LASTEST NEWS

29 มี.ค. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศรับสมัครสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 29 มี.ค. 2567สพม.ขอนแก่น รับสมัครสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ปี พ.ศ.2567 จำนวน 19 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 5-11 เม.ย.2567 29 มี.ค. 2567สพป.ขอนแก่น เขต 5 รับสมัครสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ปี พ.ศ.2567 จำนวน 13 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 5-11 เม.ย.2567 29 มี.ค. 2567สพป.ขอนแก่น เขต 4 รับสมัครสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ปี พ.ศ.2567 จำนวน 13 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 5-11 เม.ย.2567 29 มี.ค. 2567สพป.ขอนแก่น เขต 3 รับสมัครสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ปี พ.ศ.2567 จำนวน 16 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 5-11 เม.ย.2567 29 มี.ค. 2567สพป.ขอนแก่น เขต 2 รับสมัครสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ปี พ.ศ.2567 จำนวน 12 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 5-11 เม.ย.2567 29 มี.ค. 2567สพป.ขอนแก่น เขต 1 รับสมัครสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ปี พ.ศ.2567 จำนวน 15 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 5-11 เม.ย.2567 29 มี.ค. 2567อ.ก.ค.ศ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ รับสมัครสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ปี พ.ศ.2567 จำนวน 901 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 5-11 เม.ย.2567 29 มี.ค. 2567สพม.กำแพงเพชร รับสมัครสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ปี พ.ศ.2567 จำนวน 2 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 5-11 เม.ย.2567 29 มี.ค. 2567สพป.กำแพงเพชร เขต 2 รับสมัครสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ปี พ.ศ.2567 จำนวน 9 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 5-11 เม.ย.2567

การศึกษาคุณลักษณะของครูตามความคาดหวังของผู้เรียน วิทยาลัยการอา

usericon

การศึกษาคุณลักษณะของครูตามความคาดหวังของผู้เรียน   วิทยาลัยการอา
1 ชื่อเรื่อง การศึกษาคุณลักษณะของครูตามความคาดหวังของผู้เรียน วิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย
จังหวัดเลย

