LASTEST NEWS

24 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 23 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 23 เม.ย. 2567เช็กเลย! สพป.บึงกาฬ เตรียมเปิดสอบครูผู้ช่วย 10 สาขาวิชาเอก 65 อัตรา ประกาศรับสมัคร 1 พ.ค.2567 23 เม.ย. 2567เล็งจัดงบฯ อาหารเช้าให้นักเรียน 23 เม.ย. 2567สอบครูผู้ช่วย ต้องอ่าน! นโยบายและจุดเน้น สพฐ. ปีงบประมาณ 2567-2568 และนโยบายระยะเร่งด่วน (Quick Win) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 23 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 23 เม.ย. 2567สพป.สระบุรี เขต 2 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 2) - ผลย้ายครู 2567 สพป.สระบุรี เขต 2 23 เม.ย. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 23 เม.ย. 2567สพป.เพชรบุรี เขต 2 ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพป.เพชรบุรี เขต 2 23 เม.ย. 2567สพม.หนองคาย ประกาศผลย้ายครู ปี 2567 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) - ผลย้ายครู 2567 สพม.หนองคาย

16 มกราคม วันครูแห่งชาติ

  • 15 ม.ค. 2559 เวลา 09:45 น.
  • 4,024
16 มกราคม วันครูแห่งชาติ

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

16 มกราคม วันครูแห่งชาติ 

          ปาเจราจริยาโหนติ คุณุตตรานุสาสกา
          ข้าขอประณตน้อมสักการ บูรพคณาจารย์ผู้กอรปประโยชน์ศึกษา
          ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา แก่ข้าในกาลปัจจุบัน
          ข้าขอเคารพอภิวันท์ ระลึกคุณอนันต์ ด้วยใจนิยมบูชา
          ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา ปัญญาให้เกิดแตกฉาน
          ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน อยู่ในศีลธรรมอันดี
          ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี แก่ชาติและประเทศไทยเทอญฯ
          ปัญญาวุฒิกเร เต เต ทินโนวาเท นมามิหัง
          เนื่องในวันครู 16 มกราคม ข่าวการศึกษาหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ขอน้อมรำลึกถึงพระคุณของคุณครูทุกท่านทั่วประเทศ ขอพรอันประเสริฐจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านเคารพบูชา ดลบันดาลให้ครูทุกท่านสุขภาพร่างกายแข็งแรง ปราศจากเภทภัยใดๆ
          สำหรับวันครูนั้น ตามประวัติได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ.2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ พ.ศ.2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่าคุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษาและวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุม จรรยา และวินัยของครูรักษา ผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัว ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู ด้วยเหตุนี้ในทุกปีคุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา
          ปี พ.ศ.2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า "ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณ เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมี สักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพ สักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละ ทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง" จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆ ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดี เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมากในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอ คณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริม ความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน
          การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ.2500 กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้ ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุ การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบ การจัดงานวันครูจะมีกิจกรรมหลักๆ คือ กิจกรรมทางศาสนา เพื่อรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬา
          ความหมายของดอกไม้ต่างๆ ที่นิยมใช้ในการไหว้ครู
          ดอกมะเขือ เป็นดอกที่โน้มต่ำลงมาเสมอ ไม่ได้เป็นดอกที่ชูขึ้น คนโบราณจึงกำหนดให้เป็นดอกไม้สำหรับไหว้ครู ไม่ว่าจะเป็นครูดนตรี ครูมวย ครูสอนหนังสือ ก็ให้ใช้ดอกมะเขือนี้ เพื่อศิษย์จะได้อ่อนน้อมถ่อมตนพร้อมที่จะเรียนวิชาความรู้ต่างๆ นอกจากนี้มะเขือยังมีเมล็ดมาก ไปงอกงามได้ง่ายในทุกที่ เช่นเดียวกับหญ้าแพรก
          หญ้าแพรก เป็นหญ้าที่เจริญงอกงาม แพร่กระจายพันธุ์ไปได้อย่างรวดเร็วมาก หญ้าแพรกดอกมะเขือจึงมีความหมายซ่อนเร้นอยู่ คนโบราณจึงถือเอาเป็นเคล็ดว่า ถ้าใช้หญ้าแพรกดอกมะเขือไหว้ครูแล้ว สติปัญญาของเด็กจะเจริญงอกงามเหมือนหญ้าแพรกและดอกมะเขือนั่นเอง
          ข้าวตอก เนื่องจากข้าวตอกเกิดจากข้าวเปลือกที่คั่วด้วยไฟอ่อนๆ ให้ร้อนเสมอกันจนถึงจุดหนึ่งที่เนื้อข้างในขยายออก จนดันเปลือกให้แยกออกจากกัน ได้ข้าวสีขาวที่ขยายเม็ดออกบาน ซึ่งสามารถนำไปประกอบพิธีกรรม หรือทำขนมต่างๆ ได้ ดังนั้น ข้าวตอกจึงเป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย หากใครสามารถทำตามกฎระเบียบ เอาชนะความซุกซนและความเกียจคร้านของตัวเองได้ ก็จะเหมือนข้าวตอกสีขาวที่ถูกคั่วออกจากข้าวเปลือก
          ดอกเข็ม เพราะดอกเข็มนั้นมีปลายแหลม สติปัญญาจะได้แหลมคมเหมือนดอกเข็ม และก็อาจเป็นได้ว่าเกสรดอกเข็มมีรสหวาน การใช้ดอกเข็ม ไหว้ครู วิชาความรู้จะให้ประโยชน์กับชีวิต ทำให้ชีวิตมีความสดชื่นเหมือน รสหวานของดอกเข็ม
          ครูไทยถูกเปรียบเสมือนเรือจ้าง ส่งศิษย์ถึงฝั่งรุ่นแล้วรุ่นเล่า คุณครูทุกท่านล้วนเหนื่อยยากเพื่อสั่งสอนให้วิชาความรู้แก่ศิษย์ ไม่คำนึงถึงความสุขส่วนตน เข้าพื้นที่กันดาร หรือแม้แต่พื้นที่เสี่ยงภัย ยังจะยกตัวอย่างคุณครูที่เปี่ยมด้วยอุดมการณ์ เช่น ครูจูหลิง ปงกันมูล
          ครูจูหลิง ปงกันมูล หรือ จุ้ย (29 มีนาคม พ.ศ.2522-8 มกราคม พ.ศ.2550) เป็นข้าราชการครูตำแหน่งครูผู้ช่วย โรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ถูกจับเป็นตัวประกันไปคุมขังไว้ในอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใกล้มัสยิดประจำหมู่บ้าน และถูกรุมทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2549 เจ้าหน้าที่สามารถช่วยครูจูหลิงได้และนำตัวส่งโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เนื่องจากเธอถูกตีจนสมองกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงและเสียชีวิตในที่สุด ครูจูหลิง เป็นบุตรสาวคนเดียวของนายสูน ปงกันมูล และนางคำมี ปงกันมูล เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2522 พ่อเป็นผู้ตั้งชื่อให้ว่า "จุ้ยหลิน" ตามชื่อนางเอกหนังจีนกำลังภายใน แต่เจ้าหน้าที่จดทะเบียนเป็น "จูหลิง" และมีชื่อเล่นว่า "จุ้ย" เป็นชาวตำบลบ้านปงน้อย กิ่งอำเภอดอยหลวง จ.เชียงราย จบปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เมื่อ พ.ศ.2545 ครูจูหลิงเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถพิเศษในการวาดภาพ เมื่อ พ.ศ.2545 เป็นหนึ่งในสิบจิตรกรที่ร่วมวาดภาพในหนังสือชุด "ทศชาติแห่งพระบารมี" นำเสนอเรื่องราวของมหาชาดกทศบารมี จัดทำโดยกระทรวงยุติธรรม เพื่อเฉลิมฉลองพระชนมายุ 4 รอบ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี พ.ศ.2546
