LASTEST NEWS

16 เม.ย. 2567โรงเรียนบ้านลานช้าง รับสมัครนักการภารโรง วุฒิไม่ต่ำกว่า ม.3 เงินเดือน 9,000.-บาท ตั้งแต่วันที่ 18 - 22 เมษายน 2567 15 เม.ย. 2567เปิดคุณสมบัติ ตำแหน่งนักการภารโรง สพฐ.จัดสรร 13,751 อัตรา วุฒิไม่ต่ำกว่า ม.3 เงินเดือน 9,000 บาท 15 เม.ย. 2567ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 2416 เรื่อง การจัดสรรอัตราจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ ตำแหน่งนักการภารโรง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เพิ่มเติม) 15 เม.ย. 2567ศาลปกครองนครศรีธรรมราช ห้ามผู้บังคับบัญชา ออกคำสั่งให้ครู-บุคลากร อยู่เวร 15 เม.ย. 2567สพฐ.มีหนังสือ แจ้งเรื่อง การส่งคืนอัตราพนักงานราชการ ตำแหน่งครูผู้สอน ที่ว่างจากการสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ปี พ.ศ. 2567  14 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 14 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 14 เม.ย. 2567ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 ครั้งที่ 1 (รอบที่ 1) สพป.สระแก้ว เขต 1 - ผลย้ายครู 2567 สพป.สระแก้ว เขต 1 14 เม.ย. 2567ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 ครั้งที่ 1 (รอบที่ 2) สพป.เชียงราย เขต 4 - ผลย้ายครู 2567 สพป.เชียงราย เขต 4 14 เม.ย. 2567ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 ครั้งที่ 1 (รอบที่ 1) สพป.พิจิตร เขต 1 - ผลย้ายครู 2567 สพป.พิจิตร เขต 1

อยากเป็น ‘ผู้อำนวยการ’ ไม่อยากเป็น ‘ครูใหญ่’ - คอลัมน์ขอคิดด้วยฅน โดยเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

  • 11 มี.ค. 2562 เวลา 11:32 น.
  • 3,587
อยากเป็น ‘ผู้อำนวยการ’ ไม่อยากเป็น ‘ครูใหญ่’ - คอลัมน์ขอคิดด้วยฅน โดยเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

ขอคิดด้วยฅน
เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
อยากเป็น ‘ผู้อำนวยการ’ ไม่อยากเป็น ‘ครูใหญ่’

เครือข่ายผู้อำนวยการโรงเรียน ออกมาคัดค้านที่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เปลี่ยนเรียก “ผู้อำนวยการโรงเรียน” เป็น “ครูใหญ่” โดยอ้างถูกลดศักดิ์ศรี และนัดกันแต่งชุดดำ ยื่นหนังสือถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี

เห็นข่าวนี้แล้ว ไม่รู้สึกแปลกใจ เพราะเข้าใจความรู้สึกของผู้ประท้วงได้ดี แต่ก็อดจะสมเพชไม่ได้

สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ให้ความสำคัญของวิชาการเท่าการบริหาร เพราะเห็นว่าวิชาการเป็นเรื่องตำรับตำรา หนังสือหนังหา สู้ตำแหน่งบริหารไม่ได้ เพราะมีอำนาจจากการดูแลงบประมาณ “เงิน” และดูแล “คน”

สังคมไทยบางส่วนไม่เข้าใจคำว่า “วิชาการ” ในความหมายที่แท้จริงเสียด้วยซ้ำ คิดแต่ว่าเป็นความรู้ที่อยู่ในตำราเท่านั้น หาได้ล่วงรู้ว่าเมื่อโลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ความรู้ความเข้าใจก็ต้องอาศัยนักวิชาการแสวงหาทำความเข้าใจ และความเข้าใจนั้นก็จะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงโลกต่อไปอีก