2 ชื่อผู้วิจัย นายมณู ดีตรุษ

3 ความเป็นมาและความสำคัญของการวิจัย

ปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาประเทศนั้น คือ บุคลากรที่มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถ และสิ่งที่จะช่วยพัฒนาบุคลากรเหล่านี้ ก็คือ การศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาทางด้านวิชาชีพ เพื่อเป็นการเตรียมและพัฒนาความพร้อมของบุคลากรที่จะช่วยกันพัฒนาประเทศทางด้านโครงสร้างพื้นฐานให้มีความเจริญก้าวหน้า
เจตนารมณ์ในการจัดการศึกษาคือ ต้องการให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถ ทักษะ และเจตคติที่ดี โดยมีหลักสูตรเป็นตัวกำหนด และบุคคลสำคัญที่ทำให้ผู้เรียนได้บรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตรก็คือ ครู เพราะครูมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดประสบการณ์ด้านต่างๆ ให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาในทางที่ดีทุกๆ ด้าน ครูจึงมีอิทธิพลต่อผู้เรียนเป็นอย่างมาก เพราะว่าพฤติกรรมต่างๆ ที่ครูแสดงออกมาในเชิงบวกจะช่วยเสริมสร้างพฤติกรรมอันพึงประสงค์ให้แก่ผู้เรียน ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสนใจในการเรียน เป็นการปลูกฝังทัศนคติที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมการเรียนรู้มีประสิทธิภาพ แต่การที่ครูจะสามารถปฏิบัติหน้าที่นี้ได้ ครูจะต้องมีคุณลักษณะหลายๆ ด้านภายในตัวครู นับตั้งแต่ในด้านความรู้ทางวิชาการ ความสามารถ ทักษะ ทัศนคติ อุปนิสัย รูปร่าง ภาวะความเป็นผู้นำ ลักษณะท่าทาง ความมีมนุษยสัมพันธ์ รวมทั้งพฤติกรรมทั้งหมดที่ครูแสดงออกมา
ในการพัฒนาการศึกษานั้นจะขาดครูไม่ได้ ครูมีบทบาทสำคัญ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการจัดการเรียนรู้ เพราะว่าการพัฒนาการศึกษายังต้องการครูที่เป็นแบบอย่างที่ดีของผู้เรียนในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม บุคลิกภาพ และครูเป็นผู้ที่สามารถยกระดับสติปัญญาหรือวิญญาณของมนุษย์ให้สูงขึ้นได้ ทั้งนี้เนื่องจากครูจะต้องเป็นผู้ศึกษาข้อมูลและความต้องการของผู้เรียน วางแผนจัดกระบวนการเรียนรู้ เป็นนักจัดการเรียนรู้ เป็นผู้เอื้ออำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ รวมทั้งการประเมินผลเพื่อการพัฒนา ดังนั้นหากต้องการให้การพัฒนาการศึกษาประสบความสำเร็จได้ ครูจึงจำเป็นต้องมีความรู้ ความสามารถในเนื้อหาวิชาที่สอนเป็นอย่างดี มีบุคลิกภาพดี มีเทคนิควิธีการสอนที่ดี มีภาวะความเป็นผู้นำ มีมนุษยสัมพันธ์ เพราะคุณสมบัติเหล่านี้ นอกจากจะช่วยให้ครูสามารถดำเนินการจัดการเรียนรู้ไปได้โดยตลอดแล้ว คุณสมบัติที่ดีเหล่านี้ยังมีส่วนในการสร้างทัศนคติที่ดีของผู้เรียนต่อครู และต่อเนื้อหาสาระที่เรียนจากครูด้วย ทัศนคติที่ดีนั้น จะส่งผลต่อการสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนมีความต้องการแสวงหาความรู้ และส่งผลไปถึงการเรียนรู้ที่ดีและมีประสิทธิภาพได้ และที่สำคัญก็คือ ครูไม่เพียงแต่แค่สอนในชั้นเรียนเท่านั้น แต่ต้องดูแลเอาใจใส่ผู้เรียนให้ครบถ้วนทุกด้าน ทั้งในเรื่องการเรียน การดำเนินชีวิตส่วนตัว และครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดี จึงกล่าวได้ว่างานรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ของครูคือคุณภาพของผู้เรียน ผู้เรียนอาจจะจำเนื้อหาวิชาหรือกระบวนการวิชาที่ครูสอนไม่ได้ แต่สิ่งที่ผู้เรียนจำได้ก็คือ ครู และความเป็นครูนั่นเอง
งานวิจัยในประเทศไทยหลายๆ ผลงาน ได้ค้นพบความสอดคล้องกันว่า คุณลักษณะของครูที่สำคัญที่ส่งผลต่อทัศนคติของผู้เรียน ประกอบไปด้วย ด้านบุคลิกภาพ ด้านมนุษยสัมพันธ์ ด้านภาวะความเป็นผู้นำ ด้านวิชาการและการเรียนการสอน และด้านคุณธรรม จริยธรรม
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ส่งเสริมและสนับสนุนในการศึกษาด้านวิชาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจและสังคม และนโยบายของรัฐบาล อันจะต้องผลิตและพัฒนากำลังคนทางด้านวิชาชีพทุกระดับให้มีคุณภาพเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งปรับปรุงหลักสูตร พัฒนาครูเพื่อส่งผลให้สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้มีคุณภาพ เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถประกอบอาชีพและตอบสนองต่อตลาดแรงงานได้
วิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2536 และดำเนินการจัดให้มีกิจกรรมการเรียนรู้ในปี พ.ศ. 2538 เป็นวิทยาลัยที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล ที่ขยายโอกาสทางการศึกษาทางด้านวิชาชีพสู่ชุมชน รวมทั้งสามารถสนองความต้องการกำลังคนในตลาดแรงงาน มุ่งพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเพื่อให้สามารถเป็นกำลังในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ โดยดำเนินการจัดการเรียนรู้หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในสาขาวิชาช่างยนต์ สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ สาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง สาขาวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ สาขาวิชาช่างกลโรงงาน สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในสาขาวิชาเครื่องกล สาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ สาขาวิชาการบัญชี และสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ นอกจากนั้นยังเปิดการสอนในหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นให้กับผู้สนใจทั่วไป
จากข้อมูลและปัญหาที่ผู้วิจัยได้นำเสนอมาทั้งหมด สรุปได้ว่า กระบวนการเรียนรู้จะมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการ แต่องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือ ครู โดยเฉพาะคุณลักษณะของครูนั้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนด้วย ผู้วิจัยในฐานะรับผิดชอบฝ่ายวิชาการที่ดูแลด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จึงมีความสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับคุณลักษณะของครูตามความคาดหวังของผู้เรียน ในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาครู อันจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลไปยังคุณภาพของผู้เรียนที่เป็นเป้าหมายที่สำคัญของการจัดการศึกษา
4 วัตถุประสงค์ของการวิจัย