          พ.ศ.2546 เป็นจิตรกรร่วมวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงเรื่องราวของสังเวชนียสถาน ในอุโบสถวัดคงคาวดี หรือวัดปากบางภูมี ต.รัตภูมิ อ.ควนเนียง จ.สงขลา และวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงเรื่องราวพุทธประวัติบนผนังศาลาการเปรียญ และลวดลายบนเสาศาลาการเปรียญของวัดเดียวกัน
          ครูจูหลิง มีปณิธานที่จะรับใช้สังคมและชาติด้วยอาชีพครู จึงเรียนต่อในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตเพิ่มอีก 1 ปี สมัครสอบบรรจุครูได้เป็นอันดับหนึ่งและเลือกจะเป็นครูในภาคใต้ โดยให้เหตุผลว่า "อยากช่วยเด็กๆ ที่ใต้เพราะทุกวันนี้พื้นที่ใน 3 จังหวัดภาคใต้หาครูได้ยากเต็มที" และได้บรรจุเป็นครูสอนวิชาศิลปะของโรงเรียนกูจิงรือปะ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2548
          นางคำมี ปงกันมูล มารดาของครูจูหลิง ได้รับการคัดเลือกให้เป็นแม่ดีเด่นประจำปี 2549 ประเภทแม่ของผู้ทำประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ คำมี ได้รับประทานพระบรมฉายาลักษณ์พระราชทานและเกียรติบัตร จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ในพิธีเปิดงานวันแม่แห่งชาติ ณ อาคารใหม่สวนอัมพร ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2549 ครูจูหลิงได้เสียชีวิตลงอย่างสงบเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2550 ด้วยสาเหตุอวัยวะภายในล้มเหลวเฉียบพลัน หลังจากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ 8 เดือน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานน้ำหลวงอาบศพและพวงมาลา หน้าศพแก่ครูจูหลิง ปงกันมูล และทรงรับงานศพของครูไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ด้วย
          เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพิธีพระราชทานเพลิงศพครูจูหลิง ปงกันมูล ณ ฌาปนสถานบ้านปงน้อย หมู่ 10 ต.ปงน้อย อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. โดยทั้งสองพระองค์พระราชทานวโรกาสให้บิดาและมารดาครูจูหลิง เข้าเฝ้ารับเสด็จฯ อย่างใกล้ชิด และยังมีบุคลสำคัญร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพนับหมื่นคน
          เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2550 ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำนายสุนและนางคำ มี ปงกันมูล บิดามารดาของ ครูจูหลิง ปงกันมูล ที่ได้รับรางวัล ตามรอยเกียรติยศครูผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณครู พ.ศ.2550 รับเกียรติคุณบัตร และโล่เสมาทองคำ 1 ชุด พร้อมเงินสดจาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี แทนครูจูหลิง ที่เสียชีวิต ให้เป็นบุคคลแรก เพราะเป็นครูที่ดีที่สุดคนหนึ่งที่ได้ทุ่มเทชีวิตเพื่อสอนเด็กและเยาวชน
          วันครูแห่งชาติปี 2559 ตรงกับวันเสาร์ที่ 16 มกราคม ขอน้อมรำลึกถึงครูจูหลิง ผู้อุทิศตนสมกับความเป็นครู แม้เสียชีวิตมา 9 ปีแล้ว แต่อยากจะย้ำเตือนคนไทยว่า "อย่าให้ครูดีๆ หายไปจากสังคมไทย เกียรติประวัติยังไว้ ให้โลกรู้"

ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันศุกร์ ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559, 08.31 น.
  • 15 ม.ค. 2559 เวลา 09:45 น.
  • 4,024

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

^