิสัยทัศน์เห็นภาพโดยรวมของปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แปลงวิกฤติเด็กน้อย โรงเรียนและครูว่างมากขึ้น ให้เป็นโอกาสสำหรับการมีแหล่งเรียนรู้ร่วมของคนสามวัย “โรงเรียนสามวัย” หรือ “ศูนย์เรียนรู้สามวัย” หรือชื่ออื่นใดที่เหมาะสมก็ได้ แต่ทั้งนี้จะต้องให้ท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในการศึกษาและเรียนรู้อย่างแท้จริง

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันจันทร์ ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เวลา 02.00 น.
  • 14 ต.ค. 2562 เวลา 18:33 น.
  • 8,131

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

^