4.1 เพื่อศึกษาคุณลักษณะของครูในปัจจุบัน ในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย
4.2 เพื่อศึกษาคุณลักษณะของครูตามความคาดหวังของผู้เรียน ในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย
4.3 เพื่อเปรียบเทียบคุณลักษณะของครูในปัจจุบันจำแนกตามระดับการศึกษาของผู้เรียน ในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย
4.4 เพื่อเปรียบเทียบคุณลักษณะของครูตามความคาดหวังของผู้เรียนจำแนกตามระดับการศึกษาของผู้เรียน ในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย
4.5 เพื่อเปรียบเทียบคุณลักษณะของครูในปัจจุบันและคุณลักษณะของครูตามความคาดหวังของผู้เรียนในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย

5 สมมติฐานในการวิจัย

5.1 ผู้เรียนในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย ที่มีระดับการศึกษาต่างกันมีความคิดเห็นต่อคุณลักษณะของครูในปัจจุบัน แตกต่างกัน
5.2 ผู้เรียนในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย ที่มีระดับการศึกษาต่างกันมีความคิดเห็นต่อคุณลักษณะของครูตามความคาดหวัง แตกต่างกัน
5.3 ผู้เรียนในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย มีความคิดเห็นต่อคุณลักษณะของครูในปัจจุบัน และคุณลักษณะของครูตามความคาดหวัง ต่างกัน