ครูจึงเป็นคนสำคัญที่จะค้นคว้าและถ่ายทอดความจริงนั้นสู่นักเรียนและสังคม

เมื่อสังคมทั่วไปให้ความสำคัญกับการบริหารเงินบริหารคน ซึ่งสะท้อนอำนาจของตำแหน่ง

คนจึงอยากเป็นตำแหน่งผู้บริหาร มากกว่าตำแหน่งครู หรือนักวิชาการ

กระทรวง ทบวง กรม ก็อยากเป็นตำแหน่งผู้อำนวยการ อธิบดี ปลัดกระทรวง

มหาวิทยาลัย ก็อยากเป็นคณบดีและอธิการบดี

โรงเรียน ครูก็อยากเป็น “ผู้อำนวยการ” มากกว่า “ครูใหญ่” และครูเฉยๆ

ก็เมื่อสังคมยกย่องคนมีอำนาจ คนคุมงบประมาณ คุมกำลังคน ครูและนักเรียนก็ไม่อยากเป็นครู ไม่อยากเป็นนักวิชาการ แต่อยากเป็นผู้บริหาร

ประเทศจึงสูญเสียนักวิชาการฝีมือดีไปเป็นจำนวนมาก เช่น

เราสูญเสียแพทย์ฝีมือดี ไปเป็นคณบดี อธิการบดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล

เราสูญเสียวิศวกร สถาปนิกมือดี ไปเป็นผู้บริหาร

เราสูญเสียนักเศรษฐศาสตร์มือดี ไปเป็นคณบดี อธิการบดี และยังมีอาชีพอื่นๆ อีกมาก

ในความเป็นจริง ผู้อำนวยการโรงพยาบาล อธิการบดี คณบดี และตำแหน่งบริหารอื่น เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่จำเป็นต้องใช้นักวิชาการ ครู หรือผู้ประกอบวิชาชีพที่โดดเด่นเหล่านั้น

อาจใช้นักบริหารมืออาชีพ หรือมีความรู้ด้านการบริหารงาน มาบริหารงานภายใต้บริบทของงานที่แตกต่าง และอาจจะดีเพราะต้องประสานงาน เกรงใจ ถูกตรวจสอบจากนักวิชาการและครู หรือผู้ประกอบวิชาชีพนั้น

ด้วยวิธีคิดและโครงสร้างผลประโยชน์ และแรงจูงใจที่กล่าวข้างต้น เราจึงสูญเสียครูดี ครูเก่ง ไปเป็นผู้บริหาร แล้วก็ไม่อยากถูกเรียกว่าเป็นครู แต่อยากถูกเรียกว่า “ผู้อำนวยการ” มันดูมีศักดิ์ศรีมากกว่าการเป็นครู แม้เป็น “ครูใหญ่” ก็ยังมีศักดิ์ศรีด้อยค่ากว่า

ผู้อำนวยการโรงเรียน ถูกเปลี่ยนเพื่อเอาใจครูที่คิดอย่างข้างต้น ในช่วง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2546 (สมัยทักษิณเป็นนายกฯ) ได้ประกาศใช้ครั้งแรก จากเดิมผู้อำนวยการสถานศึกษาจะถูกแบ่งตามขนาดโรงเรียน

โรงเรียนขนาดใหญ่ ใช้คำว่า ผู้อำนวยการโรงเรียน

โรงเรียนขนาดกลาง ใช้คำว่า อาจารย์ใหญ่

โรงเรียนขนาดเล็ก ใช้คำว่า ครูใหญ่

เปลี่ยนมาเป็น “ผู้อำนวยการโรงเรียน” ทั้งหมด

เอาละสิ เมื่อ พ.ร.บ.ฉบับร่างใหม่ จะให้เรียก “ครูใหญ่” จึงไม่ยอม ถึงกับต้องประท้วง จะแต่งดำ

ความจริง ผู้บริหารการศึกษาเหล่านี้ น่าจะช่วยกันคิดว่า ในโลกสมัยใหม่ ที่ความรู้ไม่จำเป็นต้องมาจากครูเท่านั้น นักเรียน นักศึกษา สามารถแสวงหา เรียนรู้ได้จากระบบอินเตอร์เนต อยากจะเรียนจากใคร โรงเรียน มหาวิทยาลัยใดในโลกก็ได้

สถานศึกษาจะต้องปรับตัวอย่างไร ครู อาจารย์ ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดการทำงานอย่างไร ผู้บริหารสถานศึกษา “ครูใหญ่” ต้องชี้นำ กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนปรับปรุงเตรียมการอย่างไร จะต้องลดกำลังครู กำลังคนเป็นผู้บริหารไหม?