6 เอกสารและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง

ทุกคนเกิดมาต้องมีครู และทุกคนต้องเป็นครู ครูคนแรกของทุกคน คือ บิดา มารดา ในกรณีที่บุคคลใดเกิดมาแล้วไม่ได้อยู่กับบิดามารดาถือว่าผู้อุปการะเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดนั้นเป็นครูคนแรกของตน ส่วนที่กล่าวว่าทุกคนต้องเป็นครูนั้น เพราะทุกคนสามารถสอนตนเองได้ทุกขณะที่มีสติสัมปชัญญะ เช่น การเตือนตัวเองให้มีความระมัดระวังขณะเดินทาง เตือนให้ตัวเองรู้จักประหยัดในการใช้จ่ายเงิน หรือการให้คำแนะนำบุคคลอื่นในการกระทำบางสิ่งบางอย่าง เป็นต้น
ครู คือ ผู้ที่มีหน้าที่สั่งสอนศิษย์ ถ่ายทอดความรู้ให้กับศิษย์เพื่อให้เกิดความรอบรู้ในทุกๆ ด้าน ส่งเสริมการเรียนรู้ของศิษย์ด้วยวิธีการต่างๆ จะต้องเป็นผู้สอนหนังสือ สอนอาชีพ และเป็นผู้นำทางจิตใจหรือวิญญาณในสังคม เป็นผู้เปิดประตูทางวิญญาณของศิษย์เพื่อนำไปสู่คุณธรรมชั้นสูง ครูต้องเป็นผู้ที่มีความหนักแน่น มีศีลธรรม จริยธรรม ตามที่พึงปรารถนาของสังคม ต้องเป็นผู้เสียสละ ต้องอุทิศตนที่จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นปูชนียบุคคล
ผู้ที่เป็นครูนั้นมีความสำคัญมาก เพราะครูเป็นผู้ปลูกฝังความรู้ความคิดและจิตใจและพัฒนาผู้เรียนให้มีความเจริญในทุกๆ ด้าน ยิ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่มีความเจริญก้าวหน้ามากเพียงใด ก็ย่อมต้องการครูที่มีความรู้และความสามารถมากขึ้นเพียงนั้น ทั้งนี้เพื่อให้ครูเป็นบุคคลที่รู้เท่าทันคน และเท่าทันโลกด้านต่างๆ สามารถนำความรู้ความสามารถในตนมาพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความเจริญงอกงามเพื่อเป็นกำลังสำคัญของชาติบ้านเมืองต่อไป และครูมีความสำคัญต่อสังคมมาก ดังนั้นสังคมจึงยกย่องครูโดยให้สมญานามต่างๆ เช่น ครูคือนักปฏิวัติในสนามรบทางการศึกษา ครูคือผู้ใช้อาวุธลับของชาติ ครูคือแม่พิมพ์ของชาติ ครูคือกระจกเงาของผู้เรียน ครูคือดวงประทีปส่องทาง ครูคือดวงประทีปส่องทาง ครูคือผู้สร้างโลก ครูคือผู้กุมความเป็นความตายของชาติไว้ในมือ ครูคือปูชนียบุคคล และครูคือวิศวกรสังคม เป็นต้น
นอกจากนี้ครูยังมีความสำคัญต่อการพัฒนาในด้านอื่นๆ อีกมากมาย เช่น พัฒนาสังคม พัฒนาการเมืองการปกครอง พัฒนาเศรษฐกิจ และส่งเสริมความมั่นคงทางศาสนา และวัฒนธรรม เป็นต้น
การสอนเป็นภาระและหน้าที่หลักของครูไม่ว่าจะเป็นการสอนในระดับใด นอกจากนี้ครูเองยังเป็นปูชนียบุคคล ที่มีจรรยามารยาท และวินัยกำกับอยู่ด้วย ในด้านการสอนนั้นเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียน จึงมักเรียกรวมกันว่าการเรียนรู้ จุดมุ่งหมายของการจัดการเรียนรู้นอกจากเป็นการให้วิชาความรู้และยังเป็นการฝึกประสบการณ์ให้กับผู้เรียนด้วย เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ขั้นตอนในการสอนมี 3 ขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมการ ขั้นดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และขั้นประเมินผล ทฤษฎีการเรียนรู้ จะช่วยให้ครูมีความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น การวางแผนการเรียนรู้เป็นการเตรียมการล่วงหน้าเพื่อให้ครูได้กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม วิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มีหลายวิธี แต่ละวิธีจะมีข้อดีและข้อจำกัด การเลือกวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ครูควรใช้หลายๆ วิธีผสมผสานกันโดยมีหลักในการเลือกโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของวิชา เนื้อหาวิชาความถนัดของครู ความเหมาะสมกับผู้เรียน ตลอดจนเวลา จำนวนผู้เรียน และสื่อการเรียนรู้
ครูที่ดีควรมีลักษณะ คือ มีความรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอน มีความรู้และเข้าใจในหลักสูตร มีความสามารถทางด้านวิชาการที่สอน สนับสนุนให้กำลังใจผู้เรียนให้สนใจแสวงหาความรู้อยู่เสมอ อบรมสั่งสอนผู้เรียน ฝึกฝน สร้างเสริมความรู้ ทักษะและนิสัยที่ถูกต้องให้เกิดแก่ผู้เรียนอย่างเต็มความสามารถ มีความรัก เมตตากรุณาต่อผู้เรียนโดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือ ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน ทั้งกาย วาจา และใจ มีบุคลิกภาพที่ดี มีจรรยาบรรณในวิชาชีพครู มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และมีความยุติธรรม
ลักษณะการจัดการเรียนรู้ที่ดีของครูนั้น ครูจะต้องมีการเตรียมการจัดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร มีเทคนิควิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจ มีความกระตือรือร้นและสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ มีการใช้สื่อการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียน ช่วยเหลือผู้เรียนที่มีปัญหา มีการวัดผลประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ
บุคลิกภาพของครูเป็นสิ่งสำคัญที่เป็นผลทำให้ครูประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ ครูจะต้องมีบุคลิกภาพที่ดี เช่น เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง อดทน เป็นผู้มีระเบียบ วินัย เป็นผู้มีสติ สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เป็นผู้มีกิริยา วาจาสุภาพอ่อนโยน เป็นผู้มีอารมณ์ขัน ร่าเริง แจ่มใส เป็นผู้ฝึกฝนค้นคว้า หาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ เป็นผู้มีความกระตือรือร้น เป็นผู้แต่งกายสุภาพ เหมาะสม เป็นผู้มีกิริยาท่าทางที่สุภาพ ถ่อมตน เป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
คุณลักษณะของมนุษยสัมพันธ์ของครูนั้น ต้องเป็นผู้มีอารมณ์มั่นคง สุขุม เป็นผู้มีความเป็นกันเอง มีความใกล้ชิดกับผู้เรียน เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นผู้ที่ไม่เย่อหยิ่ง ไม่ถือตัว เป็นผู้มีความสนใจบุคคลอื่นโดยศึกษาความต้องการและความแตกต่างของบุคคลอื่น เป็นผู้ที่แสดงความชื่นชมบุคคลอื่นด้วยความจริงใจ เป็นผู้ที่ร่วมงานกับบุคคลอื่นได้ดี และเป็นที่ยอมรับ เป็นผู้ที่ปรับตัวเข้ากับสังคม สิ่งแวดล้อม และบุคคลอื่นได้ง่าย เป็นผู้ที่มีความเคารพในสิทธิ ศักดิ์ศรี และหน้าที่ของผู้อื่น เป็นผู้มีความยุติธรรม ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้เรียน
ลักษณะของภาวะผู้นำของครูเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่ส่งเสริมให้ครูประสบความสำเร็จในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น เป็นผู้มีความรับผิดชอบ เป็นผู้มีความเป็นประชาธิปไตย เป็นผู้มีความสามารถในการตัดสินใจ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผู้ยอมรับในเหตุผล เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทันสมัย ทันเหตุการณ์ เป็นผู้มีความเสียสละ เป็นผู้ดำรงตนเรียบง่าย ประหยัด เหมาะสมกับอาชีพครู เป็นผู้ที่ตรงต่อเวลา ประพฤติตนสม่ำเสมอ เป็นผู้เห็นผู้เรียนมีความสำคัญ โดยพิจารณาคุณค่าของผู้เรียนแต่ละคนด้วยเหตุผล เป็นผู้บำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน
จุดมุ่งหมายหลักของสถานศึกษาอยู่ที่การจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ งานการจัดการเรียนรู้มีหลายงานได้แก่ การจัดทำแผนการเรียน การจัดตารางสอน การจัดชั้นเรียน การจัดครูอาจารย์เข้าสอน การสอนซ่อมเสริม การเลือกตำราเรียน การจัดทำคู่มือครูด้านวิชาการ การจัดทำคู่มือผู้เรียน และการจัดห้องศูนย์ควบคุมการเรียนการสอน การพัฒนาครูอาจารย์ การปรับปรุงการเรียนการสอน ซึ่งครูต้องศึกษารวบรวมข้อมูลของผู้เรียนเป็นรายบุคคลเพื่อการพัฒนาความสามารถของผู้เรียน ค้นหาศักยภาพของผู้เรียนเพื่อให้การส่งเสริมสนับสนุน สร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนมีความต้องการในการเรียนรู้ วางแผนการเรียนร่วมกับผู้เรียนเพื่อพัฒนาความต้องการของผู้เรียน แนะนำช่วยเหลือผู้เรียนในเรื่องการเรียนอย่างสม่ำเสมอ สรรหาและสนับสนุนสื่อ อุปกรณ์การเรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ กระตุ้นให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง กระตุ้นให้ผู้เรียนมีความตั้งใจ มีกำลังใจในการศึกษาเล่าเรียน ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมินผลการเรียน เก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในครั้งต่อไป สถานศึกษาควรวางแนวปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาของตนเองโดยการพิจารณาจากนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
คุณธรรม จริยธรรมของครู เป็นสิ่งสำคัญที่ครูจะต้องยึดถือปฏิบัติทั้งในฐานะที่เป็นแบบอย่างของผู้เรียน และในฐานะที่สังคมให้การยกย่องว่าเป็น “ปูชนียบุคคล” เช่น เป็นผู้มีความรัก เมตตาต่อผู้เรียน เป็นผู้ที่มีความตั้งใจอบรมสั่งสอนผู้เรียนด้วยความบริสุทธิ์ใจ เป็นผู้ที่ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียนทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ เป็นผู้ที่ส่งเสริมพัฒนาการทางกายสติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของผู้เรียน เป็นผู้ที่ไม่แสวงหาประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากผู้เรียน เป็นผู้ที่พัฒนาตนในด้านวิชาชีพ บุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาการทางวิชาการ เป็นผู้ที่ช่วยเหลือเกื้อxxxลบุคคลอื่นในทางสร้างสรรค์ เป็นผู้ที่มีความประพฤติในการเป็นผู้นำในการอนุรักษ์พัฒนาภูมิปัญญา และวัฒนธรรมไทย เป็นผู้ที่มีความรัก และศรัทธาในวิชาชีพครู เป็นผู้ที่มีความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะ ให้เป็นครูมืออาชีพในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ต่อไป