โดยเฉพาะอนาคตที่เราจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” อย่างรวดเร็ว รุนแรง เด็กเกิดใหม่น้อยลง สถานศึกษาจะว่างมากขึ้น

ขณะที่สัดส่วนและจำนวนผู้สูงอายุจะมากขึ้นมหาศาล จะใช้โรงเรียนที่มีอยู่ทุกหนแห่งเป็นประโยชน์กับชุมชนอย่างไร จะวางระบบให้ผู้สูงอายุที่เป็น “ผู้เชี่ยวชาญชีวิต” ได้มาทำกิจกรรมร่วมกันที่โรงเรียนและร่วมกับเด็กนักเรียนที่เป็นลูกหลานอย่างไร

“ผู้เชี่ยวชาญชีวิต” เหล่านี้ จะมีความสุขที่ได้สอน ได้ทำกิจกรรมกับลูกหลาน เด็กนักเรียนก็จะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของปู่ ย่า ตา ยาย โรงเรียนจะกลายเป็นศูนย์เรียนรู้สร้างสุขของคนสามวัย


การรับฟังความเห็นของ สนช.

เมื่อ สนช.เปิดรับฟังความเห็น ก็ควรจะรับฟังจริงๆ ไม่ใช่ทำตามที่กฎหมายกำหนดขั้นตอนการทำกฎหมาย หรือรับฟังเป็นพิธีกรรมประเพณีปฏิบัติไปอย่างนั้นเอง แล้วก็เดินหน้าต่อตามความเห็นของตน ของ ครม.และกฤษฎีกา

การรับฟังความเห็น (Public Hearing) เป็นกระบวนการสำคัญที่จะฟังประเด็นให้รอบคอบ หาผู้มาให้ความเห็นจะเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรก็ยิ่งดี

แต่การรับฟังความเห็นจะไม่สนใจจำนวนคนที่เห็นต่างหรือเห็นเหมือน เพราะไม่ได้สุ่มตัวอย่างคนมาให้ความเห็น จึงถือเป็นจำนวนมาก-น้อย หรือถือเป็นมติไม่ได้

จะแต่งชุดดำ จะแต่งชุดขาว กระโปรงหรือกางเกง ก็ไม่น่าจะมีผลและไม่น่าจะสนใจ การรับฟังความเห็น (Public Hearing) เป็นการฟังประเด็นให้ครบถ้วน และจะเป็นประโยชน์ในการฟังร่างกฎหมายที่รอบคอบขึ้น

จะเรียก “ผู้อำนวยการโรงเรียน” หรือ “ครูใหญ่” จะมีใบประกอบวิชาชีพครูหรือไม่อย่างไร? จะหมดความสำคัญลงไปในอนาคต เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน ความรู้ไม่ได้มาจากครูและโรงเรียนที่คิดแบบเก่า นักเรียน นักศึกษาแสวงหาความรู้ได้เร็วและดีกว่า

โรงเรียนจะว่างมากขึ้น เพราะสังคมสูงวัย เด็กเกิดน้อย อย่ามัวแต่ปกป้องศักดิ์ศรีตำแหน่งผู้อำนวยการหรือครูใหญ่ หรือจะควบคุมวิชาชีพครูด้วยอำนาจส่วนกลางเลยครับ

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันจันทร์ ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2562, 02.00 น.
  
  • 11 มี.ค. 2562 เวลา 11:32 น.
  • 3,587

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

^