7 วิธีดำเนินการวิจัย

7.1 กลุ่มเป้าหมาย
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ ผู้เรียนในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย ในปีการศึกษา 2556 โดยแยกเป็น นักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ จำนวน 521 คน และนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จำนวน 144 คน รวมเป็น 665 คน
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยได้สุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิ ได้แก่ ผู้เรียนในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย ในปีการศึกษา 2556 โดยแยกเป็น นักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ จำนวน 190 คน และนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จำนวน 52 คน รวมเป็น 242 คน
7.2 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลในครั้งนี้ เป็น แบบสอบถาม (Questionnaires) 1 ชุด มี 2 ตอน มีลักษณะดังนี้
ตอนที่ 1 สถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถาม มีลักษณะเป็นแบบตรวจสอบรายการ (Checklist) ได้แก่ ระดับการศึกษา และสาขาวิชา เป็นต้น
ตอนที่ 2 แบบสอบถามคุณลักษณะของครูตามความคาดหวังของผู้เรียน วิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) มี 5 ระดับ
7.3 การเก็บรวบรวมข้อมูล
เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเองในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย ทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จำนวน 242 คน ในปีการศึกษา 2556
7.4 การวิเคราะห์ข้อมูล
ในการวิจัยครั้งนี้ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติสำหรับการวิจัยทางคณิตศาสตร์ การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ในการพัฒนา ดังต่อไปนี้
7.4.1 สถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถาม ใช้แจกแจงความถี่และหาค่าร้อยละ
7.4.2 คุณลักษณะของครูในปัจจุบัน และตามความคาดหวังของผู้เรียน โดยใช้ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยใช้สเกลของลิเคิร์ท (Likert) เป็นมาตราประมาณค่า (Rating Scale) ได้จากการวิเคราะห์รายข้อ
7.4.3 การแปลความหมายของข้อมูล พิจารณาจากระดับคะแนนเฉลี่ยโดยใช้เกณฑ์ดังนี้
        4.51 - 5.00 หมายถึง มีการปฏิบัติ/มีความคาดหวังอยู่ในระดับมากที่สุด
        3.51 - 4.50 หมายถึง มีการปฏิบัติ/มีความคาดหวังอยู่ในระดับมาก
    2.51 - 3.50 หมายถึง มีการปฏิบัติ/มีความคาดหวังอยู่ในระดับปานกลาง
        1.51 - 2.50 หมายถึง มีการปฏิบัติ/มีความคาดหวังอยู่ในระดับน้อย
        1.00 - 1.50 หมายถึง มีการปฏิบัติ/มีความคาดหวังอยู่ในระดับน้อยที่สุด
7.4.4 การเปรียบเทียบคุณลักษณะของครูในปัจจุบันจำแนกตามระดับการศึกษาของผู้เรียน ในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย โดยใช้สถิติทดสอบแบบเอฟ (f - test)
7.4.5 การเปรียบเทียบคุณลักษณะของครูตามความคาดหวังของผู้เรียนจำแนกตามระดับการศึกษาของผู้เรียน ในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย โดยใช้สถิติทดสอบแบบเอฟ (f - test)
7.4.6 การเปรียบเทียบคุณลักษณะของครูในปัจจุบันและตามความคาดหวังของผู้เรียน ในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย โดยใช้สถิติทดสอบแบบเอฟ (f - test)

8 ผลการวิจัย

8.1 สถานภาพผู้ตอบแบบสอบถาม
กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้เรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ จำนวน 190 คน คิดเป็นร้อยละ 78.50 และเป็นผู้เรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จำนวน 52 คน คิดเป็นร้อยละ 21.50 และเมื่อพิจารณาตามสาขาวิชาพบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้เรียนในสาขาวิชาช่างยนต์ คิดเป็นร้อยละ 29.80 รองลงมาคือ ผู้เรียนในสาขาช่างวิชาไฟฟ้ากำลัง คิดเป็นร้อยละ 17.40 และต่ำสุดคือสาขาวิชาช่างกลโรงงาน คิดเป็นร้อยละ 0.40
8.2 คุณลักษณะของครูในปัจจุบัน และตามความคาดหวังของผู้เรียน
คุณลักษณะของครูในปัจจุบัน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( = 4.44, S.D. = 0.51) และเมื่อพิจารณาเป็นรายการพบว่าอยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 1 รายการ และอยู่ในระดับมาก จำนวน 4 รายการ รายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือด้านคุณธรรม จริยธรรม อยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.51, S.D. = 0.50) รองลงมาคือด้านวิชาการและการเรียนการสอน อยู่ในระดับมาก ( = 4.50, S.D. = 0.50) และที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือด้านบุคลิกภาพ อยู่ในระดับมาก ( = 4.37, S.D. = 0.58)
คุณลักษณะของครูตามความคาดหวังของผู้เรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.75, S.D. = 0.35) และเมื่อพิจารณาเป็นรายการพบว่าอยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 5 รายการ รายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือด้านวิชาการและการเรียนการสอน อยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.78, S.D. = 0.36) รองลงมาคือด้านคุณธรรมและจริยธรรม อยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.77, S.D. = 0.39) และที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือด้านบุคลิกภาพ อยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.70, S.D. = 0.45)
8.3 การเปรียบเทียบคุณลักษณะของครูในปัจจุบันจำแนกตามระดับการศึกษาของผู้เรียน ในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย
คุณลักษณะของครูในปัจจุบัน ตามระดับการศึกษาของ ผู้ตอบแบบสอบถาม ในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 พบว่า นักเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพมีความคิดเห็นต่อคุณลักษณะของครูปัจจุบันสูงกว่าความคิดเห็นของนักศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง
8.4 การเปรียบเทียบคุณลักษณะของครูตามความคาดหวังของผู้เรียนจำแนกตามระดับการศึกษาของผู้เรียน ในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย
คุณลักษณะของครูตามความคาดหวังของผู้เรียน ตามระดับการศึกษาของผู้ตอบแบบสอบถาม ในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 พบว่า นักเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพมีความคิดเห็นต่อคุณลักษณะของครูตามความคาดหวังสูงกว่าความคิดเห็นของนักศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง
8.5 การเปรียบเทียบคุณลักษณะของครูในปัจจุบันและตามความคาดหวังของผู้เรียน ในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย
คุณลักษณะของครูในปัจจุบันและตามความคาดหวังของผู้ตอบแบบสอบถาม ในวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จังหวัดเลย แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 พบว่า คุณลักษณะของครูตามความคาดหวังของผู้เรียนสูงกว่าคุณลักษณะของครูในปัจจุบัน

9 ข้อเสนอแนะ

9.1 ข้อเสนอแนะทั่วไป มีดังนี้
9.1.1 ครูควรศึกษาผลการวิจัยนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงพัฒนาตนเองให้มีคุณลักษณะตรงตามความคาดหวังของผู้เรียน
9.1.2 ผลการวิจัยเป็นข้อมูลพื้นฐานที่แสดงให้เห็นว่าผู้เรียนมีความคิดเห็นต่อคุณลักษณะของครูทั้งโดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีด้านคุณธรรมและจริยธรรมมีค่าเฉลี่ยสูงสุด ส่วนด้านบุคลิกภาพมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ควรได้มีการเผยแพร่ให้ครูทราบ เพื่อการวิพากษ์อันเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินการพัฒนาต่อไป
9.1.3 สถานศึกษาควรได้มีการนำแบบวัดคุณลักษณะของครู ไปสร้างเป็นแบบประเมินพฤติกรรมของครูในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อไป
9.1.4 ควรได้มีการกำหนดมาตรการร่วมกันในการพัฒนาคุณลักษณะของครู ซึ่งอาจจะประกอบไปด้วย ผู้บริหาร ครู ผู้เรียน ผู้ปกครอง เป็นต้น
9.1.5 คุณลักษณะของครูที่มี่ค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านบุคลิกภาพ ควรได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในการพัฒนาครู
9.1.6 ควรได้มีการศึกษาคุณลักษณะของครู หรือการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มประชากรอื่นๆ เช่น ผู้ปกครอง ชุมชน ผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ กับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู
9.2 ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้ มีดังนี้
9.2.1 การวิจัยครั้งนี้เป็นเพียงการวิจัยเชิงสำรวจเบื้องต้น เพื่อให้ได้ผลการวิจัยที่จะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการวิจัยต่อไป
9.2.2 ควรมีการเก็บข้อมูลด้วยเครื่องมือแบบอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การสัมภาษณ์ การสังเกต หรือการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงมากยิ่งขึ้น
9.2.3 ควรได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำผลไปพัฒนาปรับปรุงคุณลักษณะของครู
9.2.4 ควรได้มีการศึกษาในสถานศึกษาอื่นๆ เพื่อจะได้นำผลการวิจัยไปปรับปรุงและพัฒนาได้อย่างกว้างขวาง

10 เอกสารอ้างอิง

จักรแก้ว นามเมือง. (2555). บุคลิกภาพของครูและลักษณะการสอนที่ดี. วารสาร บัณฑิตศึกษา
นิทรรศน์ ฉบับพิเศษ วิทยาเขตพะเยา.
จุฑา บุรีภักดี. (2547). มนุษย์สัมพันธ์สำหรับครู. กรุงเทพมหานคร : สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา.
ทิศนา แขมมณี. (2550). ศาสตร์การสอน : องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มี
ประสิทธิภาพ. (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งมหาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ธีรศักดิ์ อัครบวร. (2545). ความเป็นครู. กรุงเทพฯ : พิมพ์ลักษณ์.
ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์. (2553). การบริหารงานวิชาการ. กรุงเทพฯ : ศูนย์สื่อเสริมกรุงเทพ.
ผกา สัตยธรรม. (2544). คุณธรรมของครู. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์พลอยเพลท.
ยนต์ ชุ่มจิต. (2553). ความเป็นครู. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพมหานคร : โอ.เอส พริ้นติ้งเฮ้าส์.
วีระพันธ์ สิทธิพงศ์. (2550). ลักษณาการแห่งครูอาชีวศึกษา. คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล.
สถิต วงศ์สวรรค์. (2544). การพัฒนาบุคลิกภาพ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : รวมสาส์น (1977).
สันติ บุญภิรมย์. (2552). การบริหารงานวิชาการ. (พิมพ์ครั้งที่ 1). นนทบุรี : บริษัทบุ๊ค พอยท์
จำกัด.
สุนทร โคตรบรรเทา. (2551). ภาวะผู้นำในองค์การการศึกษา. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์
ปัญญาชน.
mandtrss 23 ก.ค. 2557 เวลา 11:10 น. 0 853
ร่วมแสดงความคิดเห็น
เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น!

ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ แนะนำติชม เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้

^